×

ไทยพาณิชย์ชี้ วิกฤตโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว 5.6%

03.04.2020
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่าทาง SCB EIC ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2563 หดตัว 5.6% จากคาดการณ์เดิมที่อยู่ระดับติดลบ 0.3% โดยมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่

 

1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Sudden Stop) ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัว 12.9% ในปีนี้

 

2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัว 67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้

 

3. การประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย แม้เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ Face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว 

 

4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะมีออกมาเพิ่มเติม จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย 

 

ทั้งนี้ SCB EIC ปรับเพิ่มสมมติฐานของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พ.ร.ก. เงินกู้ฉุกเฉิน จำนวน 2 แสนล้านบาทไว้ในประมาณการรอบนี้ด้วย 

 

ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลก SCB EIC มองว่าปี 2563 นี้ เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและมีแนวโน้มหดตัว 2.1% ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกมีมากกว่าคาด สะท้อนจากข้อมูลเร็วอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ลดลงเหลือ 40.5, 31.4 และ 35.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2551
 

ทั้งนี้การประกาศปิดเมือง (Lockdown) ประกอบกับความตื่นกลัวด้านการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวม โดย SCB EIC ประเมินจากหลายงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่าในช่วงปิดเมืองระหว่างการเกิดโรคระบาด สินค้าที่จะมียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าหมวดอาหาร สินค้าหมวดการทำความสะอาด ยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตตามการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การทำงานที่บ้าน และกิจกรรมสันทนาการออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกม 

 

ขณะที่สินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบค่อนข้างมากคือ การเดินทาง ท่องเที่ยว งานนิทรรศการ โรงแรมและร้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง กิจกรรมสันทนาการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องแต่งกาย โดยแม้จะมีบางสินค้าที่ได้รับประโยชน์ แต่ในภาพรวมการบริโภคมีแนวโน้มลดลงมากกว่า ทั้งนี้หากช่วงเวลาที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามความกังวลต่อธุรกรรมในลักษณะ Face-to-face และจากมาตรการปิดเมืองที่มีระยะเวลา 1 เดือน การบริโภคภาคเอกชนจะลดลงและทำให้ GDP ไทย ปี 2563 หายไปประมาณ 0.6% 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือมาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ มาตรการที่ออกมาแล้วส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ถูกกระทบ เช่น มาตรการลดภาษี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน 

 

อย่างไรก็ดี SCB EIC เชื่อว่าในระยะต่อไปภาครัฐจะเร่งดำเนินการออกมาตรการการคลังเพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากโควิด-19 ทั้งในส่วนการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบจำนวน 3 ล้านคนที่ประกาศไปแล้ว และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้นผ่านการออก พ.ร.ก. เงินกู้ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ SCB EIC ได้ใส่สมมติฐานวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการออก พ.ร.ก. เงินกู้ฉุกเฉินจำนวน 2 แสนล้านบาทในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้แล้วด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X