บนเรือ Diamond Princess ผู้โดยสารและลูกเรือรวมกว่า 3,700 ชีวิต ยังถูกกักตัวอยู่โดยไม่ให้ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019
ทางด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการแยกตัว และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นฝั่งเพื่อเข้ารับการรักษา โดยยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดจากเรือที่จอดเทียบท่าอยู่ในเมืองโยโกฮามานี้แตะ 135 คนแล้ว ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือที่เหลือยังต้องอยู่บนเรือเพื่อรอดูผลตรวจว่าได้รับเชื้อด้วยหรือไม่
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นแถลงว่า บนเรือมีผู้ได้รับการตรวจแล้วทั้งสิ้น 439 คน
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีจุดศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,018 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลก 43,090 คน
เรือลำดังกล่าวถือเป็นสถานที่ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดรองลงมาจากประเทศจีน ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดบนเรือสำราญอาจลำบากกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด ทุกๆ การเคลื่อนไหวอาจทำให้เชื้อกระจายได้ และยังมีพื้นที่ให้ไวรัสซ่อนตัวหลายแห่งด้วย
ปีเตอร์ แอนดริว ไวท์ ศาสตราจารย์จุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ชี้ว่า การอยู่บนเรือสำราญจำนวน 3,000 คนอาจทำให้โอกาสติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น โดยฝั่งอุตสาหกรรมเดินเรือเองก็จำเป็นต้องมีแนวทางใหม่รับมือสถานการณ์นี้
ด้าน แจน สวาร์ตซ ประธานบริษัทเรือสำราญ Princess Cruise เปิดเผยว่า การทำความสะอาดเครื่องนอนยุ่งยากขึ้น เพราะผู้โดยสารจำเป็นต้องอยู่ในห้องพักส่วนตัว แต่ก็มีมาตรการใหม่เข้ามาด้วยการทำความสะอาดห้องพักและเครื่องนอนระหว่างที่แขกได้รับอนุญาตให้ออกไปพักข้างนอก
ในอดีต อุตสาหกรรมเดินเรือสำราญเคยเรียนรู้การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโนโรไวรัสที่ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารอักเสบ ด้วยการปฏิบัติตามคู่มือ ติดตั้งจุดล้างมือไว้ทั่วเรือ ซึ่งมาตรการนี้อาจช่วยยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนาเช่นกัน
ฌอง-พอล โรดริเก ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์การขนส่งประจำมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า ปกติแล้ว เวลามีการระบาดของโนโรไวรัส ผู้โดยสารทั้งหมดต้องลงจากเรือ และให้ทำความสะอาดทุกซอกทุกมุมของเรือ
ทว่า มาตรการกักตัวบนเรือของกรณีไวรัสโคโรนานี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถลงจากเรือได้ จึงทำได้เพียงพยายามทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น บริการอาหารถึงห้องพัก นอกจากนี้ ยังมีการแจกหน้ากากอนามัย และผ้าชุบแอลกอฮอล์ด้วย
มีข้อมูลเปรียบเทียบว่า โนโรไวรัสฆ่ายากกว่าไวรัสโคโรนา ดังนั้นมาตรการรับมือไวรัสตามแบบแผนอย่างการใช้ยาฆ่าเชื้อหรือสารฟอกขาวก็น่าจะพอจัดการไวรัสที่กำลังระบาดอยู่นี้ได้ ถึงอย่างนั้น มาตรการใหม่ๆ ก็จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลาสติกที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อน้อยกว่า ติดตั้งระบบน้ำเพิ่มเติม รวมถึงจุดล้างมือให้คนล้างมือเพิ่มขึ้นด้วย
ในเบื้องต้น การกักตัวบนเรือสำราญลำนี้คาดว่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่า ทุกๆ ครั้งที่พบผู้ป่วยบนเรือเพิ่มก็อาจจำเป็นต้องขยายเวลากักตัว 14 วันออกไปเรื่อยๆ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: