×

เอเซีย พลัส ชี้ โควิด-19 กดดันดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 2/63 อาจหลุด 1,000 จุด

01.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (1 เมษายน) เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ตั้งแต่จีน สหรัฐฯ และยุโรป อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น 

 

ดังนั้น ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส ประเมินว่า ปี 2563 นี้ GDP โลกมีโอกาสติดลบมากกว่า 0.1% และทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) และเห็นทุกประเทศใช้นโยบายการคลังต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาส 2/63

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ ASPS ปรับลดประมาณการ GDP Growth ของไทยปี 2563 เป็นติดลบ 1.4% จากเดิมคาดบวก 2.8% เพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว, การค้าระหว่างประเทศ, การบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น ปัจจัยโควิด-19 คาดว่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยตลอดเดือนเมษายน ไตรมาส 2 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูสถานการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรงและยืดเยื้ออีกนานเท่าไร 

 

ฝ่ายศูนย์วิจัยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาแรงจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจมาก แต่หากวิเคราะห์ Valuation ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน โดยดูจาก Market Earning Yield Gap ปัจจุบันที่ 5.90% ถือว่ากว้างมาก สะท้อนว่า ตลาดหุ้นไทยมี Downside ที่จำกัด และมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว หากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย

 

“ทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/63 ยังผันผวนสูง เพราะมีปัจจัยกดดันหลักมาจากการแพร่ระบาด ทำให้ SET Index มีโอกาสปรับลงต่ำกว่าระดับ 1,000 จุด ของโควิด-19 แต่มองเป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้น เพื่อลงทุนระยะยาว” 

 

นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2563 มาอยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท ลดลง 16.5% จากประมาณการเดิม (ลดลงราว 2.19 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2563 ลดเหลือ 72.62 บาทต่อหุ้น ลดลง 17.8% จากเดิมที่อยู่ 95.71 บาทต่อหุ้น

 

“หลักๆ มาจากการปรับลดกำไรในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ผลจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันลง และ Spread ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกกดดันจากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอ จึงมีความเสี่ยงที่จะลดดอกเบี้ยได้อีกในช่วงที่เหลือของปี กลุ่ม ICT มีต้นทุนจากการประมูลคลื่น 5G เพิ่มขึ้น กลุ่มการบินและท่องเที่ยวถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากยืดเยื้อกว่าที่เป็นอยู่”

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลออกจากภูมิภาครวมกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ามากกว่าปี 2561 ซึ่งมีสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีเงินไหลออกราว 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ปี 2563 นี้ยังมีแนวโน้มการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติ โดยเฉพาะด้านตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 มีเม็ดเงินต่างชาติไหลออกไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 8% โดย บล. เอเซีย พลัส เชื่อว่า เดือนเมษายนนี้เม็ดเงินต่างชาติยังไม่ไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดทุนไทย แต่ยังคาดหวังแรงซื้อจากกองทุนเพื่อการออม (SSF) เงื่อนไขพิเศษที่เปิดขายเฉพาะเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

 

กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 นี้ แนะนำให้สะสมหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรงจากประเด็นโควิด-19 และมีโอกาสฟื้นตัวได้แรงกว่าตลาด หรือมีค่า Beta Plus สูง เช่น GULF, BGRIM, BAM, SEAFCO, TFG ส่วนหุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนคือ หุ้นที่ Over Value อย่าง THAI และ TASCO

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X