เศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ฝั่งตลาดหุ้นไทยร่วงต่ำ 1,400 จุดมาแล้ว ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับไปแข็งค่า เรื่องนี้จะกระทบตลาดการเงินไทยอย่างไร
เมื่อ Fed ลดดอกเบี้ยฉุกเฉินในรอบ 12 ปี หลังวิกฤตการเงินซับไพรม์
เมื่อคืนนี้ (3 มีนาคม) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉินลง 0.5% มาอยู่ที่ 1-1.25% ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่ตามปกติจะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม 2563 โดยครั้งล่าสุดที่ Fed ลดดอกเบี้ยฉุกเฉินคือเดือนธันวาคม 2551 หรือช่วงวิกฤตการเงินซับไพรม์
ด้าน Fed แถลงการณ์ว่า การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า โรคโควิด-19 เป็นความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้การลดดอกเบี้ยฯ จะไม่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย แต่สามารถลดความตึงเครียดในฝั่งการเงินและเศรษฐกิจลงได้
อย่างไรก็ตาม การประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของ Fed ที่ลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (เดิมคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25%) กลับส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินอย่าง ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงทันทีหลังจากแถลงการณ์ โดยปิดที่ระดับ -2.8% ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดติดลบ 785.91 จุด (มีตลาดหุ้นยุโรปปรับขึ้น) ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น 3% มาอยู่ที่ระดับ 1,643 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ร่วงแตะระดับ 0.97% หรือ -0.18% จากวันก่อน
นอกจากนี้ส่วนของราคาทองคำไทย (รูปพรรณ) วันนี้อยู่ที่บาทละ 24,900 บาท เพิ่มขึ้น 550 บาท จากเมื่อวานนี้ที่อยู่บาทละ 24,350 บาท
SET เปิดตลาดลบ 16.54 จุด แต่ช่วงเช้าเด้งกลับมาที่ระดับ 1,380.06 จุด
ช่วงเช้าวันนี้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับลงสู่ระดับ 1,358.48 จุด ลดลง 16.54 จุด จากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงใกล้เที่ยงดัชนี SET Index เด้งกลับมาอยู่ที่ 1,380.06 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะตลาดรับรู้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระยะนี้แล้ว แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ด้าน บล. ทิสโก้ มองว่า SET Index วันนี้ยังแกว่งในทิศทางขยับขึ้น โดยมีแนวรับแรกที่ 1,365+/- จุด มีแนวรับต่อไปที่ 1,350-1,352 จุด ขณะที่แนวต้านแรกอยู่ที่ 1,380-1,385 จุด และแนวต้านต่อไปอยู่ที่ 1,395-1,400 จุด ทั้งนี้ มองปัจจัยบวก 3 ปัจจัย ได้แก่
- การลดดอกเบี้ยของ Fed จะส่งผลดีต่อหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยตรงจากเม็ดเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หนุนเงินทุนไหลเข้าตลาด EM ซึ่งรวมถึงประเทศไทย แต่ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดีหรือไม่ ซึ่งไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ
- ประเทศจีนมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อฯ สามารถควบคุมได้ มีจำนวนผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น
- การประเมินมูลค่าหุ้นไทยถือว่าน่าสนใจ รวมถึงผลตอบแทนจากเงินปันผลแตะระดับ 3.7% สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยหุ้นหลายตัวจะทยอยขึ้น XD ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ จะช่วยจำกัด Downside ของตลาด
Fed ลดดอกเบี้ย ส่งผลเงินบาทกลับแข็งค่า 31.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อตลาดเงินทั่วโลกมีการเคลื่อนไหว ส่งผลให้เช้าวันนี้ (4 มีนาคม) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนหน้า (3 มีนาคม) ที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดการเงินและการลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หลังการลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของ Fed และผลกระทบจากตลาดเงินโลก ส่งผลให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาทแข็งค่าขึ้นบางส่วน
ทั้งนี้ ระหว่างวันต้องติดตามทิศทางของตลาดทุนอย่างใกล้ชิด เพราะมีทั้งแรงต้านจากภาพตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ผันผวน อารมณ์ของนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยง ในขณะที่เห็นภาพรวมการอ่อนค่าของดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ธนาคารกลางทั่วทั้งเอเชียจะสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม (เช่น การลดดอกเบี้ยนโยบาย) เพื่อช่วยหนุนตลาด น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนทั้งกำลังซื้อ และลดต้นทุนทางการเงินของเศรษฐกิจเอเชียลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ 31.25-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะทรงตัวได้ แต่ก็แกว่งตัวในกรอบกว้าง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า สภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับต่ำ จึงต้องระวังการปรับตัวขึ้นลงเร็วระหว่างวัน ขณะที่โดยรวม โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยตาม Fed ก็มีเพิ่มมากขึ้น มากอย่างมีนัยสำคัญทันที”
ธปท. เตรียมเครื่องมือการเงินพร้อมใช้ หลัง Fed ลดดอกเบี้ยฯ
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กรณี Fed ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแบบฉุกเฉิน 0.5% เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นว่า แต่ละประเทศพิจารณาดำเนินมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม
โดย ธปท. ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 63 เพื่อช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และกำลังติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงพร้อมดำเนินการนโยบายตามความเหมาะสม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล