×

ไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจโลก-ไทย

โดย SCB WEALTH
31.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • หลังสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกกลับต้องเผชิญความเสี่ยงใหม่ๆ ตั้งแต่ต้นปี ทั้งความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 
  • ในอดีตที่เคยเกิดการระบาดของโรค SARS ในปี 2002-2003 และ MERS ในปี 2014 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวปรับตัวลดลงกว่า 40% ณ ตอนนี้เราคงต้องมาจับตาดูพัฒนาการของการระบาดว่า ผู้ติดเชื้อจะมากสักแค่ไหน ในช่วงแรกๆ ความกลัวและกังวลจะสูงที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ ความกลัวและกังวลก็จะค่อยๆ ลดลง รวมไปถึงความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกด้วย
  • ในกรณีที่ภัยแล้งยาวนานกว่าที่คิด โดยยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อ GDP ในภาคอุตสาหกรรมด้วย
  • ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งและการระบาดของโคโรนาไวรัสได้ในระดับหนึ่ง ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าราคาน้ำมันไม่ปรับเพิ่มขึ้น และทรงตัวในระดับต่ำ ผลกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้นไทยก็คงจะมากขึ้น

ตั้งแต่ปลายปี 2019 จนเข้าสู่ปี 2020 ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูจะคลี่คลายไปในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายก็สามารถหาข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ได้สำเร็จ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งสองได้พักรบกันชั่วคราว ทำให้ความกังวลคลี่คลายลงไปความเชื่อมั่นกลับเข้ามาแทน 

 

สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเอเชีย เริ่มเห็นชัดมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจในยุโรปหลายๆ ตัวก็ออกมาดีกว่าที่คาด ธนาคารกลางทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายไปอีกพักใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเจอกับภาวะถดถอยหรือ Recession ในปี 2020 อยู่ในระดับที่ต่ำมาก 

 

แต่พอความเสี่ยงเก่าๆ ได้ผ่านพ้นไป ทั่วโลกก็เจอกับความเสี่ยงใหม่ๆ ตั้งแต่ต้นปีกันเลยทีเดียว มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง และผลกระทบจะเป็นอย่างไร

 

เรื่องแรก ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน โดยทางสหรัฐฯ ได้ใช้โดรนไปสังหาร นายพล กัสเซม โซเลมานี นายพลคนสำคัญของอิหร่าน ใกล้กับสนามบินในกรุงแบกแดดของอิรัก ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางอิหร่านก็ได้มีการตอบโต้โดยยิงขีปนาวุธราว 13-15 ลูก เข้าไปในฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศอิรัก โดยที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ยังดีที่เรื่องนี้ไม่บานปลายขึ้นมาจนถึงขั้นเผชิญหน้ากันด้วยสงครามแบบเต็มรูปแบบ ทางสหรัฐฯ เลือกใช้วิธีตอบโต้อิหร่านด้วยวิธีเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทน ทำให้ทั่วโลกคลายความกังวล และราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาในระดับก่อนที่จะเกิดความตึงเครียดขึ้น 

 

สิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อจากนี้คือ การตอบโต้แบบกองโจร ซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความตึงเครียดที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับความเสี่ยงในเรื่องการปิดช่องแคบฮอร์มุส เรายังมองว่ามีความเป็นไปได้ในระดับที่ต่ำมาก

 

เรื่องที่ 2 ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีจุดกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย เมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน 

 

ไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อกันได้แบบคนสู่คน ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จนตัวเลขล่าสุด (31 มกราคม) ผู้ติดเชื้อได้พุ่งขึ้นเกิน 9,815 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 213 คน ณ ตอนนี้ อัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ราว 2.7% ทางด้านจีนเองก็พยายามต่อสู้กับปัญหานี้อย่างเต็มที่ ทั้งออกมาตรการปิดเมืองต่างๆ งดการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทในเมืองที่มีการปิด 

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้สั่งยกเลิกทัวร์จีนที่จะไปต่างประเทศทั้งหมด เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างสายการบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และค้าปลีก ได้รับผลกระทบโดยตรง 

 

ในอดีตที่เคยเกิดการระบาดของโรค SARS ในปี 2002-2003 และ MERS ในปี 2014 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวปรับตัวลดลงกว่า 40% ณ ตอนนี้ เราคงต้องมาจับดูพัฒนาการของการระบาดว่าผู้ติดเชื้อจะมากสักแค่ไหน ทางจีนเองก็พยายามที่จะสกัดการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ในช่วงแรกๆ ความกลัวและกังวลจะสูงที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักระยะ ความกลัวและกังวลก็จะค่อยๆ ลดลง รวมไปถึงความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกด้วย

 

เรื่องที่ 3 ปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย โดยมีปัจจัยมาจาก 3 สาเหตุ 

 

ปัจจัยที่ 1 ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปี 2020 นี้ ปริมาณน้ำฝนจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3-5% 

 

ปัจจัยที่ 2 ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 29% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่อยู่ที่ระดับ 40% 

 

ปัจจัยที่ 3 มีภาวะของเอลนีโญอ่อนๆ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องภัยแล้งสูงขึ้น ซึ่งจะไปกระทบกับ GDP ในภาคการเกษตรที่มีโอกาสจะติดลบได้สำหรับปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 

 

และสุดท้าย จะส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง ในกรณีที่ภัยแล้งยาวนานกว่าที่คิด โดยยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อ GDP ในภาคอุตสาหกรรมด้วย

 

เมื่อมองความเสี่ยงทั้งสามรวมกัน จะมีความน่าจะเป็นและผลกระทบ ดังนี้ 

 

ในกรณีที่ราคาน้ำมันมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและทรงตัวในระดับสูง ภาพรวมของดัชนียังจะพอเติบโตได้ เนื่องจากกำไรของกลุ่มน้ำมันคิดเป็น 30% ของ SET Index ขณะที่กำไรของกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกคิดเป็น 10% ของ SET Index เท่านั้น ดังนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งและการระบาดของโคโรนาไวรัสได้ในระดับหนึ่ง ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าราคาน้ำมันไม่ปรับเพิ่มขึ้นและทรงตัวในระดับต่ำ ผลกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้นไทยก็คงจะมากขึ้น

 

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากความกังวลในเรื่องโคโรนาไวรัสที่อาจจะทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงชั่วคราว ภาพระยะกลางและยาว ราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในกรณีที่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางกลับมาอีกครั้ง

 

SCBS คาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดิมที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% โดยมีสาเหตุจากภาวะภัยแล้งและนักท่องเที่ยวที่จะปรับลดลง

 

ภาพรวมของการลงทุนในปีนี้ยังคงเน้นในกลุ่มวัฏจักร โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว กลุ่มที่เน้นคือกลุ่มพลังงานน้ำมัน ปิโตรเคมี จาก Valuation ที่ต่ำ กำไรที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงขาลงด้านราคาหุ้นที่จำกัด 

 

ทางด้านกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นอีกกลุ่มที่ให้น้ำหนักมากจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลก และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X