เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (4 มีนาคม) ผู้ประกอบการสายการบินทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย
1.บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
2.บมจ.การบินกรุงเทพ (BA)
3.บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)
4.สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
5.สายการบินนกสกู๊ต
6.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์
7.สายการบินไทยเวียตเจ็ท
ได้เข้าประชุมหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกดดันให้ผู้ประกอบการสายการบินมีรายได้ค่าโดยสารที่ลดลง
โดยในช่วงวันที่ 1-20 กุมภาพันธ์ จำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 7 สายการบินลดลงแล้ว 2.54 ล้านคน อัตราการขนส่งผู้โดยสารเส้นทางต่างประเทศลดลงอยู่ที่ 40-60% และในประเทศลดลงอยู่ที่ 70-80% นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกแล้วทั้งสิ้น 7,879 เที่ยวบิน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ (6 มีนาคม) ประกอบด้วย
1.ขอให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยานและค่าธรรมเนียมเก็บอากาศยานลง 50%
2.ขอให้วิทยุการบินแห่งประเทศไทยปรับลดค่าบริการทางอากาศสำหรับเส้นทางในประเทศปรับลง 50% และเที่ยวบินต่างประเทศปรับลง 20%
3.ขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ลดค่าธรรมเนียมการเข้าออกนอกประเทศจากอัตราค่าธรรม 15 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคน เหลือ 10 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคน
4.ขอให้ AOT และ ทย. ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน
5.ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยานสำหรับเส้นทางในประเทศออกไปถึง 31 ธันวาคม 2563 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (5 มีนาคม) ราคาหุ้นสายการบินปรับเพิ่มขึ้นยกกลุ่มนำโดย
- บมจ.การบินไทย (THAI) เพิ่มขึ้น 9.42%DoD
- บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เพิ่มขึ้น 2.67%DoD
- บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เพิ่มขึ้น 2.88%DoD
- บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เพิ่มขึ้น 3.05%DoD
ขณะที่ราคาหุ้น AOT ปรับขึ้นเล็กน้อย 1.58%DoD คาดปรับตัวขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวแรงในวันนี้
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่ามาตรการเบื้องต้นเป็นเพียง Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นกลุ่มสายการบินในระยะสั้น และจะช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการสายการบินได้ในระดับหนึ่ง จากการมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ AOT เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บจากสายการบินจะลดลง ซึ่งปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยาน ค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน และค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินคิดเป็น 54% ของรายได้รวมใน 1QFY63
ทั้งนี้ต้องติดตามรายละเอียดมาตรการอย่างเป็นทางการ หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ จะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางราคาหุ้นกลุ่มสายการบินได้ต่อในระยะสั้น
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาว SCBS ยังมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมสายการบินยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาและกดดันต่ออัตรากำไร ขณะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัด ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มชะลอลง รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสฯ จะเป็นสัญญาณบวกต่อภาพรวมการลงทุน
ข้อมูลเพิ่มเติม:
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 บมจ.ท่าอากาศยานไทย AOT ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ และยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยวันต่อมา (20 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้น AOT ปรับลง 4.79%DoD
หมายเหตุ: %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า