1,491,460 คน คือ จำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลใน พ.ศ. 2559
หรือเฉลี่ยทุกๆ 1 วัน จะมีผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 4,086 คน
ในจำนวนนั้นมีทั้งที่ประสบอุบัติเหตุและมีอาการป่วยเฉียบพลันโดยไม่คาดฝัน
ทุกวินาทีเป็นวินาทีชีวิต ถ้าโชคร้ายรถพยาบาลมาไม่ทัน หรือการรักษาบนรถพยาบาลขาดแคลนแพทย์ผู้ชำนาญ เรื่องนี้อาจจบลงด้วยโศกนาฏกรรม
เรื่องที่ไม่ขำคือ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับการแพทย์ฉุกเฉินไทยที่กำลังขาดแคลนบุคลากรทั้งระบบ
ปัจจุบันเทคโนโลยี ‘ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์’ หรือ AOC ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยกำลังจะเข้ามาแก้ปัญหาข้างต้น
อยุธยา, เชียงราย, ปราจีนบุรี, ภูเก็ต, กรุงเทพฯ (ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) และขอนแก่น คือ 6 จังหวัดนำร่องที่นำระบบ AOC มาทดลองใช้
‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ ที่เคยเป็นอุปสรรคจะถูกทำลายด้วยระบบสื่อสารในยุค 4.0 ที่เชื่อมโยงทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต
รถพยาบาลที่เคยล่าช้าจะไปถึงผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพราะ GPS จะชี้ตำแหน่งว่า รถพยาบาลคันใดอยู่ใกล้และเหมาะที่จะไปยังจุดเกิดเหตุ
ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดมากกว่าเดิม เพราะข้อมูลทุกอย่าง เช่น สัญญาณชีพต่างๆ ความดันโลหิต ฯลฯ บนรถพยาบาลจะส่งไปที่โรงพยาบาลและศูนย์สั่งการแบบเรียลไทม์ เพื่อให้หมอวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการรักษา
จนถึงขั้นตอนการเตรียมห้องก่อนผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งจากเดิมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เพราะต้องเอาคนไข้เก่าออก กว่าหมอจะมา ฯลฯ แต่ปัจจุบัน GPS และระบบสื่อสารจะบอกล่วงหน้าทั้งตำแหน่งรถและอาการของผู้ป่วย ทำให้ทีมแพทย์เคลียร์ห้องได้ก่อนโดยไม่ต้องรอช้า
“เหมือนหมออวตารมาอยู่บนรถพยาบาลตลอดเวลา”
นพ. รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น ที่ผลักดันให้มีการทดลองใช้ AOC ในรถพยาบาลและโรงพยาบาล 14 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น เปรียบเปรยให้เห็นภาพ
ถ้าวันนี้ AOC อยู่ในช่วงทดลองใช้ แล้วระบบแพทย์ฉุกเฉินของไทยวันนี้มีอะไรบ้าง?
- เบอร์ฉุกเฉิน 1669 หากมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน จะส่งรถพยาบาลที่ใกล้ที่สุดไปรับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ER Call Center ตั้งศูนย์ในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลระดับจังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาหมอระดับอำเภอที่ต้องรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน
โดยทั้งสองระบบที่ใช้อยู่เดิมสร้างมาเพื่อถมช่องว่าง 2 จุดที่สำคัญในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน คือ ‘ความเร็ว’ และ ‘บุคลากร’
ซึ่ง AOC ที่เข้าถึงการรับ-ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ตอบโจทย์ทั้ง 2 จุดที่ว่าได้ดีกว่า และคำว่า ‘ดีกว่า’ ที่ว่า หมายถึงอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง
นพ. รัฐระวี เกิดที่ขอนแก่น เรียนที่ขอนแก่น และทำงานเป็นแพทย์แผนกฉุกเฉินที่ขอนแก่น เลือกเรียนแพทย์ฉุกเฉิน เพราะ ‘ประเทศไทยขาด ไม่มีคนทำ’
นพ. รัฐระวีบอกว่า คนส่วนใหญ่มักเลือกเรียนเป็นหมอเฉพาะทาง แต่เขาคิดว่าผู้ป่วยจะรอดหรือไม่ นอกจากปลายทางแล้ว สำคัญอยู่ที่จุดเริ่มต้น
“ถ้าคนไม่รอด แม้หมอเฉพาะทางจะเก่งแค่ไหน ก็ไม่ได้รักษาคนไข้”
ดังนั้น แพทย์ฉุกเฉินจึงเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์เฉพาะทาง
“ถ้าเราไปถูกจุด ไปเร็ว ไปทัน คนไข้จะดีให้เห็นต่อหน้าเลย อันนี้เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ให้เราทำงานต่อ”
ปีนี้ นพ. รัฐระวี อายุ 35 ปี ทำงานมาสิบกว่าปี เห็นความจริงที่ทำตามตำราได้ยาก เช่น การจะรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินบนรถพยาบาลต้องมีแพทย์กำกับ
แต่ความจริงคือ หมอไม่พอ ต้องให้นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หรือ ‘พาราเมดิก’ (Paramedic) ทำการรักษาเบื้องต้น (ภายใต้คำสั่งหมอ)
ทั้งๆ ที่แพทย์ควรจะเป็นผู้รักษาและยื้อชีวิตผู้ป่วยที่บางกรณีอยู่ในภาวะคับขัน
“ประเทศไทยต้องการแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างน้อย 2,000 คน แต่ตอนนี้เรามีไม่ถึง 1,000 คน”
พอหมอไม่พอ ภาระงานก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะงานห้องฉุกเฉินที่ควรจะตรวจรักษาเฉพาะผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
ได้กลับกลายเป็นห้องตรวจ 24 ชั่วโมง
“ความแออัดในห้องฉุกเฉินเกิดขึ้นเพราะคนที่ไม่ฉุกเฉินมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน” นพ. รัฐระวีบอกว่า เรื่องนี้เกิดจากความเข้าใจผิดของประชาชน ระบบการรับรักษาผู้ป่วยที่จำกัดและไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง
นพ. รัฐระวีเล่าว่า โรงพยาบาลที่สังกัดจะเปิดบริการห้องตรวจผู้ป่วยทั่วไปจนถึง 4 โมงเย็น แต่ผู้ป่วยหลายคนมักมาหาหมอตอนดึกๆ เพราะไม่อยากลางาน บางคนทำงานกะดึก เข้างานตีหนึ่ง อาจมาหาตอนเที่ยงคืน เพราะถ้าเข้างานช้าจะถูกเจ้านายต่อว่า
“โรงพยาบาลรัฐของเราไม่ได้เปิดห้องตรวจ 24 ชั่วโมง เพราะทรัพยากรจำกัด แต่ผมเข้าใจบริบท บางคนเลิกงานเย็น ไม่อยากลางานก็มาตรงนี้”
ถามว่าสิ่งนี้ควรเกิดขึ้นไหม ถ้าให้คิดแทน นพ. รัฐระวีก็คงตอบว่า ‘ไม่’
“การมานั่งตรวจคนไข้เจ็บคอ 1 คน ผมใช้เวลาอย่างต่ำ 15 นาที ถามว่า 15 นาทีที่มีอยู่ ผมควรเอาเวลาไปดูคนไข้หัวใจขาดเลือด แต่ความจริงคือเวลาคนไข้มากันเยอะ ผมไม่สามารถดูคนเดียวได้ โดยไม่สนใจคนไข้ที่อยู่ข้างหลัง”
นพ. รัฐระวีบอกว่า สิ่งที่ทำได้คือ ‘วิ่งมาเคลียร์’ ให้ผู้ป่วยที่ไม่เป็นอะไรมากออกไปก่อน เพื่อแพทย์จะได้มีเวลาดูผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ซึ่งต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นเพื่อให้รอดชีวิต
เวลาที่ผู้ป่วยมาเยอะๆ คุณหมอจัดการสภาพจิตใจตัวเองอย่างไร?
“พูดตรงๆ ฮะ หลักพุทธศาสนา ต้องปล่อยวาง”
พอคนล้น พยาบาลก็จะเริ่มเครียด หมอก็จะเริ่มเครียด ผู้ป่วยก็จะเครียด ผู้ป่วยที่รอก็จะเครียด แล้วก็เริ่มร้องเรียนบริการ
“ผู้ป่วยที่รอได้ ผมจะบอกว่า คุณต้องรอนะ ถ้าเขาโกรธ ผมก็ให้เขาโกรธไป ถามว่ามีอารมณ์ไหม ตอนที่จบใหม่ๆ เรามี เพราะเรายังเด็ก แต่พอโตขึ้น เราก็รู้ว่าหงุดหงิดไปไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แถมทำให้สมาธิต่อคนไข้ฉุกเฉินเสียด้วย”
ซึ่งในการปล่อยวางนั้น คุณหมอรัฐระวีก็พยายามหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหา
โดยมี AOC หรือ ‘ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์’ คือคำตอบ
กิจกมน ไมตรี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด นักพัฒนานวัตกรรมระบบ AOC บอกว่า เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในไทยก็นำเข้ามาใช้ แต่ปัญหาที่พบคือ ราคาค่อนข้างสูง และระบบที่ออกแบบอาจไม่พอดีกับสภาพสังคมไทย
ดังนั้น การพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ด้วยฝีมือคนไทยจะช่วยแก้ไขปัญหา และช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทยในเรื่องนวัตกรรม
“ทุกอย่างเราทำเองหมด ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์จนถึงซอฟต์แวร์ เราคุยกับหมอจนได้อินไซต์ เราทำอยู่บนพื้นฐานที่มีอยู่จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการแพทย์ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์”
สิ่งที่กิจกมนหวังไว้คือ การที่ระบบ AOC ที่เขาร่วมคิดค้นกับแพทย์ฉุกเฉินไทยจะถูกนำไปใช้ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ
ถามว่าจุดขายของระบบ AOC อยู่ไหน?
หนึ่ง ราคาถูกกว่าเทคโนโลยีนำเข้าเกินครึ่ง (เพราะของผลิตเองถูกกว่าของนำเข้า)
สอง ตอบโจทย์ความต้องการของแพทย์ไทยได้มากกว่า (เพราะแพทย์ช่วยพัฒนาระบบ)
สาม ปรับปรุงและพัฒนาระบบได้ตลอดเวลา (เพราะคนไทยเป็นคนพัฒนา)
“สำคัญมากกว่านั้นคือมันมีข้อมูลอยู่ในระบบ ไม่ว่าข้อมูลอัตราการเสียชีวิต ระยะเวลารอคอย ฯลฯ ข้อมูลแต่ละจุดพวกนี้ เราเอามาวิเคราะห์ได้ว่า เราแก้ถูกจุดไหม ปัญหาอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะนำมาอุดรูรั่วและพัฒนาในการปฏิบัติงานจริง”
นพ. รัฐระวีให้ความเห็นเพิ่มเติมในมุมมองแพทย์ฉุกเฉิน
ถ้าการนำระบบ AOC มาใช้ในระบบแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศไทยคือความฝันอันสูงสุดของคนพัฒนาระบบอย่างกิจกมนและแพทย์ฉุกเฉินอย่าง นพ. รัฐระวี
ตอนนี้ความจริงของระบบ AOC อยู่ตรงไหน?
ถ้ายังจำได้เมื่อตอนต้น มีข้อมูลระบุว่า ระบบนี้ ‘ทดลองใช้’ ใน 6 จังหวัด ถามว่าทำไมต้องทดลองใช้?
นพ. รัฐระวี ตอบว่า “มันไม่มีของฟรีในโลก” และภาครัฐมีงบประมาณจำกัด
“ตอนนี้คือการทดสอบ ถ้าเวิร์ก เราถึงจะนำเสนอผู้มีอำนาจ เราต้องทำให้เขาเห็นก่อน แล้วถ้าเขาเห็นว่าระบบมีความสำคัญ งบประมาณบางส่วนก็จะลงมา”
เมื่องบประมาณคือไม้วิเศษที่จะเสกฝันที่มีต่อระบบ AOC ให้เป็นจริงได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนที่ถือไม้วิเศษนี้จะพร้อมเสกเมื่อไร เพราะในแต่ละปีมีโครงการเสนอเข้ามาไม่น้อย อีกทั้งยังมีโครงการก่อนหน้าที่รอต่อคิวอนุมัติ
เมื่อพลังมีจำกัด ผู้มีอำนาจก็อาจไม่สามารถเร่งรัดให้ทุกสิ่งเกิดได้ตามใจทุกคน
ถ้าระบบ AOC ยังไม่เกิดในเร็ววัน ความจริงที่แพทย์ฉุกเฉินต้องเจอคือการขาดแคลนบุคลากร
งานล้นคน ความเร่งรีบ และความเครียด
มองไปในอนาคตอันใกล้ คิดว่าสถานการณ์ขาดแคลนบุคลากรจะดีขึ้นไหม?
“ผมก็ไม่กล้าตอบนะ มันขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และนโยบายของภาครัฐ ปัจจุบันถามว่าสาธารณสุขพยายามดันให้หมออยู่ที่ชุมชนไหม ก็พยายามนะ แต่สู้แรงของธุรกิจไม่ได้”
นพ. รัฐระวีบอกว่า ในฐานะเพื่อนร่วมงาน เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ
“ผมคิดว่าพยาบาลน่าสงสารที่สุด… เพราะต้องทำทุกอย่าง แล้วเงินเดือนก็น้อยมาก การทำงานภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น เอกชนให้ค่าตอบแทนมากกว่า งานเบากว่า เครียดน้อยกว่า มันทำให้เขาไปโดยที่เราไม่สามารถเถียงได้เลย”
กระแสสังคมที่ทำให้ธุรกิจสถาบันเสริมความงามเฟื่องฟู ก็ทำให้คนเลือกเรียนหมอเฉพาะทางด้านนั้น เพราะ ‘เงินดี ทำงานเบา โอกาสโดนฟ้องน้อย’
คุณหมอมีหวั่นไหวบ้างไหม?
นพ. รัฐระวีตอบว่า ตัวเองโชคดีที่มีภรรยาเป็นหมอเหมือนกัน แม้จะอยู่โรงพยาบาลรัฐทั้งคู่ แต่รายได้สองคนรวมกันนั้นพออยู่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องขวนขวาย
“แฟนผมทำงานบริการอย่างเดียว แล้วก็ช่วยดูลูก แล้วเขาก็ปล่อยให้ผมมาทำงานด้านการพัฒนา
“วันนี้ประเทศไทยเรายังไม่รวยมาก แต่เราต้องเดินหน้าต่อ ประชาชนต้องได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน”
ถ้าวันหนึ่งมีการใช้ระบบ AOC ขึ้นมาจริงๆ คิดว่าชีวิตคุณหมอจะเป็นอย่างไร?
“ยุ่งขึ้นครับ” นพ. รัฐระวียิ้ม “แต่ว่าคนไข้จะดีขึ้น”
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
- 120,000 ครั้งต่อปี คือ จำนวนที่มีการออกให้บริการฉุกเฉินในจังหวัดขอนแก่น (ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย) และเป็นตัวเลขที่เยอะเกินกว่าศักยภาพที่แพทย์จะรับมือไหว
- ป่วยแค่ไหน เรียกว่า ‘ฉุกเฉิน’ ถ้าเจ็บคอมา 3 วัน ในความเห็นของแพทย์จะมองว่าไม่ฉุกเฉิน เพราะกรณีที่แพทย์ถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินคือคนที่ป่วยภาวะรุนแรงถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น มีของติดคอ, หลอดลมขาด, ปอดมีปัญหา เพราะปอดเป็นตัวรับออกซิเจน ถ้ามีปัญหาจะเสียชีวิต, ความดันเลือดตก เสียเลือดมาก ถ้าไม่ช่วยจะเสียชีวิต และผู้ป่วยที่มาโดยรถพยาบาล