×

ลบอคติในจิตใจ รับมือโรคร้ายโควิด-19 แบบตระหนักแต่ไม่ตระหนก

18.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • โดยทั่วไประบบความคิดอัตโนมัติของมนุษย์มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ระบบความคิดอัตโนมัติของเรานั้นก็มีข้อเสียตรงที่ทำให้เราประมวลผลข้อมูลบางอย่างผิดพลาดและเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ 
  • ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดหนัก มี 3 อคติในจิตใจที่ต้องกำจัดทิ้งคือ Loss Aversion หรือความกลัวการสูญเสีย, Availability Bias เห็นอะไรบ่อยๆ ก็คิดว่าต้องเป็นแบบนั้น และ Stereotype การจัดกลุ่มและเหมารวม

หลายคนเวลาอ่านข่าวโรคโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดแล้วอาจจะรู้สึกเป็นกังวล บางทีก็เผลอด่วนตัดสินหลายๆ เหตุการณ์ไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากจะทำให้ใจเราเป็นทุกข์แล้วยังไปสร้างความทุกข์ใจให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย 

 

ครั้งนี้ผู้เขียนจะมาเล่าถึงอคติในใจที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว 3 อย่าง ซึ่งหากเรารู้ทันแล้วก็จะช่วยให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และตั้งรับได้ดีขึ้น 

 

โดยทั่วไประบบความคิดอัตโนมัติของมนุษย์มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวัน (เช่น การคิดเลขในใจแบบง่ายๆ (2+2) การกะประมาณระยะเวลาเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง การวิ่งหนีเวลามีภัยเข้ามา และการบอกได้ว่าคนนี้หน้าตาสวยหรือหล่อ ฯลฯ) แต่ระบบความคิดอัตโนมัติของเรานั้นก็มีข้อเสียตรงที่ทำให้เราประมวลผลข้อมูลบางอย่างผิดพลาดและเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ 

 

ความคิดที่เป็นอัตโนมัติ 3 อย่าง (จะเรียกว่า Bias หรือความลำเอียงก็ได้) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัวในช่วงไวรัสระบาด ได้แก่ 

 

1. Loss Aversion (ความกลัวการสูญเสีย) 

เวลาได้ยินว่า “คนติดไวรัส 100 คนจะเสียชีวิต 10 คน” กับ “คนติดไวรัส 100 คนจะรอดชีวิต  90 คน” ผู้อ่านรู้สึกว่าประโยคใดอ่านแล้วสบายใจกว่ากัน 

 

หลายคนอาจจะมีความคิดแรกว่าการรอด 90 คนฟังแล้วสบายใจกว่า แต่หากไตร่ตรองให้ดี ทั้งสองสถานการณ์คือสถานการณ์แบบเดียวกัน เพราะคนเสียชีวิต 10 คนแปลว่ามีคนรอดชีวิต 90 คน เนื่องจากมนุษย์มีแนวโน้มกลัวการสูญเสีย และมักให้น้ำหนักกับตัวเลขด้านลบ 

 

ดังนั้นเวลาอ่านข่าว เราอาจจะลองมองในมุมอื่นที่นอกเหนือไปจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิต (เช่น จำนวนคนรอดชีวิต จำนวนคนที่หายป่วย) ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ไปทุ่มน้ำหนักกับความสูญเสียมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ประมาทหรือไม่ป้องกันตัวเองตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ 

 

2. Availability Bias (เห็นอะไรบ่อยๆ ก็คิดว่าต้องเป็นแบบนั้น)

หลายเหตุการณ์ที่เราเห็นบ่อยๆ อาจไม่ใช่เพราะว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นบ่อย แต่สาเหตุที่เราคิดว่าเกิดขึ้นบ่อยอาจเป็นเพราะเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเห็นในข่าว เป็นเหตุการณ์ที่กระชากอารมณ์ และเป็นเหตุการณ์ที่ง่ายที่จะนึกถึง 

 

ตัวอย่างของความคิดแบบนี้คือกรณีคนกลัวการขึ้นเครื่องบินเพราะคิดว่าอันตรายมาก ซึ่งตามสถิติแล้วอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกน้อยกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก แต่ส่วนใหญ่ข่าวที่ออกมาให้เห็นมักเป็นข่าวอุบัติเหตุเครื่องบินที่น่ากลัว

 

หรืออย่างกรณีการเห็นภาพคนจีนกินซุปค้างคาวบ่อยๆ หลายๆ ครั้งก็อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าคนจีนกินอาหารประเภทนี้กันเป็นปกติ ความคิดแบบนี้ก็เป็นความคิดอัตโนมัติที่เราคิดเชื่อมโยงจากการเห็นภาพข่าว แต่ผลของมันกลับทำให้มีคนด่วนตัดสินและทำให้เกิดคำพูดที่ทำร้ายกัน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริง

 

3. Stereotype (การจัดกลุ่มและเหมารวม)

สมองของเรามีความสามารถจัดกลุ่มเรื่องราวและลักษณะต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ง่ายต่อการประมวลผลข้อมูล ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้เราจัดกลุ่ม เผลอแปะป้ายประทับ และด่วนตัดสินว่าเขาต้องเป็นคนแบบนี้แน่ๆ เลย เช่น การที่ชาวตะวันตกคิดว่าชาวเอเชียทุกคนต้องเก่งวิชาคณิตศาสตร์ 

 

ซึ่งการจัดกลุ่มและตัดสินนี้ก็ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นได้ และอาจส่งผลให้คนเราแสดงอาการที่ไม่น่ารักใส่คนอื่น เช่น การบูลลี่และการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นโดยขาดเหตุผล แม้ว่าเราอาจจะห้ามสมองไม่ให้จัดกลุ่มไม่ได้ แต่เราสามารถห้ามตัวเองไม่ให้ไปด่วนตัดสินคนอื่นได้ เช่น การไม่ด่วนตัดสินและแสดงปฏิกิริยารังเกียจชาวเอเชียที่ใส่หน้ากากอนามัยว่าเป็นคนป่วย 

 

โดยสรุปคือการรู้ทันอคติในใจที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติก็สามารถช่วยให้เรามีสติตั้งรับในการเสพข่าวและการต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในยามไวรัสระบาดได้ดีขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X