นึกถึง ‘เยาวราช’ ภาพแรกที่จะปรากฏขึ้นมาในความคิดของเราทันทีคือแสงสีจากป้ายไฟในยามราตรี กลิ่นสตรีทฟู้ดทั้งคาวและหวานที่คละคลุ้งชวนน้ำลายสอ และแน่นอน ‘นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก’ ที่หลั่งไหลเดินทางมาเยี่ยมเยือนไชน่าทาวน์แห่งนี้จนทำให้ตลอดแนวถนนทั้งสองฝั่งแน่นขนัดขึ้นมาทันตา
แต่ถนนเยาวราชในวันนี้กลับต่างออกไป สืบเนื่องจากความวิตกที่มีต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ร้านรวงและสตรีทฟู้ดหลายเจ้าจะยังคงเปิดให้บริการตามเดิม แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวกลับเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ถึงขนาดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยรายหนึ่งหันไปพูดกับเพื่อนของเธอระหว่างรอซื้อปลาหมึกย่างว่า “ปกติต้องต่อแถวนานกว่านี้นะ”
ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศย่านเยาวราชในวันที่ไม่คึกคักเหมือนเก่า เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ได้รับผลกระทบแค่ไหน ผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อนอย่างไร
นักท่องเที่ยวหาย 50-70% ยอดขายร่วงกราวถ้วนหน้า ร้านค้าต้องปรับลดวัตถุดิบสต๊อกสินค้า
จากการเดินพูดคุยสอบถามกับผู้ประกอบการร้านอาหารในย่านเยาวราช ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ลูกค้าของพวกเขาหายไปในสัดส่วนเฉลี่ยราว 50-70% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้
ข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าตลอดทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนมากถึง 10,994,721 คน มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 27.6% จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีน 10.9 ล้านคนนี้สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับไทยมากถึงประมาณ 543,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.7% นำเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อีกเช่นเคย คิดเป็นสัดส่วนที่ 28% ของรายได้ที่ประเทศไทยเก็บได้จากนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจีนหนึ่งคนจะใช้จ่ายเงินราว 49,451 บาทต่อการเดินทางมาเที่ยวที่ไทยหนึ่งครั้ง
ตัดภาพมาที่สถานการณ์ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นทางการระบาดมาจากจีนเริ่มยกระดับความรุนแรงและแพร่ระบาดมากขึ้นจนจีนสั่งปิดเมืองไม่ให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ผลกระทบที่ตามมาจึงทำให้ภาคเศรษฐกิจไทยที่มีภาคการท่องเที่ยวเป็นเหมือน ‘ฟันเฟือง’ หลักต้องชะงักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิฑูรย์ โกมลนาค เจ้าของร้านต๋อย & คิด ซีฟู้ด ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าตั้งแต่หลังช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาธุรกิจของตนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำนวนลูกค้าหายไปมากถึง 50-60% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวจีน ขณะที่ยอดขายก็หายไปกว่า 5 เท่าตัว
วิฑูรย์ยอมรับกับเราว่าสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้หนักหนาสาหัสอยู่พอสมควร และยังมองไม่เห็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะยิ่งนานวัน สถานการณ์การแพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจก็ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ
โดยกลยุทธ์ที่ร้านต๋อย & คิด ซีฟู้ด เลือกปรับตัวในตอนนี้คือการลดวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร จากเดิมที่เคยสั่งเข้ามาในสัดส่วน 100% ก็ลดลงเหลือประมาณ 30% หรือราว 1 ใน 3 เท่านั้น และให้พนักงานลาหยุดด้วยความสมัครใจ จากเดิมที่เคยมีพนักงานให้บริการในช่วงปกติที่ 30 คน ปัจจุบันลดลงเหลือน้อยกว่า 20 คน
ด้าน จินต์ หวังวานิช เจ้าของร้านขนมปังเจ้าอร่อยเด็ดเยาวราชที่เคยมีลูกค้าทั้งไทยและเทศต่อคิวรอสั่งขนมปังปิ้งสอดไส้นมเนยและแยมรสชาติต่างๆ จนบริเวณหน้าร้านแทบจะไม่มีช่องว่างให้สอดตัวเดินผ่านก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน จากเดิมที่เคยขายขนมปังได้วันละ 5,000 ลูก ปัจจุบันลดลงไปเฉลี่ยเหลือวันละประมาณ 3,000 ลูกเท่านั้น โดยยังคงจำนวนพนักงานขายไว้ที่ราว 9 คนต่อวันเช่นเดิม
เดินต่อไปอีกไม่ไกล เราก็พบกับร้านกวยจั๊บอ้วนโภชนา ร้านกวยจั๊บเจ้าเด็ดบริเวณหน้าโรงหนังไชน่าทาวน์รามา ที่แม้จะยังมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาจับจองที่นั่งอยู่บ้างประปราย แต่ก็ประสบภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไม่ต่างกัน
จิตราพัชร์ ตั้งทรัพย์มณี ลูกสาวเจ้าของร้านกวยจั๊บอ้วนโภชนา บอกกับ THE STANDARD ว่าตั้งแต่ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ร้ายกวยจั๊บของเธอก็เริ่มเงียบเหงาลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หายไปเลย ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันตกและไทยยังคงเดินทางมาบ้าง (ร้านกวยจั๊บอ้วนโภชนาถูกจัดให้อยู่ใน Michelin Guide Bangkok 2018)
“เดือดร้อน เพราะนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมา คนไทยก็มาน้อย โดยเฉพาะตั้งแต่ที่มีข่าวว่าคนไทยตาย เยาวราชก็เริ่มเงียบเลย ตอนนี้ก็ต้องเริ่มลดวัตถุดิบลดหลั่นตามสถานการณ์ไป” จิตราพัชร์ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD
โรงแรมได้รับผลกระทบน้อย นักท่องเที่ยวตะวันตกกลุ่ม FIT เข้าพักไม่ขาดสาย
Hotel Royal Bangkok โรงแรมที่ตั้งตระหง่านริมถนนเยาวราช ซึ่งปัจจุบันดำเนินธุรกิจโดยกลุ่มทุนสิงคโปร์ (ก่อนหน้านี้เคยให้บริการในชื่อโรงแรมไวท์ ออร์คิด) เป็นอีกหนึ่งในผู้ให้บริการที่พักที่สามารถบอกสถานการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในย่านเยาวราชได้อย่างชัดเจน
พัณณิตา วงษ์นันท์ ผู้จัดการฝ่ายขายของโรงแรม ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่าหลังจากที่เกิดข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ก็หายไปหมด (นิยามกรุ๊ปทัวร์ในที่นี้คือเข้าพักพร้อมกันในจำนวน 8 ห้องขึ้นไป) คงเหลือไว้เฉพาะกลุ่ม FIT ที่เดินทางมาด้วยตัวเองเท่านั้น
โดยปัจจุบันมีจำนวนแขกเข้าพักอยู่ที่ 70-80% ของห้องพักทั้งหมดที่ราว 290 ห้อง ทั้งๆ ที่ในช่วงนี้ซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซันที่จะมีอัตราการเข้าพักมาถึง 90% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร คงต้องบอกว่าผลกระทบที่ Hotel Royal Bangkok ได้รับอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด เนื่องจากกะเกณฑ์ด้วยสายตา นักท่องเที่ยวกลุ่มชาติตะวันตกและประเทศในโซนยุโรปก็ยังเดินทางเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย
จนทำให้สัดส่วนแขกที่เข้าพักจากเดิมที่เคยเป็นจีน 80% และยุโรป 20% ก็สลับค่าย้ายฝั่งกัน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็ยังเดินทางมาพักบ้าง แต่ไม่ได้มากพอจะมีนัยสำคัญ
โดยกลยุทธ์ที่ Hotel Royal Bangkok ใช้ในช่วงนี้คือการมอนิเตอร์ยอดขายแบบเรียลไทม์บนช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ หากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าก็จะอัดโปรโมชันส่วนลดตามเทรนด์ราว 20-30% จากราคาปกติ
นอกจากนี้การที่โรงแรมมีรูฟท็อปซึ่งเป็นจุดชมวิว และเป็นโรงแรมแห่งเดียวในย่านเยาวราชที่มีสระว่ายน้ำ ก็นับเป็นข้อได้เปรียบที่พวกเขามีเหนือผู้ให้บริการโรงแรมเจ้าอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เจาะออนไลน์หาตลาดใหม่ ลุยแอปฯ สั่งอาหาร
จากการสำรวจด้วยสายตา เราพบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ในย่านเยาวราชยังคงมีพนักงานส่งอาหารจาก Grab, Foodpanda และ LINE MAN มารอรับอาหารกันกระจัดกระจายในทุกๆ ร้าน (สังเกตจากยูนิฟอร์มที่สวมใส่) นั่นแสดงว่าช่องทางออนไลน์เหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะพอสามารถเพิ่มช่องทางการขายให้กับพวกเขาได้
จากการให้ข้อมูลของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดในย่านเยาวราช แม้ว่าช่องทางการขายบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีจะยังเป็นสัดส่วนที่เทียบไม่ได้เลยกับช่องทางการขายแบบออฟไลน์ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็มองว่ามันน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะในยามที่คนไทยจำนวนมากไม่มั่นใจที่จะออกมาใช้ชีวิตในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน
ขณะที่ข้อมูลจาก Grab ประเทศไทยพบว่า ยอดการสั่งอาหารออนไลน์ของแกร็บฟู้ดผ่านแพลตฟอร์มในช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ โดยช่วงเวลาที่มักจะนิยมสั่งอาหารคือเที่ยงและเย็น แสดงให้เห็นเทรนด์ของผู้บริโภคไทยในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
ว่ากันว่าในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ หากมองให้รอบด้านเราอาจจะพบโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ บางทีนี่อาจจะเป็นโอกาสดีที่เหล่าผู้ประกอบการในย่านเยาวราชต้องเริ่มมองหากลยุทธ์การแก้เกมและการลุยทำตลาดใหม่
ทั้งนี้สิ่งที่บรรดาผู้ประกอบการต่างเรียกร้องเหมือนๆ กันคืออยากให้การแพร่ระบาดของโรคร้ายสงบลงโดยเร็ว ตลอดจนอยากให้ภาครัฐเข้ามาหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือพวกเขาในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยซบเซาเช่นนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์