×

How to ทิ้ง… หัวใจของจีนในถุงขยะสีดำ กับบ้านจัดใหม่สไตล์พุทธๆ

04.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ

 

  • ฮาวทูทิ้ง มีรสชาติลูกผสมระหว่างหนังประเภทเสมือนจริง (Realism) กับหนังคอนเซปต์ (Conceptualism) บางทีตัวละครก็พูดกันดูจริงมาก บางจังหวะหนังก็แทรกคำคม ไอเดียเก๋ กับการแสดงออกบนใบหน้าแบบหน้าตายเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน 
  • การนั่งดู ฮาวทูทิ้ง เหมือนนั่งฟังเพื่อนๆ คุยกันในชีวิตจริงผ่านการแสดงที่ไม่ได้แสดงกันง่ายๆ เพราะมันต้อง ‘จริง’ จากข้างใน รู้สึกเยอะมากๆ และมีความซับซ้อนทางความคิด แต่แสดงออกมาได้น้อยมากๆ
  • การเรียนการแสดงไม่ได้ทำให้เราบอกว่าจีนเป็นคนดี แต่ทำให้เราบอกได้ว่าจีนก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่มีสีเทาๆ ไม่ต่างจากเรา
  • การแสดงของออกแบบในบทจีนให้ความรู้สึกน้อยแต่มาก เป็นการแสดงแบบมินิมัลลิสต์ที่ทำหน้าที่ขยายคอนเซปต์ของตัวละคร ความน้อยในการแสดงออกของออกแบบกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ถูกอัดแน่นอยู่ภายใน

 

 

 

หนังเรื่องนี้ของนวพลอยู่ภายใต้การดูแลของ GDH ถือว่ามีส่วนผสมและกลิ่นอายของ ‘หนังเต๋อ’ ที่เด่นชัดในเชิงคอนเซปต์แบบหนังอย่าง Mary is Happy, Mary is Happy. (2013) หรือ Die Tomorrow (2017) ส่วนความเป็นสตูดิโอ GDH คงไว้เพียงการดำเนินเรื่องแบบเรียบง่าย หัว กลาง ท้าย และนักแสดงนำที่มีความเป็นโจทย์ของสตูดิโอ 

 

แต่รสชาติยังคงเป็นรสนิยมที่เด่นชัดของผู้กำกับ และส่วนตัวเราชอบอะไรแบบนี้ เวลาดูหนังที่คอนเซปต์เหนือกว่าการดำเนินเรื่องจะรู้สึกมึนๆ เบลอๆ เพราะรู้สึกรสชาติจัดจ้านเกินไป สมองประมวลไม่ทัน แต่พอมาผสมกันแบบนี้ ส่วนตัวรู้สึกว่ากลมกล่อมและตรงจริตของตัวเองมากกว่า

 

มองในแง่การแสดง ถ้าคุณเป็นสายแมสที่มองหาความเป็นตัวละครชัดๆ อารมณ์ชัดๆ อยากดื่มด่ำกับความเข้มข้นของเรื่องราวหรืออารมณ์ตัวละคร คาดหวังมุกที่ฮาก๊ากของหนังค่าย GDH จากภาพยนตร์เรื่องนี้ 

 

คุณ…อาจจะเดินออกจากโรงแบบหงายเงิบไม่เป็นท่า แต่ถ้าคุณหารสชาติแปลกใหม่ของหนังไทยกระแสหลัก หรือถ้าคุณเป็นคอหนังอินดี้ ก็น่าจะเอ็นจอยกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก 

 

ที่เกริ่นมายืดยาวทั้งหมดนี้ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไปตามสูตรของสตูดิโอ GDH จังหวะตลกของหนังสร้างได้เพียงเสียงหึๆ ในลำคอของคนดู แถมความตลกมักจะออกมาในจังหวะที่ผิดที่ผิดทางในหลายๆ ครั้ง หรือสำหรับบางคนอาจจะขำไม่ออกด้วยซ้ำ

 

 

หนังมีรสชาติลูกผสมระหว่างหนังประเภทเสมือนจริง (Realism) กับหนังคอนเซปต์ (Conceptualism) บางทีตัวละครก็พูดกันดูจริงมาก เรียลไทม์ตามเวลาและความรู้สึกจริงๆ แต่บางจังหวะหนังก็แทรกคำคม ไอเดียเก๋ในบทสนทนา กับการแสดงออกบนใบหน้าแบบหน้าตายเหมือนไร้ความรู้สึก หรือเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะแปะป้ายประเภทให้กับหนังเรื่องนี้

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

เพราะการจะเข้าใจหนังได้ต้องเข้าใจโลกของผู้กำกับประมาณหนึ่ง ถ้าลองไปค้นดูหนังเรื่องก่อนๆ ที่ผู้กำกับคนนี้ทำไว้ก็น่าจะเข้าใจโลกใบนี้ของเขาได้ไม่ยาก และถ้าจะไปดู ขอแนะนำว่าให้เข้าโรงแบบไม่คาดหวังอะไร และเปิดใจไปรับอรรถรสใหม่ๆ คุณน่าจะได้อาหารสมองกลับมานอนคิดแบบอิ่มหนำกันเลยทีเดียว

 

ตอนนี้ขอโฟกัสไปที่เนื้อหาในส่วนของการแสดงล้วนๆ ตามสายอาชีพของตัวเอง เราคิดว่าการแสดงเป็นเพียงปัจจัยในการเสริมคอนเซปต์ของหนังเท่านั้น อย่างที่เขียนถึงไปแล้วข้างต้น ด้วยความที่ไม่มีดราม่าหนักๆ หรือโรแมนซ์ชวนฟินให้นั่งลุ้น 

 

การนั่งดูหนังเรื่องนี้เหมือนนั่งฟังเพื่อนๆ คุยกันในชีวิตจริง แต่การแสดงที่บอกว่าเป็นปัจจัยเสริมก็ไม่ได้แสดงกันง่ายๆ เพราะมันต้อง ‘จริง’ มากๆ จากข้างใน รู้สึกเยอะมากๆ และมีความซับซ้อนทางความคิด แต่แสดงออกมาได้น้อยมากๆ อีกเช่นกัน อย่างการจัดบ้านสไตล์พุทธๆ เราแทบจะไม่รู้จริงๆ ว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ สิ่งที่เห็นอาจจะมีแต่มวลความคิดและอารมณ์ในแววตาบนสีหน้าที่แน่นิ่งของตัวละคร จนต้องขอย้ำอีกครั้งว่าออกมาจากโรงหนังแล้วจะเหนื่อยหน่อยๆ นะ 

 

 

ในส่วนของตัวละคร ‘จีน’ (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) คือตัวดำเนินเรื่องที่พาเราเข้าไปสำรวจชีวิตของเธอผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และอย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่าตัวละครแต่ละตัวแสดงความรู้สึกออกมาน้อยมากๆ จนมีบางช่วงที่เรารู้สึกตอนดูว่าจีนมันคิดอะไรอยู่วะที่ทำแบบนี้ 

 

หลายๆ ช่วงในหนัง สิ่งที่จีนคิดก็ไม่ใช่สิ่งที่จีนพูดออกมา จีนเป็นตัวละครที่ตรงข้ามกับภาพของตัวละครทั่วๆ ไปในหนังกระแสหลัก จีนไม่ใช่ผู้หญิงน่ารัก แสนดี ออกจะเห็นแก่ตัวอย่างหน้าตาเฉย มีตรรกะแปลกๆ รองรับความคิดและการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ 

 

แต่ถ้าคุณเปิดใจให้กว้างและยอมรับความจริง เชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีความเป็น ‘จีน’ ในตัวเราทั้งนั้น คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์อันนี้ก็ว่ากันไป คนแบบนี้ง่ายต่อการถูกตัดสินมากๆ เพราะมนุษย์เราก็วัดกันที่ผลลัพธ์ ถ้าทำแบบนี้แล้วเป็นสิ่งที่มันไม่ดี คุณก็เป็นคนไม่ดีนั่นล่ะ… เฮ้ย มนุษย์มันซับซ้อนกว่านั้นมากนะ 

 

และที่เขาพูดกันว่าการเรียนการแสดงทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น มันก็จริง ไม่ใช่เพราะเราเรียนการแสดงมาถึงบอกว่าจีนเป็นคนดี แต่สิ่งที่เรียนมาทำให้เราบอกได้ว่าจีนก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่มีสีเทาๆ ไม่ต่างจากเราหรอก แล้วสิ่งที่เรามองว่าตัวละครนี้ไม่ดี มันก็มีคำว่า ‘ต้นตอ’ ของการกระทำอันเป็นเหตุและผลที่ทำให้กลายเป็นคนแบบนั้น

 

จีนเพิ่งกลับมาจากสวีเดน และได้รับอิทธิพลความชื่นชอบการตกแต่งบ้านในสไตล์ที่เรียกว่ามินิมัลลิสต์ คือบ้านโล่งๆ เน้นโทนขาว โปร่ง สว่างๆ มีแสงเข้าเยอะๆ อย่างที่เธอพยายามอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพว่าเป็นแบบ ‘พุทธๆ’ ซึ่งคอนเซปต์นี้ขัดแย้งกับบ้านและคนในบ้านที่มีพี่ชายและแม่อาศัยอยู่ 

 

เพราะบ้านหลังนั้นเต็มไปด้วยข้าวของมากมาย แล้วเธอก็ต้องเลือกเก็บไว้เฉพาะของที่จำเป็น และทิ้งของที่ไม่ ‘สปาร์กจอย’ ออกไปให้หมด ซึ่งช่วงแรกๆ ของหนัง อะไรๆ ก็ดูไม่สปาร์กกับเธอไปเสียหมด มันจึงเก็บทิ้งได้อย่างง่ายดาย 

 

หนึ่งในนั้นคือซีดีที่ พิงค์ (พัดชา กิจชัยเจริญ) เพื่อนสนิท ซึ่งเป็นคนออกแบบภายในของบ้านสไตล์มินิมัลให้จีน และพิงค์ก็ได้มาเห็นว่าของของเธอเองก็ไม่ต่างจากอะไรจากชิ้นอื่นๆ ที่จีนสามารถทิ้งได้อย่างหน้าตาเฉย นำไปสู่ความน้อยใจและโกรธ จนจุดประกายความคิดให้จีนนำของที่ตัวเองจะทิ้งไปคืนเจ้าของ… งานเข้าล่ะสิทีนี้ 

 

 

เพราะการคืนของไม่ใช่แค่ยื่นคืนให้ก็จบ แต่ทำให้จีนต้องกลับไปดีลกับความทรงจำของคนอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับของแต่ละชิ้น และการคืนของแต่ละครั้งมันทำให้เรายิ่งรู้จักนิสัยใจคออันไม่น่ารักเอาเสียเลยของจีน จนไปถึง ‘พี่เอ็ม’ (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) แฟนเก่าที่ต้องเอาของไปคืนให้หลังจากถูกเธอ ‘ทิ้ง’ อย่างไร้เยื่อใย และขาดการติดต่อไปเลยตั้งแต่อยู่สวีเดน

 

ต้องบอกว่าการคืนของให้เอ็มเป็นเหมือนการกลับไปเปิดประตูที่ปิดตายบานนั้นออกมา แล้วทุกอย่างก็กลายเป็น Butterfly Effect ที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลกระทบอันเจ็บปวดต่อกันไปหมด 

 

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของเอ็ม หรือตัวของจีนเองที่ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า ‘การคืนของ’ ของจีนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาความรู้สึกผิดของตัวเองเท่านั้น 

 

 

อีกส่วนที่เป็นคู่ขนานกันคือเส้นเรื่องในครอบครัวที่จีนตัดสินใจจะกำจัด ‘เปียโนของพ่อ’ ซึ่งเป็นเหมือนอดีตขนาดใหญ่ของแม่ (อุ๋ม-อาภาศิริ นิติพน) ที่ไม่สามารถตัดขาดและเอาออกไปจากชีวิตได้ 

 

เพราะฉะนั้นคนที่ควรได้รับตำแหน่ง ‘ตัวท็อป’ จึงไม่ใช่เอ็ม แต่เป็น ‘พ่อ’ นี่ล่ะที่ทำให้จีนต้องดีลกับความรู้สึกที่อัดแน่นไปหมด ผู้ชายที่สร้างให้จีนเป็นจีน และทิ้งเธอกับครอบครัวของเธอไปอย่างหน้าตาเฉยเหมือนทิ้งของ 

 

ก็เป็นต้นแบบที่สอนบทเรียนฮาวทูทิ้งในชีวิตจริงให้กับเธอ ถ้ามองในมุมนี้ จีนผิดมากเลยหรือที่ไม่อยากจะมีความทรงจำจากข้าวของต่างๆ เพื่อให้มันกลับมาทำร้ายความรู้สึกของเธอเหมือนเปียโนของพ่อหลังนี้

 

 

จากจุดเริ่มต้นที่แค่อยากทำบ้านใหม่ให้มันโล่งๆ พุทธๆ แบบที่จีนอยากจะเป็น กลับทำให้จีนต้องเดินทางกลับไปสำรวจและเผชิญความทรงจำมากมายที่ไม่อยากจะไปแตะต้อง 

 

เธอแค่อยากโยนมันลงถุงดำและทิ้งไปโดยที่ไม่ต้องรู้สึกอะไร เหมือนกับที่เธอรู้สึกว่าพ่อก็ทิ้งทุกคนในครอบครัวไปได้อย่างที่ไม่รู้สึกอะไรเช่นกัน จีนแค่อยากจะรู้สึกว่างๆ โล่งๆ เหมือนห้องมินิมัล ไม่ต้องมีความทรงจำระเกะระกะมาทำให้เจ็บปวด แบบนี้เรียกว่าคนเห็นแก่ตัวจริงหรือ

 

ส่วนการแสดงที่อยากพูดถึงคือ ‘ออกแบบ’ ที่เป็นคนแบกหนังเรื่องนี้ไว้ทั้งเรื่อง เพราะมันคือหนังที่เล่าเรื่องราวชีวิตของจีน แล้วออกแบบถ่ายทอดความเป็นจีนออกมาได้อย่างเป็นมนุษย์ที่สุด ต่อให้ใครจะบอกว่าจีนดูไม่มีหัวใจ แต่สิ่งที่ออกแบบถ่ายทอดออกมามันอัดแน่นไปด้วยการแสดงให้เห็นว่าเธอมี ‘หัวใจ’ ในหลายมิติ 

 

เป็นการแสดงที่ให้ความรู้สึกน้อยแต่มาก เป็นการแสดงแบบมินิมัลที่ทำหน้าที่ขยายคอนเซปต์ของตัวละคร ความน้อยในการแสดงออกของออกแบบกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ถูกอัดแน่นอยู่ภายใน

 

ด้วยความที่รู้จักออกแบบเป็นการส่วนตัวก็ยิ่งรู้สึกว่าบทนี้มีความท้าทาย เพราะออกแบบเป็นคนเซนสิทีฟมาก ไวต่อความรู้สึก แล้วต้องมาเจอกรอบการแสดงแบบหนังเต๋อ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามันเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ สำหรับนักแสดงอย่างเธอ

 

และออกแบบก็สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างละเอียด และยังได้ความเจ็บปวดอันฝังลึกของตัวละครมาเป็นของแถมหลังการถ่ายทำ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ทำให้ออกแบบเติบโตขึ้นไปอีกก้าวในฐานะนักแสดง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X