เมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นไทย อีกหนึ่งแบรนด์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ Asava ของนักออกแบบไทยอย่าง หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ Asava ที่นับวันยิ่งขยายการดำเนินธุรกิจจนกลายเป็นอาณาจักรที่เขาต้องปกป้องดูแล แต่การเป็นต้นหนเรือในการนำเรือสำเภาที่ต้องรับผิดชอบผู้คนมากมายฝ่ามรสุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ในวินาทีนี้
อาณาจักรของ Asava Group ประกอบไปด้วย Asava แบรนด์เสื้อผ้าเรียบหรูที่เรารู้จักกันดี, ASV แบรนด์น้องสาวขี้เล่นของ Asava, White Asava ชุดแต่งงานที่สาวๆ หลายคนใฝ่ฝันที่จะใส่ในวันสำคัญสักครั้งในชีวิต, Sava Dining ร้านอาหารของแบรนด์ที่ตั้งอยู่บนตึกฮีลิกซ์ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ และแบรนด์เสื้อผ้าไลฟ์สไตล์น้องใหม่อย่าง MOO ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน ยังไม่นับรวมธุรกิจ Uniform by Asava ที่ออกแบบและผลิตเครื่องแบบพนักงานที่มีลูกค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Airways, dtac, แสนสิริ, โรงแรม Siam Kempinski และอีกมากมาย
ภาพจาก Asava
“จริงๆ ในปีนี้ ปี 2020 ถึงแม้จะไม่มีเรื่องของไวรัสโคโรนา ก็นับเป็นปีที่ท้าทายอยู่แล้ว ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลก และด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะภายในประเทศเองหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่สูง ภัยแล้ง และปัญหาการส่งออก” หมูกล่าวกับเราในอีเมลสัมภาษณ์เมื่อเขามองภาพที่กว้างขึ้น “เมื่อมีไวรัสโคโรนาก็ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบ ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย แต่กระทบในระดับโลก”
เพื่อให้เห็นภาพของผลกระทบชัดเจนขึ้น เราถามถึงกลุ่มลูกค้าว่าเป็นใคร มาจากไหน เขาก็ยอมตอบแต่โดยดี “ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร ธุรกิจเสื้อผ้า เกิน 1 ใน 3 ของยอดขายที่เรามีมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่ายอดตรงนี้จะหายไป เราก็ต้องมองหาว่าเราสามารถทำการตลาดกับคนในประเทศอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะ GDP ปีนี้อาจถึงขั้นติดลบเลยก็ว่าได้” ซึ่งนั่นเป็นอีกเครื่องยืนยันว่าก่อนหน้านี้แบรนด์ก็ได้กลิ่นของสภาวการณ์ที่ยากลำบาก และไม่ได้นิ่งนอนใจ
โชว์ของแบรนด์ที่ Shanghai Fashion Week เมื่อเดือนเมษายน ปี 2019
ภาพจาก @asavagroup
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ อันดับแรกมองหาวิธีการสร้างรายได้ที่มีต้นทุนต่ำ ต่อมาคือทบทวนยอดขาย และสุดท้ายปรับเป้าการผลิตให้สอดคล้องกับเป้าของยอดขายใหม่” ซึ่งส่วนสุดท้ายหมูกล่าวว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเมื่อเป็นธุรกิจแฟชั่นที่ต้องอาศัยการผลิตล่วงหน้า ทั้งออกแบบ โปรดักชัน วางแผนการประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่อาจสามารถปรับได้อย่างปัจจุบันทันด่วน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เข้ามา “แต่เราก็พยายามจะขยับปรับโปรดักชันเราให้สอดคล้องกับเป้าหมายการขายให้ได้มากที่สุด ให้มี Leftover น้อยที่สุด” เขาเสริม
ดังนั้น ปัจจัยภายในที่แบรนด์สามารถควบคุมได้ คือค่าใช้จ่ายและต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ไม่แน่อาจเป็นโอกาสดีที่แบรนด์จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานเปิดตัวคอลเล็กชันต่างๆ ที่จำต้องงดเพราะความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปัจจุบัน “สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจไว้ก็คือ ถึงแม้เราจะลดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะต้องลด Efficiency ลง หรือลด Productivity ลง เราอาจจะไม่สามารถจัดงานอีเวนต์ได้ เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบทางสังคม แต่เราก็ต้องหาสิ่งอื่นๆ เข้ามาสื่อสารกับผู้บริโภค ยังคง Engage กับผู้บริโภคอยู่ ด้วยเทคโนโลยีหรือด้วยช่องทางอื่นๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้”
ภาพจาก Asava
สิ่งหนึ่งที่หลายแบรนด์ที่เราได้สัมภาษณ์ หรือแม้แต่ธุจกิจอื่นนอกเหนือจากแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค บอกเป็นเสียงเดียวกันคือการเพิ่มตัวตนในช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากหน้าร้าน ต้องขอบคุณโซเชียลมีเดียที่เป็นพื้นที่โลกเสมือนจริงให้ผู้คนมาเจอกันในเวลาที่ต่างคนต่างเข้าโหมด Social Distancing
“หลายๆ คนบอกให้อยู่เฉยๆ หรือพยายามอย่าทำอะไร แต่ในทางธุรกิจแล้ว การอยู่เฉยๆ หรือการไม่ทำอะไรมันก็คือการถดถอย” คือสิ่งสุดท้ายที่หมูฝากเราไว้ “เราต้องพยายามหาคำตอบให้บริษัทว่าอย่างไรที่มันเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา และมีเรื่องไวรัสโคโรนาเช่นนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง”
แต่กว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติอีกครั้ง คำถามที่สำคัญกว่าวิธีการรับมือของแต่ละแบรนด์ คือมันจะเป็นแบบนี้ไปอีกถึงเมื่อไร เพราะนี่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการที่แบรนด์จะตัดสินใจขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้แบกรับความผิดชอบของทั้งอาณาจักรอย่างเช่น Asava Group ของหมู เพื่อให้แบรนด์กลับมาคึกคักในโลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง
ภาพ: Asava
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์