กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DTC) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งผลประกอบการของบริษัทในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีรายรับรวมทั้งสิ้น 6,117 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนราว 9.9% (รายได้ปี 2561: 5,565 ล้านบาท) ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 10.3%
โดยสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันของดุสิตกว่า 62% มาจากธุรกิจโรงแรมอีก 7% และ 6% มาจากธุรกิจอาหารและธุรกิจการศึกษาตามลำดับ ที่เหลืออีก 25% มาจากธุรกิจอื่นๆ
แม้ผลประกอบการจาก ‘ธุรกิจโรงแรม’ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทจะลดลงเนื่องจากการปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในช่วงต้นปี และบริษัทมีค่าใช้จ่ายจากการรับพนักงานโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ไว้ โดยได้กระจายพนักงานไปธุรกิจใหม่ที่บริษัทขยายการลงทุนตั้งแต่ต้นปี ได้แก่ โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ, ธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานท่ี (Dusit Events), ธุรกิจรับทำความสะอาด (Dusit on Demand) และธุรกิจร้านอาหารบ้านดุสิตธานี ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนกันยายน
แต่สาเหตุที่ผลประกอบการของบริษัท ดุสิตธานี ในปี 2562 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ก็เป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรจากการขายทรัพย์สินหรือเงินลงทุน และมีกำไรท่ีเพิ่มขึ้นจากธุรกิจท่ีลงทุนใหม่
ขณะที่ในปี 2563 นี้ ดุสิตธานีระบุว่า จะเป็น ‘ปีแห่งความท้าทาย’ สำหรับบริษัทและธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา, ปัจจัยค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากตัดสินใจยกเลิกการจองห้องพักในช่วงไฮซีซัน
โดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5-6 เดือนกว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะเริ่มทยอยพลิกฟื้น และน่าจะเร่ิมเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเท่ียวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน ส่งผลให้บริษัทต้องปรับแผนการตลาดของธุรกิจโรงแรมโดยจัดแคมเปญและโปรโมชันเน้นตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวของรายได้และกำไร ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงสร้างทางการเงินด้วยการจัดโครงสร้างทรัพย์สินให้มีศักยภาพมากขึ้น เช่น การขายโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์
ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี หรือ DREIT
“การจัดการบริหารทรัพย์สินและเงินลงทุนเพื่อรับรู้กำไร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ การลงทุนเพื่อรักษาแบรนด์และต่อยอดทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อช่วยเติมพอร์ตให้รายได้ของกลุ่มดุสิตธานีมีความหลากหลายและสร้างสมดุลมากยิ่งขึ้น
“ปีที่ผ่านมา เราได้ใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวด้วยเงินจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท เช่น ลงทุนในโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ และโรงแรมอาศัย
ไชน่าทาวน์ การเปิดให้บริการร้านอาหารบ้านดุสิตธานี การให้บริการน้ำสปา การขยายธุรกิจบริหารจัดการวิลล่าระดับหรู Elite Havens รวมถึงการจัดตั้งบริษัท
ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อการขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอาหาร”
ด้านบิ๊กโปรเจกต์โครงการมิกซ์ยูส ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ นั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรื้อถอนอาคารโรงแรมและอาคารรอง โดยคาดว่ากระบวนการรื้อถอนและตอกเสาเข็มน่าจะแล้วเสร็จตามแผนในเดือนมิถุนายนและธันวาคมนี้ตามลำดับ โดยมีแผนจะเริ่มขายอาคารท่ีพักอาศัย หลังจากก่อสร้างสำนักงานขายและห้องชุดตัวอย่างเสร็จในช่วงกลางปี 2563
ส่วนกำหนดการแล้วเสร็จของโครงการยังคงไว้ที่การเปิดโรงแรมในต้นปี 2566 ตามด้วยศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานในปลายปี 2566 และอาคารที่พักอาศัยในกลางปี 2567
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า