×

ฟิทช์ฯ หั่นเครดิต BBL-KBANK-SCB หวั่นไวรัสดัน NPL พุ่ง

โดย efinanceThai
07.04.2020
  • LOADING...
BBL-KBANK-SCB

ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองโควิด-19 กดดันธุรกิจแบงก์ 

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับจุดกึ่งกลางของช่วงอันดับเครดิต (mid-point score) สำหรับปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน (Operating Environment) ของธนาคารไทยเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้มีแรงกดดันอย่างมากต่อภาคการธนาคาร แม้ว่าระดับความรุนแรงและระยะเวลาของการแพร่ระบาดยังคงมีความไม่ชัดเจน แต่ฟิทช์ฯ เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสภาวะธุรกิจโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลง 5.3% ในปี 2563 ทั้งนี้ การปรับลดปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมดังกล่าวได้พิจาณาถึงการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจแล้ว

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ภาคการธนาคารไทยอยู่ในช่วงที่วัฏจักรของธุรกิจค่อนข้างมีความท้าทายสูง ผลการดำเนินงานของภาคการธนาคารได้มีการปรับตัวอ่อนแออย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง และการแข่งขันที่เข้มข้นส่งผลให้รายได้เติบโตในระดับที่ลดลง 

 

ปัญหาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันอย่างมากยิ่งขึ้นต่อแนวโน้มดังกล่าวของภาคการธนาคาร โดยการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะยิ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ได้ชะลอตัวลงแล้วตั้งแต่ช่วงท้ายของปี 2562 เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความล่าช้าของงบประมาณประจำปีและภัยแล้ง ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของภาคการธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับระดับที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้

 

ชี้คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มแย่ลง – NPL พุ่ง  

 

ฟิทช์ฯ เปิดเผยอีกว่า อัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวแย่ลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันภาคการธนาคารกำลังเผชิญกับแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มีสถานะการเงินที่อ่อนแอ จะมีความเปราะบางอย่างมากต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ 

 

สำหรับในประเทศไทย กลุ่มดังกล่าวจะรวมถึงกลุ่มลูกหนี้ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวมของภาคการธนาคาร ระดับของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม SMEs มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว แม้ก่อนเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส นอกจากนี้กลุ่มลูกหนี้รายย่อยน่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ใช่สินเชื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 16% ของสินเชื่อรวม) หากอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถที่จะหักล้างผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากความปั่นป่วนอย่างมากของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธนาคารในปีนี้และปีหน้า

 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเดรดิตของธนาคารยังมีปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวไปได้บ้าง จากความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ภาคการธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Core Equity Tier 1 Ratio) ที่ 16% ณ สิ้นปี 2562 และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 145% นอกจากนี้ธนาคารไทยหลายแห่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการให้การสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือจากบริษัทแม่ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง

 

BBL เจอดีลซื้อ Permata เป็นตัวทำกำไรผันผวน  

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

ในขณะเดียวกันฟิทช์ฯ ปรับลดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะ ‘อยู่ระหว่างสังเกตการณ์ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต’ (Under Criteria Observation)

 

โดยเหตุที่ฟิทช์ฯ ปรับลดอันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปในวงกว้าง BBL อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (Credit Cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว อีกทั้งฐานะเงินกองทุนที่จะอ่อนแอลงจากการเข้าซื้อกิจการธนาคาร PT Bank Permata Tbk (Permata: AAA (idn)/เครดิตพินิจเป็นลบ) ในประเทศอินโดนีเซีย อาจทำให้ BBL ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของกำไรที่มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม BBL ยังมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านธุรกิจรายใหญ่ และกิจการธนาคารต่างประเทศ  

 

KBANK ยังเหนื่อย เหตุลูกค้า SMEs เพียบ    

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ธนาคารกำลังเผชิญ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายเป็นวงกว้าง

 

นอกจากนี้ฟิทช์ฯ ยังปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign-Currency IDR) เป็น ‘F3’ จาก ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินต่างประเทศที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซิล 3 เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะอันดับเครดิตที่เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ระหว่างการทบทวนที่เกิดจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับใหม่ (Under Criteria Observation) และยังคงอันดับเครดิตในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA+(tha)’

 

โดยมุมมองของฟิทช์ฯ ต่อ KBANK เป็นไปในทางเดียวกับ BBL ที่ได้รับผลลบจากการระบาดของโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ KBank มีฐานลูกค้าค่อนข้างมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น ซึ่งจะทำให้มีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในช่วงเวลาปัจจุบันของวัฏจักรธุรกิจ และจะทำให้มีแรงกดดันเพิ่มเติมต่อผลกำไรจากการดำเนินงานของธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันระดับผลกำไรดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) 

 

แต่หากพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในฐานะหนึ่งในธนาคารชั้นนำของอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดยธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากฐานธุรกิจที่มีเสถียรภาพและมีขนาดใหญ่ โดยมีจุดแข็งในด้านบริการธนาคารดิจิทัล และการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (Transactional Banking) อีกทั้งธนาคารมีบริการด้านการธนาคารที่ครบวงจร รวมถึงมีการให้บริการลูกค้าในหลากหลายกลุ่มลูกค้า รวมถึงมีโครงสร้างเครดิตที่ดีกว่า และมีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า  

 

SCB ไม่รอด แม้ลูกค้ารายย่อย-เงินฝากแกร่ง 

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลงเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) พร้อมคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ จากผลกระทบรุนแรงของโควิด-19

 

นอกจากนี้ฟิทช์ฯ คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ ‘AA(tha)’ โดยทั้ง SCB และ SCBS มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

การปรับลดอันดับเครดิตของ SCB เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 กระจายไปในวงกว้าง และสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง SCB อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับ BBL-KBANK   

 

อย่างไรก็ตาม SCB มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงเป็น 1 ใน 3 อันดับในด้านขนาดสินทรัพย์ และเงินฝากที่ประมาณ 14-15% ในปี 2562 และมีลูกค้ารายย่อย-สินเชื่อที่อยู่อาศัย-เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฟิทช์ฯ มองว่า ณ ระดับความแข็งแกร่งทางการเงินปัจจุบัน ธนาคารน่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับลงเพิ่มเติมได้ เนื่องจากฟิทช์ฯ เชื่อว่า SCB มีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า  

    

คงเครดิต KTB เหตุมีรัฐหนุน 

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ ‘BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ และฟิทช์ฯ ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด หรือ KTZ ที่ ‘A+(tha)’ ทั้ง KTB และ KTZ มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

 

เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ โดยความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐเป็นปัจจัยช่วยให้ธนาคารรักษาความสามารถในการระดมทุน (Funding) ให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และรักษาความสามารถในการแข่งขัน 

 

ฐานะเงินกองทุนของ KTB ปรับตัวดีขึ้นมาในระดับใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารในต่างประเทศ ที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคล้ายกัน และช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง ณ ระดับเครดิตปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนที่เป็นของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Core Equity Tier 1) ที่ 15.2% ณ สิ้นปี 2562 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 16% อีกทั้งฟิทช์ฯ ยังมองว่า KTB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นในประเทศ เนื่องจากธนาคารมีการให้การสนับสนุนโครงการของรัฐบาลบ้าง 

 

สำรวจราคา 4 หุ้นแบงก์ใหญ่    

 

หุ้น ราคา เปลี่ยนแปลง ราคา เปลี่ยนแปลง
  ปิด 3 เม.ย.63     จาก 2 เม.ย. 63         ปิด 30 ธ.ค. 62        จากปัจจุบัน (%)
BBL 95.75 -1.50 (1.54%) 160 -40.15
KBANK 87.75 -1.75 (1.96%) 151 -41.88
SCB 67.5 -1.25 (1.82%) 122 -44.67
KTB 11.3 ไม่เปลี่ยนแปลง 16.4 -31.09

 

ธปท. ยืดคุ้มครองเงินฝาก-ลดนำส่งช่วยเหลือ  

 

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ครม. นัดพิเศษ เห็นชอบในหลักการ ขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่จะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท จาก 5 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะขยายการคุ้มครอง 5 ล้านบาท ไปอีก 1 ปี หรือสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2564

 

ทั้งนี้ รวมถึงการเลื่อนการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ ที่จะนำไปใช้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมธนาคารพาณิชย์จะต้องนำส่ง 0.46% เป็นเงินนำเพื่อใช้ชำระหนี้ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปยังภาคธุรกิจทำได้น้อย 

 

เนื่องจากสถาบันการเงินไม่สามารถลดได้ เนื่องจากมีต้นทุนดังกล่าว ดังนั้นจึงให้ลดอัตราเงินนำส่งเหลือ 0.23% โดยจะลดให้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆ ให้ประชาชนที่จะต้องจ่ายเงินกู้กับสถาบันการเงินได้

 

“ขณะนี้สถาบันการเงินยังมีความมั่นคงดีมาก และประชาชนไม่ต้องกังวล ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินในเวลานี้ยังมีระบบที่เข้มแข็ง และสามารถเป็นเสาหลักให้เศรษฐกิจเดินไปได้”

    

โบรกฯ ยังเชื่อ NPL เพิ่ม แต่ไม่มาก ยก BBL ยังน่าสนใจ 

 

บล. ทิสโก้ เปิดเผยว่า หลังการทดสอบงบดุลของกลุ่มธนาคารว่าจะทนทานต่อสถานการณ์เสี่ยงได้เท่าใด ทาง บล. สรุป 3 มุมผลกระทบจากองค์ประกอบย่อยได้ ดังนี้ 

 

1. ทุกธนาคารยกเว้น BBL และ KBANK อาจต้องเพิ่มทุนภายใต้ NPL ที่ 11% และธนาคารจะประสบผลขาดทุนจนทำให้ CAR ต่ำกว่าที่ ธปท. กำหนด และทำให้ต้องมีการเพิ่มทุน

 

2. NPL เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มทุน โดยหาก NPL กดดันผลประกอบการลง 443 ล้านบาท จะทำให้เกิดผลขาดทุนในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท

 

3. กลุ่มธนาคารของไทยรองรับ NPL ได้ที่ 11% ในกรณีที่ปัจจัยอื่นๆ คงที่

 

โดยโอกาสที่ NPL จะเพิ่มขึ้นมาจากหลายด้าน อีกทั้งยังมีนโยบายการเงินและการคลังเข้ามาหนุน และมีเหตุผลน้อยที่จะเกิดเหตุการณ์แบบในปี 1997 เนื่องจาก 1) ในปัจจุบันสินเชื่อมีการกระจายตัวที่สูง 2) สินเชื่อส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน หากภาคธุรกิจยังสามารถดำเนินงาน และรักษาสภาพทางการเงินได้จะเป็นปัจจัยหนุนรายได้ และการจ้างงานภาคครัวเรือน และในปัจจุบันยังมีเครื่องมืออีกหลายด้านเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

 

แนะนำให้ ‘ซื้อ’ BBL, TMB และ KKP โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 164 บาท, 1.22 บาท และ 61 บาท ตามลำดับ

 

เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X