ไม่ว่ามองจากมุมไหน วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังระบาดในขณะนี้ จนมีผู้ติดเชื้อในประเทศจีนมากกว่า 20,000 คน (ข้อมูลล่าสุดนับจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563) ก็คือ ‘อุปสรรค’ ที่ขัดขวางการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจกลายเป็น ‘โอกาส’ ก็ได้ หากผู้ประกอบการสามารถบิดมุมคิด พลิกสถานการณ์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ
Meituan ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการส่งอาหารในจีนได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการใหม่ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่กำลังระบาด ด้วยบริการแบบ ‘Contactless Delivery’ ที่ผู้ส่งจะไม่ต้องสัมผัสกับภาชนะบรรจุอาหารหรือลูกค้า โดยผู้สั่งจะต้องไปรับอาหารที่จุดรับสินค้า (Pickup Station) ตามแต่ละบริเวณให้บริการ
บริการรูปแบบใหม่จาก Meituan นี้เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานว่า การสั่งอาหารกับพวกเขาจะไม่มีการแพร่เชื้อใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะเริ่มให้บริการในอู่ฮั่นเป็นพื้นที่แรก ก่อนจะขยายพื้นที่การให้บริการในอีก 184 เมืองทั่วประเทศ
ด้าน Ele.me ผู้ให้บริการอีกรายในเครือ Alibaba ก็ปรับวิธีการให้บริการกับลูกค้าเช่นกัน ด้วยการให้คนส่งอาหารสวมใส่หน้ากากอนามัยมิดชิด และหมั่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อกล่องใส่บรรจุภัณฑ์ที่ติดพ่วงท้ายรถจักรยานยนต์ส่งอาหารตลอดเวลา
เดวิด ได นักวิเคราะห์จาก Bernstein Internet สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจว่า ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่จะฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจสั่งอาหารแค่ในระยะสั้นเท่านั้น หากแต่ในระยะยาว บริการฟู้ดเดลิเวอรีในจีนเหล่านี้จะได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากไวรัสที่กำลังระบาด
ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ไวรัสเพิ่งเริ่มระบาด ชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในเมืองอู่ฮั่น ต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากทางการจีนได้ใช้คำสั่งปิดเมืองและเส้นทางการจราจรในบางจุด ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งและการใช้ชีวิตของผู้คนเริ่มได้รับผลกระทบ บริการสั่งอาหารในกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรีจึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้แบบพอดิบพอดี
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: