จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัล ผู้สื่อข่าว eFinanceThai จึงรวบรวมข้อมูลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มทีวีดิจิทัล โดยมีรายละเอียดดังนี้
WORK ปรับเป้างบใหม่ เม.ย. นี้ ระบุ ยังสู้ไหว หลังตุนเงินสดกว่า 1 พันล้านบาท
สุรการ ศิริโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารการเงินการลงทุน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า จากผลกระทบโควิด-19 บริษัทเตรียมจัดทำงบประมาณและเป้าหมายทางการเงินใหม่ทั้งหมด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ในเดือนเมษายนนี้
โดยในส่วนรายการโทรทัศน์ยังคงดำเนินงานตามแผนงานปกติ ซึ่งปัจจุบันหากเป็นรายการใหม่ บริษัทมีสต๊อกเผื่อไว้ยาว 2 เดือน คือในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ส่วนรายการสดอาจเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน และคงจัดแผนผังใหม่เข้ามาแทน ด้านรายการข่าวยังคงดำเนินการแพร่ภาพได้เหมือนเดิม ส่วนรายการถ่ายทอดซ้ำ (Rerun) อาจมีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย
“ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงกระทบรายได้ โฆษณาลดลงบ้าง ซึ่งเราเพิ่งแจ้งให้แต่ละหน่วยงานส่งแผนเข้ามาใหม่แล้ว คาดว่าจะสรุปภาพรวมขององค์กรได้ในช่วงเมษายน แต่เบื้องต้นเรายังโชคดีที่มีกระแสเงินสดกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคิดว่ายังพอรับมือไหวกับสถานการณ์ปีนี้ ด้านสต๊อกรายการ เรายังมีรองรับ 2 เดือน หากหมด เราคงนำการถ่ายทอดข่าวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น” สุรการกล่าว
BEC จ่อใช้รายการรีรัน-รายงานสดจากนอกสตูดิโอ
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการถ่ายทอดรายการต่างๆ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการประชุมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังรายการใหม่ หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อ โดยภาพรวมการแก้ไขในเบื้องต้น หากเป็นรายการสด อาจสามารถรายงานจากข้างนอกสตูดิโอได้ หรือบางรายการอาจใช้วิธีถ่ายทอดซ้ำ (Rerun)
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนต้องทำงานที่บ้าน อาจติดตามข่าวสารหรือดูโทรทัศน์มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวต้องปรับโครงสร้างให้ผู้ชมได้มีความบันเทิงและได้รับข่าวสารไปพร้อมกัน
“มันมีหลายเรื่องที่ต้องวางแผน ทั้งการทำงาน เรื่อง Work from Home ซึ่งผมยังไม่สามารถตอบถึงหลักการได้ และยังขึ้นกับความรุนแรงของสถานการณ์ด้วย จึงไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ เพราะเปลี่ยนสถานการณ์เป็นรายวันในช่วงนี้ แต่หลักๆ ต้องดูสิ่งที่เรามีว่าสามารถถ่ายทอดอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราปรับตัวคือ ต้องปรับผังให้ตรงกับคอนเทนต์ที่เรามี ปรับเปลี่ยนการรายงานข่าว ส่วนรายการอื่นๆ อาจจะใช้รีรัน หรืองดเพื่อเอารายการอื่นมาแทน” ชาคริตกล่าว
MONO ตุนซีรีส์ 65-70% พ่วง 3BB เพิ่มรายได้
ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า จากกรณีโควิด-19 ยังไม่ส่งผลกระทบให้บริษัทปรับเปลี่ยนผังรายการใหม่ เนื่องจากส่วนใหญ่ถ่ายทอดคอนเทนต์ภาพยนตร์เป็นหลัก นอกจากนี้มีผู้เข้าใช้บริการโหลดแอปพลิเคชัน MONOMAX เพิ่มมากขึ้น หลังจากคนไม่สามารถออกนอกบ้านเพื่อไปโรงภาพยนต์ได้
นอกจากนี้บริษัทยังมีปัจจัยบวกเรื่องการเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB ซึ่งล่าสุด ได้พันธมิตรแพลตฟอร์มที่ให้บริการดูหนัง HBO เข้ามา โดย 3BB ออกแพ็กเกจใหม่ GIGATainment ซึ่งมีโปรโมชันแอปพลิเคชัน MONOMAX ร่วมด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายการทีวีดิจิทัล มีซีรีส์ต่างประเทศประมาณ 65-70% รายการข่าวประมาณ 20-25% และรายการละครไทยและสารคดี 10%
“ราคาหุ้นเราปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคม อาจเป็นเพราะเปิดตัวแพ็กเกจ GIGATainment กับ 3BB และปัจจัยที่ 2 พอคนเริ่มอยู่บ้านจากโควิด-19 คนใช้อินเทอร์เน็ตเยอะขึ้น ซึ่งเรามีพันธมิตรดังกล่าว และในส่วนของช่องทางทีวีก็เป็นไปได้เหมือนกันที่คนจะเข้ามาดู” ปฐมพงศ์กล่าว
JKN รับอานิสงส์ ขายซีรีส์ได้ 5 เรื่อง สารคดีกว่า 100 ชั่วโมง
ธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ยอมรับว่า ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้ลูกค้าเก่าและใหม่หลายรายซื้อคอนเทนต์ของบริษัทเพิ่ม ประเภทซีรีส์อินเดียประมาณ 5 เรื่อง และสารคดีกว่า 100 ชั่วโมง มีทั้งเซ็นสัญญาไปแล้ว และอยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญา
“ลูกค้ารายไหนซื้อไปบ้างหรืออยู่ระหว่างเซ็นสัญญา จำนวนรวมเท่าไร เรายังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะทางช่องแต่ละแห่งคงทำการตลาดเอง และบางส่วนยังอยู่ระหว่างรอเซ็น และคงบอกได้แต่ต้องรอให้จบไตรมาส 1/63 ก่อน และมองว่า จังหวะนี้ทางช่องทีวีต่างๆ คงอยากลดต้นทุน ซึ่งการซื้อคอนเทนต์จากเราอาจทำให้ต้นทุนของเขาต่ำกว่า” ธีรภัทร์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก TV Digital Watch ระบุว่า จำนวนผู้ชมทีวีดิจิทัลในช่วงวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศจากกรุงเทพมหานครให้ปิดสถานที่เสี่ยง เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยต่อนาทีอยู่ที่ 5,737,000 คน และหากนับจำนวนผู้ชมทีวีแบบไม่ซ้ำ (Reach) อยู่ที่ 33,625,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น นับจากวันที่ 18 มีนาคม 2563 มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยต่อนาทีอยู่ที่ 4,791,000 คน และจำนวนผู้ชมทีวีแบบไม่ซ้ำ (Reach) อยู่ที่ 31,542,000 คน (อ้างอิงข้อมูลจาก TV Digital Watch)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
รายงาน: ชุติมา อภิชัยสุขสกุล
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com