เกิดอะไรขึ้น
วานนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการขยายสัมปทานทางด่วนเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มูลค่าคดี 5.89 หมื่นล้านบาท
โดยรายละเอียดของสัมปทานจะแก้ไขให้ทุกสัมปทานสิ้นสุดพร้อมกันคือวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ประกอบด้วยสัมปทาน 2 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ 1 ขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ประกอบด้วย 1. ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C เดิมจะหมดสัญญาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 2. ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เดิมจะหมดสัญญาวันที่ 22 เมษายน 2570
ฉบับที่ 2 ขยายสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) เดิมจะหมดสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2569
สำหรับส่วนแบ่งรายได้ยังคงเหมือนเดิมคือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B กทพ. ได้ 60% และ BEM ได้ 40% ส่วน C D และ C+ BEM ได้ 100% โดยจะปรับค่าผ่านทางขึ้นทุกๆ 10 ปี ครั้งละ 10 บาท
กระทบอย่างไร
ช่วงบ่ายวานนี้ ขณะที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุม ครม. ราคาหุ้น BEM ปรับขึ้นทันที และขึ้นไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 11.10 บาท ก่อนจะกลับมาปิดที่ราคา 11.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.85%DoD ขณะที่วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้น BEM ปรับขึ้นเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในกรอบ 11.00-11.20 บาท
มุมมองระยะสั้น
SCBS มองว่าการอนุมัติการขยายสัมปทานทางด่วนฯ ของ ครม. ทำให้ปัจจัยกดดันที่มีมานานผ่อนคลายลงไปได้มาก กระบวนการถัดไปที่ตลาดกำลังจับตาคือ การเซ็นสัญญาระงับข้อพิพาทระหว่าง BEM กับ กทพ. หากมีการเซ็นสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนเชิง Sentiment ต่อราคาหุ้น BEM ได้ต่อ
นอกจากนี้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ต้องติดตามการรายงานผลประกอบการปี 2562 ซึ่ง SCBS คาด BEM จะประกาศกำไรสุทธิ 4Q62 ที่ 565 ล้านบาท เติบโต 17%YoY โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ของธุรกิจรถไฟฟ้า MRT ที่เพิ่มขึ้น และค่าตัดจำหน่ายสำหรับธุรกิจทางด่วนที่ลดลง
มุมมองระยะยาว
SCBS มองว่าการขยายสัมปทานทางด่วนครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างกระแสเงินสดส่วนเพิ่มให้แก่ BEM และเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวต่อทิศทางราคาหุ้น
อย่างไรก็ดี หากสัมปทานทางด่วนดังกล่าวใกล้ถึงวันสิ้นสุด (31 ตุลาคม 2578) จะต้องจับตาว่า BEM จะได้ต่อสัมปทานทางด่วนอีกครั้งหรือไม่ แม้ตามสัญญาจะระบุว่าให้ BEM ถูกพิจารณาในการเจรจาต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปีก็ตาม
สำหรับธุรกิจรถไฟฟ้า SCBS คาดว่าการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเป็นปัจจัยหนุนให้จำนวนผู้โดยสารปี 2563 เติบโต 20% และจะเอื้อต่อธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์จากการให้เช่าพื้นที่โฆษณาและพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มจากนี้คงเป็นความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ BEM รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูต่อไป
หมายเหตุ: %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า