หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกได้รณรงค์ใช้มาตรการ Social Distancing และ Work from Home (WFH) เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อในบางประเทศเริ่มดีขึ้นเป็นระยะๆ
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ Google ก็ได้เปิดเผยรายงานที่น่าสนใจในประเด็น ‘COVID-19 Community Mobility Reports’ ของ 131 ประเทศทั่วโลกออกมาเช่นกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไปหลังเริ่มรณรงค์มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจำแนกข้อมูลออกเป็นรายประเทศ และใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน
สำหรับประเทศไทย Google ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในกรอบระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม 2563 แล้วเปรียบเทียบกับข้อมูล ‘Baseline’ หรือค่ามัธยฐาน (Median Value) พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของผู้คนในช่วงเวลาปกติระหว่างวันที่ 3 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563 พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
คนเริ่มออกไปใช้ชีวิต เดินทาง สังสรรค์ ทำกิจกรรมนอกบ้าน ‘ลดลง’ อย่างเห็นได้ชัด
สำหรับข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้คนและการเคลื่อนที่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร คาเฟ่ สวนสนุก ศูนย์การค้า พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และโรงภาพยนตร์ พบว่ามีอัตราการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวน้อยลงถึง 55% หรือเกินครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
ด้านสวนสาธารณะ ชายหาด ก็มีอัตราการเดินทางของผู้คนไปยังสถานที่ในกลุ่มดังกล่าวลดลงราว 54% ส่วนสถานีขนส่งต่างๆ ทั้งสถานีรถไฟใต้ดิน สถานีรถไฟ และสถานีรถประจำทางก็มีอัตราลดลงเช่นกัน โดยลดลงมากถึง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
อยู่บ้านมากขึ้น ไปออฟฟิศน้อยลง แต่ยังไปจับจ่ายข้าวของเครื่องใช้อยู่
ที่ชัดเจนคือในช่วงที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มอยู่บ้านมากขึ้น โดยคิดเป็นอัตราการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านหรือที่พักเพิ่มขึ้นราว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ และมีอัตราการเดินทางออกจากบ้านไปสถานที่ทำงานลดน้อยลงกว่า 21% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาปกติเช่นกัน
ขณะที่สถานที่ในกลุ่มร้านขายของชำ ร้านขายอาหาร หรือร้านขายยา ดูจะเป็นกลุ่มสถานที่ที่มีการเดินทางไปลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสถานที่สาธารณะในประเภทอื่นๆ เนื่องจากผู้คนจำนวนไม่น้อยยังมีความจำเป็นต้องเดินไปยังสถานที่ในกลุ่มดังกล่าวอยู่
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ทาง Google เปิดเผยในครั้งนี้ยังเป็นแค่ชุดข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และเป็นข้อมูลที่จัดเก็บในช่วงเวลาที่ไทยยังไม่ได้เริ่มประกาศมาตรการเคอร์ฟิว (3 เมษายน) ออกมา ซึ่งก็ต้องมาตามดูกันต่ออีกทีว่าเมื่อ Google เปิดเผยข้อมูลชุดเดียวกันนี้ในครั้งถัดไป ข้อมูลดังกล่าวจะมีตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงน่าจะพอเทียบเคียงกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศในแต่ละวันมากหรือน้อยลงอย่างไรบ้าง
เนื่องจากน่าจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่อาจจะพอชี้วัดได้ว่าประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่กับมาตรการเคอร์ฟิว Social Distancing ตลอดจน WFH โดยเฉพาะหากการที่ตัวเลขผู้ป่วยที่พบในแต่ละวันลดน้อยลง มีความสัมพันธ์กับอัตราการเดินทางออกไปนอกบ้านของผู้คนที่ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน
(หมายเหตุ: สำหรับข้อมูลและนโยบายความเป็นส่วนตัวนั้น ทาง Google ระบุว่าจะแสดงเฉพาะ ‘เปอร์เซ็นต์’ การเข้าใช้บริการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่จะไม่เปิดเผยจำนวนการเข้าใช้บริการที่แน่นอน เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้คน โดยจะไม่แสดงข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น สถานที่ ข้อมูลการติดต่อ หรือการเคลื่อนไหวเฉพาะบุคคล)
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.google.com/covid19/mobility/
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์