ในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ เราเจ็บปวดได้ขนาดไหน และค้นพบความ ‘สวยงาม’ ได้มากเท่าไร
Pain and Glory อาจจะไม่ใช่หนังที่ให้คำตอบได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยความรู้สึกตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่แสนสงบ ก็เพียงพอที่จะทำให้เราอยากหลับตานอนพักเงียบๆ แล้วเปิดกล่องความทรงจำ ค้นหาคำตอบนั้นด้วยตัวเองขึ้นมา
ผลงานลำดับที่ 21 ของผู้กำกับชาวสเปน เปรโด อัลโมโดวาร์ (All About My Mother, Talk to Her, Volver ฯลฯ) ที่หยิบเอาความทรงจำส่วนหนึ่งในชีวิตมาร้อยเรียง ผสมผสานกับการเยียวยาบาดแผลในหัวใจ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านศาสตร์ของภาพยนตร์ที่หล่อหลอมจนกลายเป็นตัวเขาในทุกวันนี้
นำเสนอผ่านตัวละคร ซัลวาดอร์ มัลโย (รับบทโดย อันโตนิโอ แบนเดอรัส) ผู้กำกับรุ่นเก่าที่ร้างลาจากการทำหนังเป็นเวลา 32 ปี หลังจากผลงานสุดท้ายประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลาที่ผ่านมาไปกับความเจ็บปวดทางกายจากโรคเรื้อรังทางกระดูก ที่ทำได้เพียงกินยาจำนวนมากเพื่อช่วยบรรเทาและทำให้ข่มตานอนหลับได้ในแต่ละวัน
รวมทั้งความเจ็บปวดทางใจจากบาดแผลและความทรงจำในอดีตที่ทำได้เพียงนึกถึง และบันทึกเอาไว้เป็นเรื่องสั้น, บทความ, บทละคร, บทภาพยนตร์ เสมือนไดอะรีส่วนตัวที่ไม่เคยหยิบฉวยเอากลับมาใช้ เพราะเขาคิดลึกๆ อยู่เสมอว่า ตัวเขาเองไม่อาจย้อนกลับไปทำสิ่งเหล่านั้นได้อีกแล้ว
กระทั่งวันหนึ่งมีคนอยากนำผลงานของเขากลับมาฉายอีกครั้ง และทำให้ซัลวาดอร์ต้องกลับมาพบกับ อัลแบร์โต (รับบทโดย อาเซียร์ เอตเซียนเดีย) นักแสดงนำที่เคยทะเลาะกับเขาอย่างหนักถึงขนาดไม่ยอมพบหน้ากันมาตลอด 32 ปี
อาเซียร์ เอตเซียนเดีย, เปรโด อัลโมโดวาร์ และอันโตนิโอ แบนเดอรัส
การกลับมาพบกันอีกครั้งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้ซัลวาดอร์ได้ย้อนกลับไปในโลกแห่งความทรงจำ ดำดิ่งลงไปลึกที่สุด แม้บางช่วงนำมาซึ่งความเจ็บปวด แต่ก็นำไปสู่กระบวนการเยียวยา รักษาบาดแผลเรื้อรังที่อักเสบอยู่ในหัวใจมาเป็นเวลานาน
หนังดำเนินเรื่องอย่างเนิบช้า เรียบง่าย (จนเราไม่รู้สึกว่า Pain and Glory เป็นหนัง ‘ดราม่า’ ด้วยซ้ำ) ที่อาจชวนให้หลับได้ในช่วงแรกๆ แต่ก็ได้องค์ประกอบภาพ การจัดวางแสง สี ฉากหลัง สวยงาม ละเมียดละไม ที่เป็นเอกลักษณ์ของเปรโด อัลโมโดวาร์ รวมทั้งการร้อยเรียงบทสนทนาที่เคยกระจัดกระจาย ค่อยๆ คลี่คลายในตอนท้าย ช่วยให้เราติดตามการเปิดกล่องความทรงจำของเขาไปได้จนจบ
ซึ่งต้องยกความดีความชอบอีกหลายส่วนให้กับนักแสดงนำอย่าง อันโตนิโอ แบนเดอรัส ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของซัลวาดอร์ทั้งช่วงเวลาน่ารัก, มีความสุข, เจ็บปวด, เคลิบเคลิ้ม, เมามายได้อย่างงดงาม สมฐานะนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และผู้เข้าชิงรางวัลเดียวกันนี้บนเวทีออสการ์ 2020
ถ้าเทียบกับนักแสดงที่โดดเด่นมากๆ ในปีนี้อย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ จาก Joker, อดัม ไดรเวอร์ จาก Marriage Story หรือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ จาก Once Upon a Time… in Hollywood เราจะเห็นจุดร่วมอย่างหนึ่งคือ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ที่เจ็บปวด รุนแรง ที่ชัดเจนเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปถึงจุดสูงสุด
แต่การแสดงของอันโตนิโอ แบนเดอรัสผ่านตัวละครซัลวาดอร์นั้นเต็มไปด้วยความเรียบง่าย (มีฉากที่โมโหอยู่บ้าง แต่น้อยมาก) ไม่หัวเราะร่าเมื่อเมามาย, ไม่ฟูมฟายแม้เจ็บปวด มีเพียงร่างกายที่สั่นเทาเพียงเบาๆ, น้ำที่คลอเบ้าจนตาแดงก่ำ และรอยยิ้มน้อยๆ เผยให้เห็นความหย่อนคล้อยที่หางตาเมื่อความสุขเข้ามาปะทะ
เป็นความเรียบง่ายที่ตอกย้ำให้รู้ว่า แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นใครบางคนหรือความทรงจำบางอย่าง ที่จะกลายเป็นความสวยงามเมื่อมาถึงวันและเวลาที่เหมาะสมรออยู่ตรงนั้นเสมอ
อาจจะหมายถึงการได้ดูแลใครสักคน, ได้นั่งลงบนเก้าอี้ตัวเก่า, ได้ร่วมงานกับคนที่เคยทะเลาะ, ได้พบเจอกับอดีตคนรัก, ได้จากลาด้วยความเข้าใจ, ได้ออกเดินทางตามหาเศษเสี้ยวความทรงจำในอดีต หรือได้กลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักอีกครั้ง
หากการทำหนังคือความสวยงามที่ผู้กำกับอย่าง เปรโด อัลโมโดวาร์ ใช้เยียวยาความเจ็บปวดในชีวิต
แล้วความสวยงามที่ช่วยปลอบประโลมในทุกความเศร้าของเราคืออะไร
อาจจะเป็นความรัก, ครอบครัว, ความฝัน, หน้าที่การงาน ฯลฯ หรืออาจจะเป็น ‘บางสิ่ง’ ที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไร
แต่อย่างน้อยที่สุด เราเชื่อว่าทุกคนต้องมี เพียงแค่เรากล้าที่จะเปิดกล่องความทรงจำที่ถูกปิดตายหรือหลงลืมไปขึ้นมา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า