เกิดอะไรขึ้น:
วันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563 บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รายงานปริมาณการจราจรบนทางด่วนเดือนมีนาคม หดตัว 25.8%YoY สู่ระดับ 9.55 แสนเที่ยวเฉลี่ยต่อวัน และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เดือนมีนาคม หดตัว 29.2%YoY สู่ระดับ 2.34 แสนเที่ยวเฉลี่ยต่อวัน
โดยจำนวนปริมาณการจราจรและจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงมีสาเหตุมาจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น นโยบายทำงานที่บ้าน (Work from Home) การล็อกดาวน์ประเทศที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป การสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ การยกเลิกการจัดกิจกรรม รวมถึงประชาชนเดินทางออกจากบ้านน้อยลง
กระทบอย่างไร:
หลังจากที่ BEM รายงานตัวเลขการจราจรและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า ราคาหุ้นไม่ตอบสนองต่อข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดได้รับรู้ประเด็นนี้ไว้แล้ว
โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น BEM ปรับขึ้น 3.04%DoD สู่ระดับ 8.45 บาท ตามทิศทางตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นโดยได้ปัจจัยหนุนจากความคาดหวังว่าสถานการณ์โควิด-19 ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว รวมถึงยังได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่วันนี้ (13 เมษายน) ราคาหุ้นปรับขึ้นต่อ 6.51%DoD สู่ระดับ 9.00 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าปริมาณการจราจรและจำนวนผู้โดยสารของ BEM จะทำจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน โดยปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะหดตัว 60%YoY และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะหดตัว 70%YoY จากมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงและกระแสการทำงานที่บ้าน และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม
โดยปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะหดตัวน้อยลง 40%YoY ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะหดตัวน้อยลง 50%YoY อิงบนสมมติฐานว่าศูนย์การค้าจะกลับมาเปิดให้บริการ และประชาชนจะเริ่มทำงานที่บ้านน้อยลง
มุมมองระยะยาว:
SCBS ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อ BEM เนื่องจากทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนล้วนเป็นตัวเลือกการเดินทางที่ดีที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯ ขณะที่ทิศทางกระแสเงินสดในระยะยาวมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากได้ขยายสัมปทานทางด่วน รวมถึงจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนต่อผลการดำเนินงานระยะยาวของ BEM ในอนาคต
ทั้งนี้ต้องติดตามการประมูลสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขายซองประมูลช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย ได้แก่ BEM และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม:
- %DoD คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
- %YoY คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์