วันนี้ (29 มีนาคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันนี้ โดยกล่าวว่า แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 12-18 มีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมีอยู่ไม่มาก และกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด และอยู่ในเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ในอีก 10 วันต่อมาตัวเลขกลับเพิ่มสูงขึ้นและกระจายไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ทุกคนในประเทศไทยมีความเสี่ยงทั้งสิ้น
ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, ภูเก็ต, 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) และสระแก้ว
ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยกระจายไปกว่า 59 จังหวัด และมีประมาณ 10 จังหวัด ที่ยังไม่พบผู้ป่วยเลย การแพร่ระบาดของโรคทั่วประเทศไทยมีลักษณะต่างกัน ลักษณะป้องกันโรคในแต่ละจังหวัดจึงต่างกันออกไป ความเข้มข้น น้ำหนัก
สำหรับวิธีการจัดการระบบป้องกันควบคุมโรคจะต่างกันออกไป แบ่งเป็น
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงใช้มาตรการลดระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุด
- จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วย จะดำเนินการป้องกันโรคเหมือนกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือจะพบผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างพื้นที่ สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือต้องเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าจังหวัด และติดตามเฝ้าดูอาการให้ครบ 14 วัน
- จังหวัดที่พบผู้ป่วยน้อย ประมาณ 1-4 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น ลักษณะการป้องกันจะคล้ายกับกลุ่มแรก คือจะต้องค้นหาผู้เดินทางจากนอกพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด เข้าไปสอบสวนโรคเพื่อหยุดการแพร่โรคให้ได้เร็วที่สุด ยุทธศาสตร์ในการพยายามยุติโรคให้ได้โดยเร็วในจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยจากนอกพื้นที่เข้าไป เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของกรมควบคุมโรค เพื่อให้มีจังหวัดที่ปลอดผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่ขยายในวงกว้าง เช่น สุรินทร์, อุดรธานี, กาญจนบุรี, บุรีรัมย์, นครราชสีมา เป็นต้น โดยจะต้องมีวิธีป้องกันเน้นหนักใน 2 เรื่องคือ การตรวจจับผู้ป่วยและสอบสวนโรคให้ได้โดยเร็ว และจะต้องพิจารณามาตรการเชิงสังคม ที่จะต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับมาตรการในกรุงเทพมหานคร
- จังหวัดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันและจะมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป
ในส่วนของกรุงเทพมหานครที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและแพร่กระจายไปมาก จะต้องตามตะครุบผู้ป่วยให้ได้อยู่ดี แต่มาตรการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องเพิ่มระยะห่างทางสังคม เพื่อให้พบปะกันน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การทำงานที่บ้าน การใช้มาตรการเหลื่อมเวลาเพื่อลดความหนาแน่นในพื้นที่สาธารณะ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า