ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2563) ปิดตลาดที่ระดับ 1,366.41 จุด ลดลง 72.69 จุด หรือ 5.05% มูลค่าการซื้อขาย 93,189 ล้านบาท โดยดัชนีที่ระดับ 1,366.41 จุด ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ขณะที่การปรับลดลงของดัชนีภายในวันเดียวถึง 72 จุด ถือเป็นการปรับลดลงแรงมากสุดในรอบ 13 ปี และหากนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาแล้ว 238 จุด หรือลดลง 14.83%
สาเหตุที่นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพราะในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น หลังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ปกปิดข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ จนมีความเสี่ยงที่จะเป็น Super Spreader เหมือนกรณีของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการควบคุม
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก หลายหน่วยงานเศรษฐกิจเริ่มปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เหลือเพียง 1-1.8% รวมถึงเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่โบรกเกอร์ทยอยหั่นคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลงมาอยู่ที่ระดับ 85-87 บาทต่อหุ้น
SET Index หลุด 1,400 จุด
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงหลุด 1,400 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ที่ดัชนีอยู่ที่ 1,261 จุด เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 14.83% แต่ยังมีกลุ่มหุ้นที่เป็นบวกได้แก่ กลุ่มของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน (Home & Office Products) บวก 2.35%, กลุ่มกระดาษและวัสดุการพิมพ์ (Paper & Printing Materials) บวก 1.05%, หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components) บวก 0.54%, หุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (Finance) บวก 5.66% และหุ้นเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) ที่ปรับตัวลดลง 3.23% น้อยกว่าตลาด
ตลท. หวังเชื้อไวรัสระบาดจบไว หุ้นไทยรีบาวด์เร็ว
ภากร กล่าวว่าโควิด-19 ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ แต่หากยุติได้เร็ว จะทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้เร็วเช่นกัน เห็นได้จากเหตุการณ์ในอดีต เช่น โรคซาร์ส ตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวได้ในเวลา 1.5 เดือน เหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์สามารถฟื้นตัวได้ 2 เดือน และเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองสามารถฟื้นตัวได้ใน 3 เดือน นอกจากนี้เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากไทยยังมีหุ้นที่น่าสนใจอยู่ในดัชนี MSCI มากถึง 40 ตัว
“เรามีเหตุการณ์ที่ผ่านมาเยอะมาก และที่เคยเห็นระยะเวลาตลาดหุ้นรีบาวด์ ตลาดเรารีบาวด์ได้รวดเร็ว หากสิ่งเหล่านั้นไม่กระทบภาคการผลิต เช่น โรคซาร์ส ความขัดแย้งราชประสงค์ หรือชุมนุมการเมือง ซึ่งเรามีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สามารถรีบาวด์ได้ในความเร็วที่แตกต่างกัน” ภากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ให้ติดตามการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ว่าจะส่งงบล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือไม่ โดยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนส่งงบมาแล้ว 40% หรือ 330 หลักทรัพย์ จากทั้งหมด 700 กว่าหลักทรัพย์
ASP จ่อลด EPS ปีนี้เหลือ 85-87 บาท
ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังไม่สดใสหลังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว กดดันผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศปี 2562 ยังมีกำไรสุทธิต่ำกว่าปี 2561 ซึ่งในปีนี้คาดว่าการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS) จะติดลบเมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยฝ่ายวิจัยจะปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนปีนี้ลงอีก แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขได้ ต้องรอดูผลกระทบจากโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศควรอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อยจากผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้กำไรต่อหุ้น (EPS) เดิมคาดอยู่ที่ 95.6 บาท ซึ่งในปีนี้มองกรอบที่ 85-87 บาท
ด้านโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังพึ่งพาภาคบริการ ส่งออก และท่องเที่ยว ซึ่งยังขาดการปฏิรูปด้านเทคโนโลยี โดยตลาดหุ้นไทยยังไม่มีหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ ส่วนการเมืองไทยที่ยังเป็นปัจจัยกดดัน และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากเกินไป หลังธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าลง ส่งผลให้เงินไหลเข้าลงทุนในตราสารหนี้มากเกินความต้องการ ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป
“การเมืองในช่วงนี้ตัดสินกันที่ฝีมือการบริหาร อะไรที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฟื้นต้องรีบทำ ความเชื่อมั่นจะกลับมาได้แต่ต้องใช้เวลา มองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่แก้ไขปัญหาได้แค่ชั่วคราว เช่น การที่รัฐบาลเข้ามาแจกเงิน เพราะไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะยาว เหมือนกับการแจกยาแก้ปวดหัว บรรเทาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น “ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
แนะนำให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อ, หุ้นสื่อสารที่อิงกับประเด็น 5G
ไทยวุ่นพบผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูล
โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ชี้แจงกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ว่าเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ป่วยชายไทยมาด้วยอาการไข้ ไอ ผู้ป่วยปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เบื้องต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล
โดยเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 แพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ได้เข้าตรวจอาการผู้ป่วย และสอบถามประวัติการเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ผู้ป่วยปฏิเสธ และช่วงสายผู้ป่วยได้เปิดเผยประวัติว่าเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง
เมื่อผู้ป่วยแจ้งประวัติ โรงพยาบาลได้ติดต่อสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ซึ่งได้ระบุว่าผู้ปวยรายนี้เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง (Patient Under Investigation) และย้ายผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) และส่งตรวจ PCR for COVID-19 ทันที และผลตรวจ PCR เบื้องต้น พบเชื้อ COVID-19 (Detected) โรงพยาบาล บี.แคร์ ได้แจ้ง สปคม. ทันที ปัจจุบันผู้ป่วยได้รับการส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากการที่ผู้ป่วยปกปิดและปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ส่งผลให้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ในกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เสี่ยงต่อการติดโควิด-19 จำนวน 30 คน ซึ่งโรงพยาบาลร่วมกับ สปคม. ได้ดำเนินการให้บุคลากรที่สัมผัสกับผู้ป่วยทุกคน ได้รับการตรวจ PCR for COVID-19 และตรวจเลือดเพื่อหา Antibody ของไวรัส เบื้องต้นผลตรวจ PCR for COVID-19 ของบุคลากรทุกคนที่สัมผัสกับผู้ป่วยเป็นลบ คือไม่พบเชื้อไวรัส แต่ยังต้องตรวจซ้ำในช่วงเวลา 7-14 วัน จากนั้นให้บุคลากรดังกล่าวหยุดงาน (Self Quarantine) สังเกตอาการที่บ้าน และปฏิบัติตามแนวทางของกรมควบคุมโรค และทำการ Deep Clean ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และงดรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย
“เบื้องต้นผลการตรวจ PCR for COVID-19 ของบุคลากรโรงพยาบาลทั้ง 30 คน ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส”
จึงขอความร่วมมือผู้รับบริการทุกท่าน แจ้งประวัติที่เป็นความจริง เพื่อเข้าสู่กระบวนการการคัดกรอง การวินิจฉัย การแยกโรคตามมาตรฐาน ดังนี้
1.หากท่านมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยงตามประกาศของกรมควบคุมโรค หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศในกลุ่มดังกล่าว ร่วมกับมีอาการไข้ ไอ จาม อ่อนเพลีย ให้แจ้งที่จุดคัดกรองของโรงพยาบาล ซึ่งได้จัดให้มีทุกประตูเข้าออกของโรงพยาบาล
2.โรงพยาบาลจะนำท่านไปยังห้องตรวจแยกโรค แรงดันลบ (Negative Pressure) ทันที และติดต่อประสาน สปคม. เพื่อให้ สปคม. พิจารณาว่าเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง (Patient Under Investigation) หรือไม่
3.หากเข้าเกณฑ์ ท่านจะได้รับการตรวจ PCR for COVID-19 และพักรักษาตัวในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ของโรงพยาบาล เพื่อรอผลตรวจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง
4.หากผลตรวจพบเชื้อ ทาง สปคม. จะดำเนินการรับตัวท่านไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภาครัฐต่อไป
การปกปิดข้อมูลเป็นผลเสีย มีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม ต่อผู้อื่น และต่อครอบครัวของท่านเอง
‘อนุทิน’ ชี้ไทยเสี่ยงพบ Super Spreader
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงพยาบาล บี.แคร์ ประกาศพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 3 คน มีความเสี่ยงเป็น Super Spreader เพราะผู้ป่วยตอนแรกก็ไม่ยอมบอกว่ามีประวัติเดินทาง และหากคุมไม่อยู่ เชื้อก็จะแพร่ได้ เหมือนกรณีของเกาหลีใต้
นอกจากนี้จะออกประกาศขอให้บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกกรม กอง อย่าเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นก็ต้องปฏิบัติตัวป้องกันโรค ทั้งนี้ ผมขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานเลื่อนการประชุมไปประเทศที่กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการไปเที่ยว การไปพักผ่อน ขอให้เลื่อนไปก่อน หรืออย่าไปซื้อพวกโปรโมชันตั๋วถูก เพราะค่าตั๋วถูก แต่ค่ารักษาแพงไม่คุ้มกัน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาอยู่นั้น ขณะนี้หายดีกลับบ้านได้อีก 2 คน ทำให้อัตราการหายป่วยเป็น 24 ราย
ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาฯ พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่ม 3 ราย อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เป็นชายไทยอายุ 65 ปี มีประวัติเดินทางไปเที่ยวฮอกไกโด ที่ญี่ปุ่น ส่งรักษาที่สถาบันโรคทรวงอก รายที่ 2 เป็นภรรยาที่ไปเที่ยวฮอกไกโดด้วยกัน รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และรายที่ 3 เด็กอายุ 8 ขวบ เป็นหลานของผู้ป่วยทั้ง 2 คนรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเช่นกัน และขณะนี้ สธ. กำลังติดตามคนที่เดินทางไปในเที่ยวบินเดียวกัน และทริปเดียวกัน
“แม้จะพบเพิ่ม 3 ราย ก็ยังอยู่ระยะ 2 ไม่ถึงระยะ 3 ซึ่งยังไม่ถึงขั้น Super Spreader โดยไม่ได้แพร่เชื้อในประเทศไทย แต่ยังเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เราต้องเน้นการควบคุมเข้ม เราตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนคนต่อวัน เพื่อหากลุ่มเสี่ยงมากขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว
ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สั่งลูกเรือหยุดงาน 14 วัน
รายงานข่าวจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับทราบ กรณีผู้โดยสารเที่ยวบิน XJ 621 ซัปโปโร-กรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิด-19 และประสานต่อกรณีดังกล่าว พร้อมให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ข้อมูลผู้โดยสารต่อด่านควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
ในส่วนของสายการบินได้ให้ลูกเรือในเที่ยวบินดังกล่าวหยุดงาน 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ เฝ้าระวัง และเข้าไปตรวจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สำหรับเที่ยวบินที่ให้บริการ สายการบินได้มีการพ่นสเปรย์และอบฆ่าเชื้อ พร้อมทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานหลังกลับจากให้บริการเป็นประจำอยู่เเล้ว ซึ่งได้เพิ่มมาตรการพ่นสเปรย์ และอบฆ่าเชื้อกับเครื่องบินลำดังกล่าวอีกครั้งแล้วอย่างเข้มข้น
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์