วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธาน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ ในการนี้ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
โดยที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการด้านอาคารพักอาศัยของการเคหะแห่งชาติ รวมจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยจังหวัดภูเก็ต (กะทู้) และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการอาคารพักอาศัยแปลง A และโครงการอาคารพักอาศัยแปลง D1 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย (ทดแทนชุดที่ 1-2) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าชุดที่ 1 และ 2 ที่จะถูกปลดออก เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีขนาดกำลังการผลิตสูงขึ้น สามารถลดการปล่อยมลพิษได้น้อยลง และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า
ทั้งนี้ เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ครั้งที่ 3 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการเปลี่ยนเส้นทางการวางท่อ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านจราจร รวมทั้งลดความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่เดิม
ในที่ประชุมได้พิจารณามาตรการเพิ่มเติม แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาหมอกควัน ในประเด็นสำคัญๆ เช่น เสนอให้สนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ / รถยนต์ไฟฟ้า หรือทางเลือกอื่นที่ไม่ก่อมลพิษ เช่น ทางจักรยาน
ในช่วงที่มีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ อาจพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่จากบ้านได้ พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยจากมลพิษทางอากาศที่ได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับรถที่มีควันดำและมลพิษ กำหนดค่าปรับ รวมทั้งบทลงโทษรถยนต์ที่มีการถอด Catalytic Converter หรือ Diesel Particulate Filter (DPF) ออกจากยานพาหนะ จัดสร้างระบบ Citizen Watch ให้ประชาชนรายงานป้ายทะเบียนของรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ และเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี
รวมไปจนถึงมาตรการการควบคุมการใช้ยานพาหนะในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงวิกฤต
โดยจะกำหนดประเภทรถ อายุรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ที่จะอนุญาตให้เข้า และการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทน ควรห้ามเผาในพื้นที่เขตชุมชนเด็ดขาด ซึ่งควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ขอให้โรงงานอุตสาหกรรมลดหรือหยุดกำลังการผลิตในช่วงที่คาดว่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล