ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2563 นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 109 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงอายุ 55 ปีที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย
สรุปมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 1,245 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยกลับบ้านรวม 100 ราย และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1,139 ราย
โดยรายชื่อจังหวัดที่พบผู้ป่วยโควิด-19 มีดังนี้
- กรุงเทพฯ 515 ราย
- นนทบุรี 68 ราย
- ภูเก็ต 41 ราย
- ยะลา 40 ราย
- ชลบุรี 36 ราย
- สมุทรปราการ, ปัตตานี 33 ราย
- สงขลา 27 ราย
- ปทุมธานี 14 ราย
- อุบลราชธานี 12 ราย
- เชียงใหม่ 11 ราย
- สุราษฎร์ธานี 10 ราย
- กาญจนบุรี, บุรีรัมย์ 9 ราย
- นครราชสีมา, สุรินทร์, อุดรธานี 8 ราย
- นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, กระบี่, นครปฐม, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา 7 ราย
- ราชบุรี, สระแก้ว 5 ราย
- เชียงราย, นครสวรรค์, พัทลุง, มุกดาหาร 4 ราย
- เพชรบูรณ์, นครศรีธรรมราช, สระบุรี, แม่ฮ่องสอน, จันทบุรี, ปราจีนบุรี 3 ราย
- ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สุโขทัย, ชัยภูมิ, ตรัง, ตาก, ระยอง, ลพบุรี 2 ราย
- กาฬสินธุ์, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, แพร่, นครนายก, พะเยา, พิษณุโลก, ยโสธร, ศรีสะเกษ, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ และอุทัยธานี 1 ราย
ปัจจุบันไทยยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างคงที่ อยู่ประมาณหลักร้อยทุกวัน ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ 57 จังหวัด โดยผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 6 เดือน และอายุมากที่สุดคือ 84 ปี คิดเป็นอายุเฉลี่ย 40 ปี ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 รายรักษาตัวในต่างจังหวัด 5 ราย ส่วนที่เหลือรักษาตัวในกรุงเทพฯ มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 31-76 ปี โดยในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักมีอยู่ 1 รายที่ต้องใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ซึ่งอาการอยู่ในภาวะวิกฤต
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าขณะนี้เริ่มเห็นผู้ป่วยกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้น ซึ่งส่วนหนี่งอาจจะไปพร้อมกับเชื้อไวรัสที่อาจก่อให้เกิดโรค ทำให้คาดว่าจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตของไทยที่มีจำนวน 6 ราย จากผู้ป่วยสะสม 1,245 ราย คิดเป็นประมาณ 0.5% ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีอัตราป่วยตายสูงกว่านี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เสียชีวิตจะมีอายุมากกว่ากลุ่มที่ไม่เสียชีวิต โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักจำนวน 17 รายนั้น ราวครึ่งหนึ่งมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และในรายที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้มีอายุเกิน 70 ปี จำนวน 2 ราย ทำให้เห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีความความเสี่ยงสูง จึงได้ร่วมกันรณรงค์ปกป้องไม่ให้ผู้สูงอายุติดเชื้อ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกว่ากลุ่มอื่น
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากเรื่องของอายุที่มากแล้วยังมีเรื่องของโรคประจำตัว โดยโรคประจำตัวที่พบบ่อยในช่วงนี้คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และบางรายเป็นผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งด้วย ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้ต้องระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ
โดยกลุ่มที่มีอายุมาก อัตราป่วยตายจะสูงกว่า 10% ส่วนคนที่มีอายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว อัตราป่วยตายจะต่ำกว่า 1%
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์