Apple เปิดเผยผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณการเงิน 2020 (29 กันยายน – 28 ธันวาคม 2019) พบว่าในช่วงไตรมาสนี้ Apple สามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ โดยกวาดรายได้รวมไปได้ทั้งสิ้น 91,819 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วราว 9% และทำสถิติเป็นผลประกอบการรายไตรมาสที่เติบโตสูงสุดตลอดกาล
ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจและสัดส่วนรายได้ของ Apple แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 79,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+7.7%) และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มบริการอีก 12,715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+17%)
เมื่อจำแนกลงรายละเอียดตามแต่ละชนิดสินค้า จะพบว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Wearables (รวม Home และ Accessories) เป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตในเชิงรายได้สูงสุดที่ 37% ตามมาด้วย iPhone ที่ 7.6% ส่วน iPad และ Mac มีอัตราการเติบโตของรายได้ลดลงที่ 11% และ 3.5% ตามลำดับ
ทิม คุก ซีอีโอ Apple กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ผลประกอบการของ Apple ในรายไตรมาสนี้สามารถทุบสถิติเป็นผลประกอบการรายไตรมาสที่มีรายได้สูงสุดได้สำเร็จ โดยได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อ iPhone 11 และ iPhone 11 Pro นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มบริการและ Wearables ก็ยังทำสถิติมียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
“ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ยอดการใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราในแต่ละภูมิภาคเติบโตสูงสุดแตะหลัก 1.5 พันล้านเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราพบว่านี่คือข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้ถึงความพึงพอใจ การมีส่วนร่วม และความภักดีที่ผู้ใช้งานมีต่อเรา”
อย่างไรก็ดี ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซีอีโอของ Apple ยังได้กล่าวถึงประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดจากอู่ฮั่นในประเทศจีนไปทั่วโลกว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ Apple ในจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เริ่มออกมาตรการควบคุมเส้นทางการเดินทางของพนักงานบริษัท ปิดสโตร์ในจีนหนึ่งแห่ง และจำกัดระยะเวลาให้บริการของสโตร์ในจีนไปแล้ว
ขณะที่ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับประกอบผลิตภัณฑ์ของ Apple ก็อยู่ในอู่ฮั่นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานบางส่วนในจีนที่ต้องปิดทำการชั่วคราวจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ตามคำแนะนำของรัฐบาลจีน
“เรามีซัพพลายเออร์ของเราในบริเวณอู่ฮั่น โดยซัพพลายเออร์ทุกเจ้าล้วนแล้วแต่มีลู่ทางสำรองของพวกเขา เรากำลังดำเนินการหาแนวทางและแผนบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียความสามารถในการผลิตสินค้า” ทิม คุก กล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: