×

แนะพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์หาแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทน หลังจีนชะลอส่งสินค้าช่วงโคโรนาระบาด

04.02.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่ทางการจีนมีคำสั่งปิดการจราจรบางเส้นทางในอู่ฮั่น เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศูนย์กลางการคมนาคม’ และการขนส่งที่สำคัญของประเทศ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคผู้ผลิตที่เริ่มได้รับความเดือดร้อน 

 

รวมถึงบรรดา ‘พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์’ ในประเทศไทย ที่ต้องนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่าย และได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการจัดส่ง จากเดิมที่ใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ทำให้ต้องรอนานขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่ง ณ วันนี้ต้นทางของสินค้าส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยเกินกว่า 70% ก็ล้วนแล้วแต่มาจากจีนแทบทั้งสิ้น

 

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงผลกระทบที่ผู้ค้าออนไลน์ในไทยได้รับจากวิกฤตโรคระบาดว่า “กลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากจีนเริ่มพบปัญหาการนำเข้าสินค้ามีความล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากภาคการขนส่ง ร้านค้า โรงงานในจีนบางแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว ดังนั้น สินค้าที่ผลิตในจีนบางส่วนจึงไม่สามารถจัดส่งได้ในช่วงนี้

 

“นอกจากนี้ยังมีความกังวลด้านความปลอดภัยของสินค้าที่สั่งมาจากจีนอีกด้วยว่า จะมีเชื้อไวรัสปะปนมาหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำในวันนี้คือการ ‘บริหารความคาดหวังของลูกค้าให้ได้’ หากสินค้าล่าช้าก็ต้องรีบแจ้งลูกค้าทันที หรือคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อน”

 

ภาวุธบอกต่อว่า อีกหนึ่งวิธีการที่ผู้ค้าออนไลน์จะสามารถทำได้ในช่วงนี้คือ การเริ่มมองหาแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศจีน เพื่อลดการเสียโอกาส และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากธุรกิจ

 

“ณ วันนี้ ผู้ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญหรือมองเห็นแค่ ‘ตลาดจีน’ เป็นหลัก ทั้งๆ ที่ยังมีแหล่งนำเข้าสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากจีนอีกมาก ไม่ว่าจะในยุโรป อินเดีย บราซิล หรือแม้แต่ในอาเซียน ดังนั้น สินค้าบางตัวอาจจะมีสินค้าทดแทนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน หากมองวิกฤตที่เกิดขึ้นในตอนนี้ในอีกมุมจะเห็นว่า นี่คือลู่ทางที่ผู้ประกอบการจะสามารถเสาะหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตัวเองได้”

 

สำหรับคำแนะนำที่กรรมการผู้จัดการบริษัท TARAD.com แนะนำผู้ค้าออนไลน์ในไทยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

  1. มองหาสินค้าหรือแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทนที่ไม่ใช่จีน

 

  1. หากสินค้าที่สั่งจากจีนใช้ระยะเวลาการจัดส่ง ‘นานเกิน’ ปกติ ต้องมีมาตรการดูแลผู้บริโภคที่เหมาะสม ทั้งการทดแทนด้วยสินค้าอื่นหรือการคืนเงิน

 

  1. บริหารความคาดหวังลูกค้าให้ได้ แจ้งลูกค้าทันทีเมื่อทราบว่าสินค้าที่นำเข้าล่าช้ากว่าปกติ

 

  1. ลดงบการตลาดโปรโมตสินค้าออนไลน์บางชิ้นที่ต้องนำเข้าจากจีน และมีแนวโน้มการจัดส่งล้าช้า

 

ขณะที่ในฝั่งผู้ซื้อนั้น ก่อนหน้านี้ นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เคยให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไว้ว่า โดยทั่วไปเชื้อโรคเมื่ออยู่นอกร่างกายมนุษย์จะอยู่ได้แค่ 3 วันเท่านั้น ประกอบกับประเทศไทยเป็น ‘เมืองร้อน’ ดังนั้น โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่จากการสัมผัสพัสดุที่มาจากจีนจึงเกิดขึ้นได้ยาก

 

แต่หากไม่มั่นใจ ผู้ซื้อก็สามารถนำพัสดุนั้นๆ มาตากแดดหรือนำน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์มาทำความสะอาดที่บริเวณตัวกล่องหรือพัสดุได้เช่นกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X