เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ที่สุดที่อยู่ในหัวใจของแฟนฟุตบอลทั่วโลกคือ สรุปแล้วการแข่งขันฟุตบอลที่ถูกหยุดพัก รวมถึงที่กำลังจะแข่งขันกันในอนาคต จะกลับมาทำการแข่งขันกันได้ไหม ในวันที่โลกทั้งใบถูกเจ้าเชื้อไวรัสจิ๋วที่เรามองไม่เห็นคุกคามหนักแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่พอจะบอกได้คือ อนาคตของวงการฟุตบอลอาจขึ้นอยู่กับการประชุมด่วนของยูฟ่าในวันอังคารที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้
เพราะผลของการประชุมจะนำไปสู่ ‘คำตอบ’ ของหลายๆ คำถามที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของการแข่งขันว่าจะแข่งได้หรือไม่ได้ แต่มันมีเรื่องของชีวิต ความเป็นอยู่ และระบบ Ecosystem ของวงการฟุตบอลที่ระส่ำระสายถึงขีดสุดในช่วงนี้
2 เดือนนับจากนี้คือระยะเวลาขั้นต่ำที่มีการประเมินไว้ และสูงสุดกว่าที่ทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติได้อาจต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน เช่นนี้แล้วฟุตบอลจะอยู่กันได้อย่างไร
จากการประกาศสั่งพักการแข่งขันของบรรดาลีกสโมสรฟุตบอลในยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม Top 5 ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลาลีกา สเปน, เซเรียอา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมนี, ลีกเอิง ฝรั่งเศส ที่พักการแข่งขันไปจนถึงต้นเดือนหน้า ในความเป็นจริงแล้วไม่ต่างอะไรจากแค่การ ‘ซื้อเวลา’
และทุกลีกต่างรู้ดีว่ามีโอกาสสูงมากที่พวกเขาจะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ครบจบฤดูกาลอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมี ‘กำแพง’ ด่านที่สำคัญมากอย่างฟุตบอลยูโร 2020 ตามกำหนดเดิมแล้วจะเริ่มในวันที่ 12 มิถุนายน
ตามกฎของยูฟ่า การแข่งขันทีมชาติจะต้องมีเวลาในการเตรียมทีมอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ก่อนที่ทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นขึ้น นั่นทำให้ความเป็นไปได้ที่จะจัดการแข่งขันให้ครบถ้วนตามเดิมแทบไม่เหลือ
โดยยังไม่ได้คิดถึงเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เล่นที่จะเป็นอย่างไร หากต้องตะบี้ตะบันเตะในกรอบเวลาดังกล่าวเพื่อให้ครบตามโปรแกรม
ต่อให้ถูลู่ถูกังกันไปจนครบฤดูกาลตามกำหนดเดิมได้จริง สภาพนักเตะก็คงยับเยิน และจะทำให้การแข่งขันฟุตบอลยูโรในปีนี้ไม่มีคุณภาพหรือความเข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น
และถ้าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น แฟนฟุตบอลย่อมไม่กล้าที่จะเดินทางเพื่อชมการแข่งขัน โดยเฉพาะในปีนี้ฟุตบอลยูโรมาในไอเดียพิเศษ เป็นการแข่งขันแบบแพนยูโรเปียน คือจัดทั่วทวีป 12 ประเทศ นั่นคือ ‘ฝันร้าย’ ที่สุดของมหกรรมกีฬาระดับนี้
ดังนั้นเพื่อที่จะร่วมหาทางออกในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ดูเหมือนการ ‘เลื่อน’ ฟุตบอลยูโร 2020 ออกไปก่อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ฟุตบอลยูโร 2020 หรือยูโร 2021
เชื่อว่ายูฟ่าจะเสนอแนวทางนี้ในระหว่างการประชุมวันอังคารนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมที่ไม่มีตัวแทนเข้าร่วมประชุมแม้แต่คนเดียว เพราะทั้ง 55 ชาติสมาชิกจะใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทนเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ถ้าจะเลื่อน จะเลื่อนไปเมื่อไร และมันจะกระทบอะไรบ้าง
เดิมมีการคาดกันว่าหากมีการเลื่อนจริง ฟุตบอลยูโรจะช้าไป 1 ปี หรือจากยูโร 2020 จะเป็นยูโร 2021 แทน โดยจะแข่งขันในช่วงกลางปีถัดไป ซึ่งไม่มีการแข่งขันฟุตบอลรายการระดับใหญ่ (Major Tournament) พอดี
เพียงแต่การเลื่อนไปในช่วงเวลานั้นจะกระทบกับปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลรายการเก่าแต่เป็นโฉมใหม่ของฟีฟ่า คือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกรูปแบบใหม่ที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลานั้นพอดี
แนวทางใหม่ที่มีการพูดถึงล่าสุดในขณะนี้คือการยังคงจัดฟุตบอลยูโรในปีนี้ แต่ขยับเวลาเป็นช่วงเดือนธันวาคมแทน
เช่นนั้นจะทำให้ฟุตบอลยูโรก็ยังคงเกิดขึ้นในปี 2020 เหมือนเดิม และยังเป็นเหมือนการ ‘ซ้อมใหญ่’ ในการทดลองปรับปฏิทินการแข่งขันให้กับทั้งทีมและนักฟุตบอลที่จะต้องเจอสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ในช่วงปี 2022 กับฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องคิดและหารือกันถึงความเหมาะสม เช่น สภาพอากาศในช่วงเวลานั้นเหมาะสมสำหรับการจัดการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งถ้าหากสมาชิกไม่เห็นด้วย ก็ต้องเลือกระยะเวลาที่เหมาะสมกันใหม่ อาจจะกลับไปเป็นช่วงฤดูร้อนของปี 2021 ตามที่คาดกันไว้เดิมก็เป็นได้
แต่ที่แน่นอนคือหากสามารถผ่าทางตันในเรื่องของฟุตบอลยูโรได้ สถานการณ์จะคลี่คลายขึ้น และแต่ละลีกจะสามารถหากรอบเวลาที่เหมาะสมในการจะทำให้ฟุตบอลภายในประเทศกลับมาแข่งขันกันได้ตามปกติ
Final Four ตัดสินแชมป์สโมสรยุโรป
อีกหนึ่งรายการสำคัญที่ต้องมีการพูดถึงคือฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยูฟ่ายูโรปาลีก ที่มีการเลื่อนโปรแกรมการแข่งขันออกไปเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันแข่งขันอยู่ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ยูฟ่าเองต้องหาทางที่จะทำให้การแข่งขันลุล่วงไปด้วยดีให้ได้เหมือนกัน ซึ่งเวลานี้มีการเสนอแนวทางใหม่
แนวทางดังกล่าวคือการจัดการแข่งขันชิงแชมป์กันในแบบ ‘Final Four’ โดยให้ 4 ทีมสุดท้ายได้มาชิงชัยกันในช่วงระยะเวลา 4 วัน ซึ่งจะมีเกมรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ แข่งกันแบบนัดเดียวจบ
โมเดลนี้เป็นโมเดลที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลเนชันส์ลีก ซึ่งหากสโมสรต่างๆ เห็นด้วย ก็จะเลือกระยะเวลาที่จะทำการแข่งขัน โดยเมืองเจ้าภาพสำหรับแชมเปียนส์ลีกก็คือกรุงอิสตันบูล ส่วนยูโรปาลีกคือเมืองกดังส์ของโปแลนด์ ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพของนัดชิงชนะเลิศในปีนี้อยู่แล้ว
แต่หากโมเดลนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ อีกหนึ่งโมเดลคือการรวบโปรแกรมการแข่งขันในรอบก่อนรองชนะเลิศและรอบรองชนะเลิศจากระบบเหย้า-เยือน มาเป็นการเตะแบบนัดเดียวรู้ผล เพียงแต่ก็มีคำถามว่า แล้วจะเตะกันที่สนามใด แล้วจะมีวิธีหาสนามที่ใช้แข่งขันอย่างไร
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คาดว่าจะมีการหารือกันในการประชุมของยูฟ่าที่จะเป็นการประชุมนัดประวัติศาสตร์
การหาทางออกไม่ง่ายนัก ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ เรื่องของผลประโยชน์อาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด
เพื่อจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ วงการฟุตบอลต้องการความร่วมมือกัน
อย่างที่ไม่เคยต้องการมากเท่านี้มาก่อน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: