จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประมูล 5G ทั้ง 3 คลื่นความถี่ (700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz) ที่ทาง กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์) โดยใช้ระยะเวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 35 นาที รวมเงินประมูลทั้งหมดมีมูลค่าอยู่ที่ 100,521,177,777 บาท (นับรวมราคาสุดท้ายขั้นตอนการจัดสรร + ผลรวมราคาขั้นตอนกำหนดย่านความถี่)
สำหรับ AIS (บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด) กลายเป็นผู้ประกอบการที่คว้าคลื่นความถี่ 5G ได้ครบและครอบคลุมที่สุดทั้ง 3 คลื่นความถี่ที่มีการประมูล คือ 700 MHz (1 ใบ), 2600 MHz (10 ใบ) และ 26 GHz (12 ใบ) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,060 ล้านบาท
ตามมาด้วย True (บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) ที่คว้าคลื่นความถี่ 5G ได้ทั้ง 2 คลื่นความถี่ที่มีการประมูล คือ 2600 MHz (9 ใบ) และ 26 GHz (8 ใบ) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 21,449.77 ล้านบาท
ขณะที่ TOT (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)) ประมูลคว้าคลื่นความถี่ 26 GHz (4 ใบ) ไปครองได้สำเร็จ รวมมูลค่าการประมูลที่ 1,795 ล้านบาท
ฝั่ง dtac (บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด) ประมูลได้คลื่นความถี่ 26 GHz (2 ใบ) ใช้เงินประมูลไปที่ 910.4 ล้านบาท เช่นเดียวกับ CAT (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด) ที่ประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz (2 ใบ) ใช้เงินประมูลรวม 34,306 ล้านบาท
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ทาง กสทช. จะจัดให้มีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อรับรองผลการประมูลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะเปิดให้มีการรับใบอนุญาต ซึ่งผู้ร่วมประมูลจะต้องดำเนินการชำระค่าประมูลในงวดแรกตามเงื่อนไขที่ทาง กสทช. กำหนดไว้ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้น่าจะมีผู้มายื่นความประสงค์ขอรับใบอนุญาตไปดำเนินการในลำดับถัดไป
“ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกรายเตรียมจะนำเข้า 5G แล้ว เพียงแต่ขั้นตอนคือ ทางมติที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ 5G ที่เสาประมาณ 103,000 ต้นได้ทันที ส่วนการติดตั้งเสาใหม่จะต้องมีการรับฟังการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน 5G เกิดขึ้นในไทยได้เร็วยิ่งขึ้น
“ผลการประมูลรวมครั้งนี้ทำให้มีวงเงินในการประมูลรวมทั้งสิ้น 100,521.17 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากผู้ประกอบการคงมีการประเมินราคาประมูลที่จะต้องชำระไว้อยู่แล้ว แต่เราอยากให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศด้วยการลงทุนโดยเร็ว เพราะเทคโนโลยีทั่วโลกล้วนแล้วแต่มีการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจโลกยุคใหม่”
ก่อนหน้านี้ กสทช. คาดการณ์ไว้ว่า ผู้ให้บริการน่าจะพร้อมให้บริการ 5G ในประเทศไทยช่วงราวเดือนกรกฎาคม 2563
อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยเพิ่มเติมในวันนี้พบว่า คลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz ที่เปิดให้มีการจัดประมูลไปนั้น ผู้ประกอบการสามารถให้บริการได้ทันทีหลังจากได้รับใบอนุญาตและมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และการให้บริการ ขณะที่คลื่นความถี่ 700 MHz น่าจะพร้อมให้บริการในช่วงราวเดือนเมษายน 2564
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล