การระบาดของโควิด-19 บีบบังคับให้ผู้คนทั่วโลกต้องอยู่ในบ้าน แพลตฟอร์มอายุ 9 ปี อย่าง Zoom จึงกลายเป็นบริการที่ไม่เพียงถูกใช้เพื่อการประชุมงานทางไกล แต่ยังถูกใช้เป็นห้องเรียนเสมือน จุดรวมพลคนปาร์ตี้ แหล่งรวมสายบุญเพื่อสวดมนต์ รวมถึงจุดชุมนุมของชมรมหนังสือ
วันนี้ Zoom มีผู้ใช้เหนียวแน่นไม่แพ้เครือข่ายสังคมอย่าง Facebook และ Twitter มีการตั้งกลุ่ม ‘Zoom Memes for Self Quarantines’ บน Facebook ด้วยยอดสมาชิก 395,000 ราย ที่รอชมมุกตลกเกี่ยวกับ Zoom สถิตินี้สะท้อนว่า Zoom กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมออนไลน์ที่ ‘ไม่ธรรมดา’
จุดเริ่มต้นของ Zoom นั้นเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหากวนใจในแอปพลิเคชันวิดีโอคอล โดยในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น รวมถึงเอกสารสำหรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2019 ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Zoom อย่าง อีริก หยวน เน้นหนักถึงความรู้สึกของผู้ใช้ที่ ‘ไม่ปลื้ม’ เครื่องมือการประชุมผ่านวิดีโอทุกค่ายที่มีในตลาด
แน่นอนว่า ช่วงเวลานั้นคนบนโลกยังไม่ต้องการใช้เครื่องมือการประชุมผ่านวิดีโอมากเช่นนี้ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่มาก่อนกาลอย่างน่าปรบมือให้
อีริก หยวน ผู้ก่อตั้ง Zoom กับวันแรกที่ Zoom ติดนามสกุลมหาชน ด้วยราคา IPO 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
ของฟรีที่ดีกว่า
เวอร์ชันฟรีของ Zoom สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอได้ 100 คนในคราวเดียว แต่เวอร์ชันฟรีของ Skype นั้นอนุญาตเพียง 50 คน
Zoom ยังมีเครื่องมือส่วนตัว รวมถึงความสามารถในการเลือกฉากพื้นหลังที่แตกต่างกัน ทั้งสะพาน Golden Gate Bridge หรือภาพที่ผู้ใช้ต้องการอัปโหลดเอง แถมยังสามารถเปลี่ยนมุมกล้อง เข้ารหัสวิดีโอการประชุม ส่ง Direct Message และบันทึกการประชุมไปในตัว
หากการประชุมเกิดขึ้นนานเกิน 40 นาที ผู้ใช้สามารถจ่ายค่าบริการ 14.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 490 บาท เพื่อประชุมแบบไม่จำกัดนาที ขณะที่ผู้ใช้องค์กรมีค่าใช้จ่าย 19.99 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 650 บาท
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Zoom กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดใน Apple App Store และสามารถทำลายสถิติอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม ซึ่งพบว่า มีการดาวน์โหลด Zoom มากกว่า 2.13 ล้านครั้งทั่วโลกในวันเดียว เพิ่มขึ้นจาก 2.04 ล้านครั้งในวันก่อนหน้า สถิติเหล่านี้สูงมากเมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนก่อนพิษโควิด-19 ระบาด แอปฯ นี้มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกน้อยกว่า 56,000 ครั้งในหนึ่งวัน
Photo: Zoom Video Communications / Facebook
ความสำเร็จของ Zoom เริ่มที่การเปิดตัวบริษัทในปี 2011 เวลานั้น อีริกโบกมือลา Cisco จากตำแหน่งวิศวกรผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มวิดีโอคอลชื่อ WebEx จนวันนี้ WebEx เป็นหนึ่งในคู่แข่งที่ได้แต่มอง เมื่อ Zoom เข้าตลาดหุ้นในเดือนเมษายน 2019 ด้วยมูลค่าที่ยอดเยี่ยมกว่าหุ้นบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าเช่น Lyft และ Uber ซึ่งปล่อย IPO ในเวลาเดียวกัน
เวลานั้นหุ้นของ Zoom เพิ่มขึ้น 72% ในวันแรกของการซื้อขาย ทำให้มูลค่าตลาด Zoom ทะลุ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.22 แสนล้านบาท จนในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2020 บริษัท Zoom มีมูลค่าตลาดมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.30 ล้านล้านบาท
มูลค่านี้เทียบเท่ากับ Uber แต่เหนือกว่า เพราะ Zoom มี ‘กำไร’ แล้ว
วิสัยทัศน์ชัดเจน
เหตุผลที่ทำให้หุ้น Zoom พุ่งกระฉูดคือ วิสัยทัศน์ของอีริกที่โดนใจผู้ถือหุ้น ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเวลานั้น ผู้ก่อตั้ง Zoom ยืนยันว่า “วิดีโอคืออนาคตของการสื่อสาร” ซึ่งนาทีนี้ดูเหมือนว่าอนาคตจะมา ‘เร็ว’ และ ‘แรง’ กว่าที่ทุกคนคาดคิด
อีริกยอมรับว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2020 คือช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับบริษัท เนื่องจากคนทั่วโลกเพิ่งเข้าใจว่า กำลังต้องการเครื่องมือเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ Zoom ถูกโจมตีเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะการตกเป็นข่าวเมื่อกลางปี 2019 ว่า Zoom มีช่องโหว่ที่เสี่ยงทำให้ผู้ที่เคยติดตั้งแอปฯ Zoom บนเครื่องแมคอินทอชถูกโจมตี ทำให้แฮกเกอร์แอบมองภาพผ่านกล้องเว็บแคม และอาจถูกติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนเครื่องได้
เวลานั้นมีการโจมตีว่า Zoom ลงมือแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล ทำให้มีการแนะนำให้ผู้ใช้ตั้งค่ายกเลิกการเปิดกล้องทันทีที่เข้าประชุม และถอนการติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ของ Zoom ออกจากเครื่อง ประเด็นนี้ทำให้ Apple ออกโรงแก้ไขที่ระบบปฏิบัติการ ทำให้ปัญหานี้หมดไป ขอเพียงให้ผู้ใช้อัปเดตระบบปฏิบัติการ
ล่าสุด Zoom ถูกวิจารณ์ว่า แอปฯ Zoom บน iOS มีช่องโหว่ที่ส่งข้อมูลผู้ใช้บางส่วนให้กับ Facebook ทั้งหมายเลขประจำแอปฯ, เครือข่ายที่ใช้, หมายเลขประจำเครื่อง, จำนวนซีพียู, พื้นที่ดิสก์, ขนาดจอ, รุ่นเครื่อง, ภาษาที่ใช้ และอีกหลายข้อมูลสำหรับการโฆษณา ทำให้ Zoom ต้องแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการยกเลิกใช้ชุดโปรแกรม Facebook SDK ทำให้ผู้ใช้ต้องลงชื่อใช้ Zoom บนขั้นตอนที่ยากมากขึ้นเล็กน้อย
นอกจากความปลอดภัย Zoom ยังต้องโฟกัสเรื่องการให้บริการอย่างต่อเนื่องและเสถียร ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นของชาวโลก
ประเด็นนี้โฆษกของ Zoom ชื่อ ฟาร์ชาด ฮัชมาทุลลา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว CNN Business ว่า Zoom มีศูนย์ข้อมูลใน 17 แห่งทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางทั้งการรับส่งข้อมูลเสียงและวิดีโอทั้งหมด
โดยอธิบายว่า Zoom มีนโยบายบริษัทที่เข้มแข็งมานานก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่า จะสามารถรองรับการใช้งานสูงสุดได้เกิน 2 เท่าต่อวันโดยเฉลี่ย และสามารถขยายเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติมนับ ‘หมื่นเครื่อง’ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หากจำเป็น
Zoom มั่นใจว่า สถาปัตยกรรมของบริษัทถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมวิดีโอคอลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความมั่นใจนี้จะเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายให้อนาคตของ Zoom ได้
ความง่ายคือคำตอบ
จุดเด่นที่ทำให้ Zoom ได้เปรียบในตลาดแอปพลิเคชันวิดีโอแชตคือ ‘ความง่าย’ ซึ่งความง่ายทำให้ Zoom ได้รับความนิยม จนมีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 20 ล้านคน (สถิติก่อนวันที่ 25 มีนาคม 2020) ตามข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Sensor Tower
การดาวน์โหลดจำนวนมากเหล่านี้เป็นของผู้ใช้ครั้งแรก เบ็ดเสร็จแล้ว Zoom มีการติดตั้งครั้งแรกหรือ First-Time Install ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 213 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าคือ วันที่ 9 มีนาคม และเพิ่มขึ้น 728 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์วันที่ 2 มีนาคม
สรุปแล้ว แอปฯ มือถือของ Zoom ถูกติดตั้งมากกว่า Skype ราว 3.7 เท่า และเหนือกว่า Google Hangouts มากกว่า 8.6 เท่าตัว
ทำไมถึงเลือกใช้ Zoom
คำตอบที่ชัดเจนคือ ความใช้ง่ายและลูกเล่นที่ให้มากกว่าเจ้าใหญ่รายอื่น ซึ่งไม่ว่าจะคุยเล่นกับเพื่อน เรียนกับอาจารย์ หรือประชุมกับเจ้านาย Zoom จะมีฟิลเตอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ดูดีขึ้นในพริบตา ซึ่งเป็นหนึ่งในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่กลับทำให้ Zoom เป็นบริการที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง
Photo: Zoom Video Communications / Facebook
ฉากหลังเสมือนจริงของ Zoom เป็นรายละเอียดโดนใจผู้ใช้หลายคนที่แอปพลิเคชันอื่นยังทำไม่ได้ ผู้ใช้สามารถสลับภาพพื้นหลังในวิดีโอเป็นภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกหรือภาพวิวที่ยอดตึกเบิร์จคาลิฟาได้
แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งใดก็คือ ประสบการณ์ผู้ใช้และคุณภาพการโทรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถบันทึกการประชุมได้ และสามารถสตรีมวิดีโอคุณภาพสูงได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับ Hangouts
ผู้ใช้ Hangouts นั้นไม่สามารถชมวิดีโอคลิปหรือเล่นเกมสดได้ แต่ Zoom ทำได้ แถมยังมีคุณภาพสูงกว่าในภาพรวม ดังนั้น คู่แข่งที่ต้องการดีด Zoom ออกไปให้พ้นทาง จะต้องแข่งให้ได้ที่คุณภาพการโทรที่ดีกว่า และการเพิ่มความสามารถในการบันทึกการประชุม
ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมความสามารถในการแบ่งปันวิดีโอคุณภาพสูงผ่านการโทรนั้น ซึ่งเป็น 3 จุด ที่ช่วยให้ Zoom โดดเด่นจากการแข่งขัน
สำหรับประเทศไทยและหลายตลาดทั่วโลก แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ ผู้ใช้ 1 คน จะใช้แอปพลิเคชันวิดีโอคอลมากกว่า 1 แอปฯ เช่น อาจใช้ทั้ง WebEx, Microsoft Team และ Zoom เพราะผู้ติดต่อเข้ามาใช้โปรแกรมที่ต่างกัน
โดยส่วนใหญ่ยังใช้แม้จะรู้ว่า แต่ละแอปฯ มีฟีเจอร์ที่ไม่เท่ากัน บางแอปฯ เบลอพื้นหลังวิดีโอได้ แต่บางแอปฯ ทำไม่ได้ ขณะที่บางคนมอง Microsoft Team ว่าเสถียรแต่ Zoom ใช้งานง่าย แต่ทุกแอปฯ จะถูกเลือกใช้ในเวลาและกรณีที่ต่างกัน
สำหรับอนาคตของ Zoom ในยุคหลังโควิด-19 ถือว่าน่าจับตามอง เพราะวิถีชีวิตออนไลน์ของผู้คนทั่วโลกจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้คนจะยังใช้โปรแกรมวิดีโอคอลต่อไป แม้สถานการณ์ไวรัสระบาดจะดีขึ้น
และเมื่อวิดีโอคอลกลายเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนปัจจัย 4 ในโลกของคนใช้สมาร์ทโฟน Zoom ก็อาจทำเงินจากบริษัทได้มากขึ้น เพราะองค์กรทั่วโลกได้รู้แล้วว่า การประชุมทางไกลมีประโยชน์เรื่องความสะดวกและประหยัด
แต่มีข้อแม้ว่า Zoom จะต้อง ‘ไม่หยุดนิ่ง’ และพัฒนาตัวเองให้เลิศกว่าช่วง 9 ปีแรกของชีวิต
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3076925/how-zoom-became-coronavirus-lockdowns-work-home-video
- https://www.digitaltrends.com/computing/zoom-ios-app-facebook-data-updated/
- https://www.cnbc.com/2020/03/21/why-zoom-has-become-darling-of-remote-workers-amid-covid-19-outbreak.html
- https://www.cnbc.com/2020/03/18/zoom-cfo-explains-how-the-company-is-grappling-with-increased-demand.html
- https://www.msn.com/en-us/money/companies/zooms-massive-overnight-success-actually-took-nine-years/ar-BB11NHEo?li=BBnbfcN