ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายละเอียดโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 เพื่อแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยเพิ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์) รวมถึงปรับปรุงคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้าโครงการ ได้แก่
- เป็น NPL (หนี้เสีย) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563
- หนี้บัตรทั้งเจ้าหนี้รายเดียวและหลายราย
- ลูกหนี้ที่ไม่ถูกดำเนินคดี ลูกหนี้คดีดำ ลูกหนี้คดีแดง
ทั้งนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลินิกแก้หนี้ จะปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อเพิ่มลูกค้า เช่น การปรับปรุงขั้นตอนการเข้าโครงการให้สั้น กระชับ โดยจะขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น ผ่านการเปิดให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ SAM จะร่วมมือกับศาลและกรมบังคับคดี เพื่อหาข้อสรุปในกระบวนการไกล่เกลี่ย
โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 1 และ 2 ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2560 – 31 ธันวาคม 2563 มีผู้ลงนามปรับโครงสร้างหนี้ 3,194 ราย ปัจจุบันชำระหนี้เสร็จสิ้น 72 ราย (คิดเป็น 2.3% จากผู้ปรับโครงสร้างทั้งหมด) ค่าเฉลี่ยเงินต้น 234,843 บาทต่อราย โดยเฉลี่ยระยะเวลาการชำระอยู่ที่ 91 เดือน จำนวนเจ้าหนี้เฉลี่ยแต่ละสัญญา 3 แห่ง