×

หมดยุค Panic Buy? บทสรุปของวันเดดไลน์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตลาดนักเตะฤดูหนาว 2020

03.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • วันสุดท้ายของตลาดการซื้อขายฤดูหนาว (มกราคม 2020) จบลงอย่างเงียบเหงา ไม่มีนักเตะระดับบิ๊กเนมให้ฮือฮาอะไร
  • สโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้จ่ายน้อยลงในช่วงวันสุดท้าย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าได้มีการเรียนรู้เรื่องของการซื้อแบบ Panic Buy ว่าไม่ได้ผลดีนัก
  • ตลาดนักเตะในอังกฤษปิดตัวลงพร้อมกับ Brexit พอดี โดยยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า การออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องโควตาผู้เล่นต่างชาติ

ไม่มีการทุบสถิติ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น ไม่มีเฮลิคอปเตอร์ ไม่มีการไล่ตามเที่ยวบิน ไม่มีอะไรเลย – นี่อาจจะเป็นบทสรุปที่เรียบง่าย และชัดเจนที่สุดสำหรับวันสุดท้ายของตลาดการซื้อขายนักฟุตบอลในช่วงฤดูหนาวของปี 2020

 

โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีกที่ปกติแล้วจะเป็นลีกที่สร้างความฮือฮาเสมอ แต่ปรากฏว่าข่าวที่มีสีสันมากที่สุดคือการที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าตัว โอเดียน อิกาโล ดาวยิงทีมชาติไนจีเรียมาจากเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว สโมสรฟุตบอลในไชนีส ซูเปอร์ ลีกของจีน มาในสัญญายืมตัวพร้อมกับออปชันในการซื้อขาดหลังจบฤดูกาลนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดการซื้อขายจะปิดตัวลงไม่กี่ชั่วโมง

 

คนที่เป็นนักฟุตบอลที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวสูงสุดในวันสุดท้ายของตลาดการซื้อขายรอบนี้คือ จาร์รอด โบเวน กองหน้าที่เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซื้อจากฮัลล์ ซิตี้ มาด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์ รองลงมาคือ ทาริค แลมป์ตีย์ กองหลังวัย 19 ปี ที่ไบรท์ตันซื้อจากเชลซี

 

นอกเหนือจากนี้มีดีลที่น่าสนใจ (เล็กๆ) ในพรีเมียร์ลีกเกิดขึ้นดังนี้

  • เซดริก โซอาเรส แบ็กขวาที่ย้ายจากเซาแธมป์ตันมาอยู่กับอาร์เซนอลในสัญญายืมตัว
  • ลุค แมธสัน เจ้าหนูดาวรุ่งแบ็กซ้ายที่เคยสร้างชื่อด้วยการยิงประตูแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ให้กับโรชเดล ในเกมลีกคัพ ได้ย้ายมาอยู่กับวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ด้วยราคา 1 ล้านปอนด์ (และจะถูกส่งตัวกลับไปโรชเดลจนจบฤดูกาลนี้)
  • เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คว้า ริไคโร ซิฟโควิช กองหน้าชาวดัตช์ และพานาจิโอติส เรตซอส กองหลังชาวกรีกมาในสัญญายืมตัว
  • เลสเตอร์ ซิตี้ ยืมตัว ไรอัน เบนเน็ตต์ มาจากวูล์ฟส์
  • นอริช ซิตี้ คว้า แซม แม็คคัลลัม กองหลังโคเวนทรี ซิตี้ ในราคา 3 ล้านปอนด์
  • ‘ปีศาจแดง’ ยังย่องคว้าตัว นาธาน บิชอป ผู้รักษาประตูจากทีมเซาธ์เอนด์ ยูไนเต็ด  ในราคาที่ไม่เปิดเผย ซึ่งจะเป็นขุมกำลังสำหรับอนาคตต่อไป

 

ขณะที่ลีกยุโรปอื่นๆ มีการย้ายทีมที่น่าสนใจในวันสุดท้ายบ้าง มีบาร์เซโลนาคว้าตัว ฟรานซิสโก ตรินเกา กองหน้าจากบรากาในราคา 26 ล้านปอนด์ และ มาเตอุส แฟร์นันด์ส ซิเกวรา กองกลางจากพัลไมรัสในราคา 5.9 ล้านปอนด์ แต่ทั้งสองจะยังไม่ย้ายมาร่วมเล่นในคัมป์นู จนกว่าจะถึงฤดูกาลหน้า

 

อีกรายที่มีความฮือฮาบ้างคือการย้ายทีมของ เอ็มเร ชาน กองกลางทีมชาติเยอรมนี ที่ย้ายจากยูเวนตุส มาอยู่กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในสัญญายืมตัวพร้อมออปชันในการซื้อขาดที่ 21 ล้านปอนด์

 

โอเดียน อิกาโล ถูกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ดึงตัวมาแบบเซอร์ไพรส์

 

เมื่อสโมสรในพรีเมียร์ลีกเลิกนิสัย Panic Buy?

ตามการสำรวจของ Deloitte’s Sports Business Group พบว่าในวันสุดท้ายที่ตลาดการซื้อขายผู้เล่นเปิดทำการ สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีการใช้จ่ายกันเพียงแค่ 25 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และเทียบไม่ได้เลยกับในวันสุดท้ายของตลาดการซื้อขายเมื่อปี 2018 ที่มีการใช้จ่ายถึง 180 ล้านปอนด์

 

โดยในบรรดา 20 ทีมพรีเมียร์ลีก มี 3 ทีมด้วยกันที่ไม่มีการเสริมทัพเลย ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, บอร์นมัธ ที่ลุ้นหนีตกชั้น และที่น่าประหลาดใจคือเชลซี ที่ดิ้นรนแทบตายกว่าจะได้ลดโทษห้ามซื้อผู้เล่น แต่สุดท้ายกลับไม่มีการเติมผู้เล่นเข้ามาแม้แต่รายเดียว

 

ทิม บริดจ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Sports Business Group ของสถาบัน Deloitte กล่าวว่า “2 ปีที่แล้วสโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้เงิน 430 ล้านปอนด์ในช่วงตลาดการซื้อขายเดือนมกราคม อย่างไรก็ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการใช้จ่ายนั้นลดลงจนกลับไปสู่ภาวะปกติ สโมสรต่างสนใจกับการวางแผนทางการเงินที่มั่นคงในระยะยาว และมีความต้องการน้อยลงที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เกินความจำเป็น เพื่อแลกกับความสำเร็จระยะสั้น

 

“สิ่งนี้มีหลักฐานชัดเจนขึ้นกับการกำหนดยุทธศาสตร์ในการซื้อผู้เล่น โดยมีความพยายามใช้การยืมตัวที่บ่อยครั้งจะมีออปชันในการซื้อขาด เช่นเดียวกับการให้ความสนใจกับการผลักดันผู้เล่นเยาวชนจากอคาเดมีของสโมสรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

 

นั่นหมายถึงการที่สโมสรทั้งหลายเริ่มตระหนักว่า การซื้อผู้เล่นแบบ Panic Buy หรือการซื้อแบบบ้าคลั่งในวันสุดท้าย หรือช่วงสุดท้ายก่อนตลาดการซื้อขายจะปิดตัวลงนั้นไม่เป็นผลดีต่อทีม ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว

 

Deloitte ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก

  • มีเพียง 2% ของการใช้จ่ายในพรีเมียร์ลีกที่ใช้ซื้อผู้เล่นจากทีมอื่นในลีกสูงสุดด้วยกัน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลข 11% เมื่อปีกลาย
  • กลุ่ม 6 สโมสรใหญ่ในนาม ‘Big Six’ ใช้จ่ายเงินคิดเป็น 52% ของตลาดการซื้อขายในรอบเดือนมกราคม มากกว่าปี 2019 ที่คิดเป็น 43%
  • ตัวเลขสุทธิสำหรับการซื้อขายผู้เล่นในพรีเมียร์ลีก (ซื้อหักลบกับขาย) คิดเป็น 165 ล้านปอนด์ เป็นสถิติใหม่สำหรับรอบเดือนมกราคม

 

อย่างไรก็ดี หากมองตลอดทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่ได้มองแค่วันสุดท้าย ยังถือว่าสโมสรพรีเมียร์ลีกใช้จ่ายเงินมากพอสมควร โดยมีการใช้จ่าย 230 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าช่วงปีที่แล้วที่มีการใช้จ่าย 180 ล้านปอนด์ แต่ยังน้อยกว่าในฤดูกาล 2017-18 ที่มีการจ่ายเฉพาะในเดือนมกราคมถึง 430 ล้านปอนด์

 

ทาคุมิ มินามิโนะ นักเตะที่สร้างความฮือฮาตั้งแต่ต้นตลาดการซื้อขายรอบนี้

 

‘บิ๊กเนม’ ที่ไม่ได้เป็นบิ๊กเนมแท้ๆ

ดาวเด่นสำหรับตลาดการซื้อขายรอบนี้หนีไม่พ้น บรูโน แฟร์นันด์ส มิดฟิลด์จอมทัพทีมชาติโปรตุเกสที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตามตื๊อตลอดทั้งเดือนก่อนจะประสบความสำเร็จก่อนเส้นตายแค่ 1 วัน ด้วยค่าตัว 47 ล้านปอนด์ (และอาจสูงสุดที่ 67.7 ล้านปอนด์) 

 

ในพรีเมียร์ลีกยังมีดีลที่น่าตื่นเต้นอื่นๆ อีก อาทิ การทุบสถิติสโมสรของเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในการคว้า ซานเดอร์ เบิร์ก จากเกงค์ ในราคา 22 ล้านปอนด์ ขณะที่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จ่ายเงิน 27.2 ล้านปอนด์ซื้อขาด โจวานนี โล เชลโซ กองกลางทีมชาติอาร์เจนตินาที่ยืมตัวจากเรอัล เบติส เพื่อทดแทน คริสเตียน เอริคเซน ที่ย้ายไปอินเตอร์ มิลาน และอีก 27 ล้านปอนด์สำหรับ สตีเวน เบิร์กไวจ์น ปีกดาวรุ่งทีมชาติเนเธอร์แลนด์จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟน

 

ส่วนวูล์ฟส์ คว้า ดาเนียล โพเดนซ์ ปีกดาวรุ่งชาวโปรตุเกสจากโอลิมเปียกอส 16.9 ล้านปอนด์ ขณะที่อาร์เซนอลแก้ปัญหาขาดงบประมาณด้วยการขอยืม ปาโบล มารี จากฟลาเมงโก พร้อมออปชันซื้อขาด

 

รายที่คุ้มค่าแต่ฮือฮามากคือ ทาคุมิ มินามิโนะ ตัวรุกสารพัดประโยชน์ที่ลิเวอร์พูลได้ตัวมาจากเรดบูล ซัลซ์บวร์ก ในราคาแค่ 7.2 ล้านปอนด์

 

อีกหนึ่งสตาร์จากซัลซ์บวร์ก ที่ย้ายทีมได้ฮือฮาและคุ้มค่าไม่แพ้กันคือ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ กองหน้าที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ ที่ย้ายไปร่วมทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในราคา 17 ล้านปอนด์เท่านั้น ขณะที่เรอัล มาดริด ทุ่มเงิน 26 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ ‘นิว เนย์มาร์’ เรเนียร์ เชซุส จากฟลาเมงโก 

 

การออกจากอียูจะส่งผลต่อโควตานักฟุตบอลต่างชาติแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน?

 

Brexit มีผลต่อตลาดนักเตะไหม?

ตลาดการซื้อขายในอังกฤษรอบนี้ปิดตัวลงพร้อมกับที่อังกฤษได้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ

 

อย่างไรก็ดี Brexit ไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดนักเตะในรอบนี้แต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการซื้อขายผู้เล่นของอังกฤษในอนาคต

 

ดาเนียล กีย์ ทนายความด้านกีฬาผู้เขียนหนังสือ Done Deal ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC Sport ว่า “หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของใบอนุญาตทำงานว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ ในปัจจุบันมันถูกใช้สำหรับนักเตะที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ในการจะย้ายมาเล่นในสหราชอาณาจักร ซึ่งต่อไปจะต้องถูกใช้กับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักรด้วย

 

“เกณฑ์ในการพิจารณานักฟุตบอลนอกอียูในปัจจุบันที่จะมาเล่นในพรีเมียร์ลีก คือเรื่องของชาติที่พวกเขาเล่นให้และอันดับใน FIFA World Ranking ควบคู่ไปกับจำนวนการติดทีมชาติชุดใหญ่ของพวกเขาในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ว่ามันก็มีข้อยกเว้น ยิ่งค่าตัวและค่าเหนื่อยสูงมากเท่าไร ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เล่นที่มีพรสวรรค์โดดเด่น และควรจะได้รับใบอนุญาตทำงาน”

 

ในเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการตรวจคนเข้าเมืองในอนาคต แต่กีย์ เชื่อว่าสโมสรต่างๆ ควรจะได้รับอนุญาตให้มีผู้เล่นต่างชาติในจำนวนที่แน่นอน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นผู้เล่นจากไหน

 

…และทั้งหมดคือบทสรุปสำหรับตลาดการซื้อขายฤดูหนาวประจำปี 2020 ที่เกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว ซึ่งน่าจะพอเห็นแนวทางและทิศทางสำหรับการซื้อขายนักฟุตบอลในอนาคต ที่เชื่อว่าจะกลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง สโมสรจะคิดก่อนซื้อมากขึ้น ซื้อได้ฉลาดขึ้น และมีวิธีบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้น

 

ในวงเล็บว่า แต่ถ้าหากฉุกเฉินอาการหน้ามืดก็อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกันเป็นครั้งคราว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X