วันนี้ (17 มีนาคม) เวลา 19.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) อีกครั้ง
โดยกล่าวว่า “เมื่อวานนี้ขอขอบคุณนะครับ ในแรงใจแรงสนับสนุนต่างๆ ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีมามากมายพอสมควรนะครับ ก็ขอขอบคุณทุกท่าน นายกรัฐมนตรีก็ยังคงต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างเต็มกำลังความสามารถนะครับ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจทุกอย่าง”
ปัจจุบันถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่ว่ามีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือและหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมมือในการประสานงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
จากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา และนำเรื่องมาเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ พร้อมพิจารณาการดำเนินการในด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3. ด้านข้อมูล การชี้แจง และการรับเรื่องร้องเรียน 4. ด้านการต่างประเทศ 5. ด้านมาตรการป้องกัน และ 6. ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา
และคณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้
- ด้านสาธารณสุข ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ
ป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสูประเทศไทยคือ ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตรายจำนวน 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมถึงประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่อง ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ ยินยอมใช้แอปพลิเคชันติดตามของรัฐ มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก น้ำ อากาศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องดูหนังสือเดินทางของชาวต่างประเทศด้วยว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคหรือไม่ แล้วแจ้งกระทรวงมหาดไทย มาตรการกักกันของรัฐ ต้องถูกกักตัวไว้สังเกตอาการ 14 วัน
- ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
1.2 พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนักตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
1.3 กำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว
1.4 บุคลากรทางการแพทย์ปัจจุบันมีเพียงพอ มีแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 37,160 คน พยาบาลทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนรวมจำนวน 151,571 คน รวมทั้งให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ และเตรียมโรงพยาบาลเฉพาะกิจหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับหากสถานการณ์ปรับเข้าสู่ระยะที่ 3
1.5 จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะที่ 3 ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และชุดป้องกันโรค ซึ่งมีแผนการผลิตและจัดหาแล้วอย่างต่อเนื่อง
1.6 แนะนำให้คนไทยที่พำนักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น
- ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ
โดยเร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน เจล และแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ชุมนุมหรือชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ
- นำหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้ส่งศูนย์กระจายและบริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย เพื่อกระจายต่อไป
- สำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น อาทิ ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หน้ากาก N95 อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น และประสานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ
- ตรวจสอบการขายออนไลน์ การกักตุน และการระบายของสินค้า
- ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 1. กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข 2. ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง
- ด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าทีม ในประเทศให้นำผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามาหารือด้วย
- ด้านมาตรการป้องกัน ‘ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง’
5.1 ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น
- สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- สถานที่ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตร แต่มาเพื่อทำกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อง่ายทางปาก สัมผัสถูกเนื้อถูกตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกันง่ายจะต้อง
2.1 ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามม้า สนามกีฬาที่มีผู้ชมแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
2.2 ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ ฟิตเนส สปา และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
- งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย ‘เพิ่มมาตรการป้องกันสำหรับพื้นที่และสถานที่ที่ยังต้องเปิด’
5.2 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
5.3 ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด มาตรการ ‘ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค’
5.4 ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ได้แก่ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
5.5 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ โดยเพิ่มความถี่ของการเดินรถ
5.6 งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย
5.7 ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและการทำงานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ มาตรการ ‘เพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น’
5.8 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และแจ้งมาตรการที่จะดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 ทราบ และให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน
5.9 ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยด่วน และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการดำเนินการเฝ้าระวัง
- ด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยา
6.1 กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการเลย์ออฟพนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้กระทรวงอุตสากรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน
6.2 กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และมีภาระในในการผ่อนชำระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินผ่อนผันการชำระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่อยู่นอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในระยะที่ 2 ต่อไป
6.3 ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดี การขายฝาก เป็นต้น
6.4 สร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้สำหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในช่วงทางต่างๆ ต่อไป หลายอย่างหลายมาตรการเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ต้องไปดำเนินการ ภายใต้ความรับผิดชอบให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทั้งหมดนี้คือประเทศไทยควบคุมสถานการณ์และชะลอระยะ 2 ให้นานที่สุด โดยใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน รักษา และสื่อสารในทุกๆ ด้าน โดยถือว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของประชาชนโดยตรง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคบรรเทาลงแล้ว รัฐบาลจะดำเนินการฟื้นฟูผลกระทบด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจต่อไป
“รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์โควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจรายวันอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ปรับ หรือเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า