เกิดอะไรขึ้น:
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงลุกลามต่อเนื่องและยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงในเร็วๆ นี้ ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกพุ่งทะลุ 1 ล้านคน โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 5.3 หมื่นคน และผู้ที่รักษาหาย 2.1 แสนคน โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากสุดคือสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 2.45 แสนราย ตามด้วยอิตาลี 1.15 แสนราย และสเปน 1.12 แสนราย
จากสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ทางการทั่วโลกได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด อาทิ การประกาศปิดประเทศเพื่องดหรือยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รวมถึงสั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน
ทั้งนี้มาตรการยับยั้งการแพร่เชื้อที่คุมเข้ม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยให้หยุดชะงักลง โดย J.P. Morgan รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตของโลก เดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 47.6 ต่ำกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนถึงภาคการผลิตทั่วโลกจะชะลอตัว ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของไทยเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 46.7 ต่ำกว่าระดับปกติเช่นกัน
ทั้งนี้ทางการของไทยได้ออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทากระทบผลจากโควิด-19 ได้แก่ การแจกเงินสนับสนุน การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย การเลื่อนชำระภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ การหยุดพักการชำระหนี้
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ และปรับลง 0.25% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นกลไกการส่งผ่านให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่ต้นปี ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลงกว่า 40.33%YTD ปรับตัวลงแรงกว่า SET Index ที่ปรับลง 27.91%YoY จากระดับ 1579.84 จุด สู่ระดับ 1,138.84 จุด (ข้อมูล ณ 3 มีนาคม 2563)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 1/63 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 1%QoQ และลดลง 17%YoY หากตัด TMB และ TCAP ซึ่งผลกระกอบการของทั้งสองได้ถูกบิดเบือนจากการควบรวม จะพบว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/63 จะลดลง 4%QoQ และ ลดลง 25%YoY
โดยทิศทางกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่อ่อนแอเกิดจาก
- การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ต่อคุณภาพสินทรัพย์
- ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ลดลงหลังจาก ธปท. ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้
- ยอดสินเชื่อตั้งแต่มกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 ขยายตัวชะลอลงเพียง 0.5%YoY
- รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง เกิดจากผลกำไรจากเงินลงทุนลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงจากการจัดชั้นค่าธรรมเนียม Upfront Fee ในการให้สินเชื่อใหม่เป็นรายได้ดอกเบี้ยที่ต้องทยอยรับรู้ตามมาตรฐานบัญชี TFRS9
ทั้งนี้ในระยะสั้นต้องติดตามทิศทางจำนวนสินเชื่อเดือนมีนาคม, NPL ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 ตลอดจนติดตามจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการพักการชำระหนี้
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าทิศทางผลประกอบการณ์ตลอดทั้งปี 2563 ยังคงอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน โดยเราคาดว่ายอดสินเชื่อจะหดตัว 2%YoY, NIM ลดลง 0.20%, รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลง 18%YoY และต้นทุนสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 0.25%
จึงทำให้เราคาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 ของกลุ่มธนาคารจะหดตัวลง 27%YoY แต่อย่างไรก็ดี สถานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 โดยอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ของธนาคารพาณิชย์โดยรวม ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 19.32% (16.1% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1) สูงกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 ที่มี CAR อยู่ที่ระดับ 9.23%
สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 92.6% ต่ำกว่าปี 2540 ที่ระดับ 134.8% สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารมีสภาพคล่องสูงกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 จากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่สูงเพียงพอต่อเงินรับฝาก (เงินกู้ของกลุ่มธนาคาร) ทำให้ SCBS เชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะสามารถเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) คือส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อกับดอกเบี้ยจ่ายจากเงินฝาก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสะท้อนความสามารถในการหารายได้จากดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคาร
หมายเหตุ:
- %YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีเทียบกับข้อมูลปัจจุบัน
- %QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
- %YoY คือ % การเปลี่ยนแปลง ณ ช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า