ปลายปี 2019 เกิดการประชุมขึ้นหลายครั้งในออฟฟิศ THE STANDARD ถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก ซึ่งโคจรกลับมาแข่งขันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2020
แต่ตัดภาพมาสู่วันที่ 24 มีนาคม 2020 ช่วงนับเวลาถอยหลังอีกเพียงไม่กี่เดือนเหตุการณ์ซึ่งหลายฝ่ายเมื่อปี 2019 คาดไม่ถึงก็ได้เกิดขึ้น เมื่อทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เลื่อนจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก และพาราลิมปิกออกไปเป็นเวลา 1 ปี ทำให้แผนการทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป
โดยสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเวลานี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ รวมถึงรัฐบาลทั่วโลกได้ประกาศปิดหัวเมืองต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเต็มกำลัง
การตัดสินใจครั้งนี้ของ IOC และรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้โอลิมปิกครั้งที่ 32 กลายเป็นมหรรมกีฬาโอลิมปิกที่มีจุดประสงค์ของการแข่งขันเพื่อสันติภาพ ตั้งแต่ยุคโบราณ ถูกเลื่อนการแข่งขันเป็นครั้งแรก โดยไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางสงครามโลก
แต่ครั้งนี้กลับเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทั่วโลกต้องร่วมกันระดมทรัพยากรทุกอย่าง และความร่วมมือจากทุกด้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในเวลานี้
ทำไมโอลิมปิกถึงใช้เวลาตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันนาน?
หากมองถึงเหตุผลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราอาจเข้าใจได้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกยังคงอยู่ห่างไกล และจากการคาดการณ์ของหลายฝ่ายเชื่อว่า การแพร่ระบาดนี้จะจบลงในช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ทำให้ทุกฝ่ายยังคงเหลือเวลาเตรียมการสำหรับการแข่งขันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม
แต่หลังจากที่โควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และวงการกีฬาทั่วโลกตั้งแต่การแข่งขันไทยลีก จนถึงฟุตบอลยูโร 2020 ต้องเลื่อนจัดการแข่งขันออกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
สุดท้ายการตั้งคำถามของการแข่งขันโอลิมปิกตามกำหนดการจึงเกิดขึ้น
ซาราห์ เฮิร์ชแลนด์ (Sarah Hirshland) ซีอีโอของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์กับ AP เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ในฐานะตัวแทนของสหรัฐฯ เธอเข้าใจดีถึงอำนาจและความรับผิดชอบของตำแหน่งที่เธออยู่ในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันโอลิมปิก เนื่องจากเธอได้รับแรงดันมหาศาลจากทุกฝ่ายให้ผลักดันเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก แต่เธอก็ยืนยันเช่นกันว่าตำแหน่งที่เธอมีไว้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ใช่กดดันผู้อื่นให้แก้ไขปัญหา
“ตำแหน่งของฉันไม่ได้มีหน้าที่เรียกร้องและกดดันผู้ตัดสินใจ แต่เพื่อนำพามาซึ่งหนทางในการแก้ไข”
โดยสาเหตุที่เธอได้กล่าวแบบนั้น เนื่องจากทาง USOPC ได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และนักกีฬากว่า 4,000 ชีวิต ถึงสภาพความเป็นอยู่ สภาพการฝึกซ้อม ในสถานที่ที่พวกเขาอยู่ รวมถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อช่วงเวลาการแข่งขันโอลิมปิก
ซึ่งผลตอบรับแม้ว่าส่วนใหญ่มองว่าควรจะเลื่อนการแข่งขันเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่เธอก็ยอมรับว่ามีบางความคิดเห็นที่ตอบกลับมาว่านักกีฬาได้ใช้เวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมมา 1 ปีเต็มเพื่อการแข่งขันในปี 2020 นี้ รวมถึงเขาไม่สามารถยืดเวลาไปแข่งขันเกมได้ในปี 2021 ซึ่งเป็นมุมมองที่ทำให้ต้องพิจารณาทุกทางออกอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
แต่สุดท้ายทางคณะกรรมการโอลิมปิก และพาราลิมปิกสหรัฐฯ ก็ได้ตัดสินใจออกแถลงการณ์รณรงค์ให้เลื่อนการแข่งขันออกไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ไม่นานก่อนที่ IOC จะแถลงเลื่อนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเม็ดเงินลงทุนก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าทำให้เกิดการตัดสินใจช้า
โดย BBC Sport ได้ลงบทวิเคราะห์ของ จอห์น เมห์รซาด ทนายความด้านกฎหมายกีฬาว่าขั้นตอนการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันมีความสำคัญอย่างมากต่อสัญญาของการจัดการแข่งขันระหว่าง IOC และรัฐบาลญี่ปุ่น
BBC Sport เลือกอธิบายสถานการณ์นี้ด้วยคำว่า Game of Chicken หรือเกมที่ฝ่ายใดขยับตัวก่อนแพ้ สื่อความหมายว่าฝ่ายใดเป็นผู้เรียกร้องให้เกิดการเลื่อน ฝ่ายนั้นอาจเป็นผู้ละเมิดสัญญา และอาจต้องเป็นผู้ถูกฟ้องร้องชดเชยค่าเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การประกันการแข่งขันคือสิ่งที่หลายสื่อหยิบยกมากล่าวถึงเมื่อมีการยกเลิกหรือเลื่อน โดย Insurance Insider ได้อธิบายถึงสถานการณ์นี้ไว้ว่า หากยกเลิกการแข่งขันจะเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมบริษัทประกัน
เนื่องจากทาง IOC ได้ทำประกันการแข่งขันไว้ที่ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากมีการยกเลิก แต่ไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลของการเลื่อนการแข่งขันแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผลกระทบที่ตามมาคือผู้ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งทาง Insurance Insider ก็ได้เผยว่าทั้ง Discovery บริษัทสารดคีชื่อดัง และ NBC ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันก็ได้ทำประกันไว้เช่นเดียวกัน
แต่สุดท้ายทาง IOC และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วม โดยมีความเห็นตรงกันให้เลื่อนจัดการแข่งขันไปเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งหมายความว่าตามสัญญาของทั้งสองได้เห็นตรงกันว่าจะเลื่อนออกไป หรือตรงกับคำว่า Mutually Agreed ทำให้ไม่เกิดการละเมิดสัญญาแต่อย่างใด
ความท้าทายใหม่ของโอลิมปิกสมัยใหม่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 124 ปี
แน่นนอนว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่สำหรับโอลิมปิกที่รัฐบาลญี่ปุ่นลงทุนไปกับการแข่งขันถึง 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเลื่อนจัดการแข่งขันที่มีการลงทุนสูงย่อมส่งผลกระทบอย่างมหาศาล
การดำเนินการต่อจากนี้ของ IOC และรัฐบาลญี่ปุ่น เหมือนกับต้องแช่แข็งการเตรียมการทุกอย่างในปีนี้ และไปอุ่นร้อนใหม่สำหรับการแข่งขันปี 2021 ท่ามกลางความวุ่นวายของการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน การเดินทางต่างๆ
ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก รวมถึงโปรแกรมกีฬาทั่วโลกที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบ และต้องเลื่อนจัดการแข่งขันออกไปในปี 2021 อย่างฟุตบอลยูโร 2021
ในแง่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าโอลิมปิกเป็นเหมือนแสงไฟของความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เกิดการตื่นตัว ผ่านการท่องเที่ยว นวัตกรรม รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จากการลงทุนอย่างมหาศาล
มุมมองของผลกระทบทางเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 ด้านโดย ศูนย์วิจัย Fitch Solutions ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับมหภาค มองว่าการเลื่อนจัดการแข่งขัน จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
“แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจมองไม่เห็นผลลบของการเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขัน แต่มันจะเป็นการปล้นการเฉลิมฉลองในปี 2020 ที่ยิ่งใหญ่ของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2021” ข้อความส่วนหนึ่งจากการวิเคราะห์ของ Fitch Solutions เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2020
แต่ด้าน สเตฟาน แอนกริก (Stefan Angrick) นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมลกับ CNBC ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันมีอย่างจำกัด
“เรามองมุมนี้ว่า การแข่งขันสร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ด้วยการก่อสร้างต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแข่งขัน รายได้จากการท่องเที่ยว และการบริโภคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน
“หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับ GDP ที่ผ่านมา จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร
โดยสเตฟานมองว่าคำถามที่แท้จริงคือการเลื่อนจัดการแข่งขันแล้ว ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามากระตุ้นการบริโภคจะเป็นอย่างไร
“ในสถานการณ์สมมติว่าไม่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 การตัดสินใจเลื่อนจัดการแข่งขันคงมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แต่ดูจากสถานการณ์ที่เราอยู่ การท่องเที่ยวอาจอยู่ในจุดเดิม และการบริโภคอาจลดลง ทำให้สรุปได้ว่าผลกระทบจากการเลื่อนการแข่งขันจะมีอย่างจำกัด”
การตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันของ IOC และรัฐบาลญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักกีฬามองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย แต่เช่นเดียวกันการตัดสินใจนี้ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกผ่านความท้าทายในการจัดการแข่งขันมาหลายรูปแบบ ทั้งการยกเลิกเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ทั้งการพบเจอการก่อการร้ายของกลุ่มกันยาทมิฬ (Black September) ในโอลิมปิกที่มิวนิกในปี 1972 การบอยคอตการแข่งขันโอลิมปิกปี 1980 ที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต (ชื่อในยุคนั้น) จากชาติพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ และการบอยคอตโอลิมปิก 1984 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ จากสหภาพโซเวียตที่คว่ำบาตรการแข่งขัน เพื่อเป็นการล้างแค้นชาติพันธมิตร
การเลื่อนการแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์อาจสามารถบันทึกได้ว่าทั่วโลกหยุดทุกอย่าง โดยกีฬาถอยมานั่งแถวหลัง และคอยให้การสนับสนุนทุกฝ่ายต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในปีนี้ ให้จบลงอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: