สำหรับแฟนๆ NFL แล้ว ซูเปอร์โบวล์ในครั้งนี้คงให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่กันทีเดียว เพราะเราจะไม่ได้เห็น ทอม เบรดี นำบรรดาขุนพลนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ลงแข่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
จะว่าไปแล้ว เพเทรียตส์ก็สร้างสีสันมาอย่างเต็มที่ในซูเปอร์โบวล์ ทั้งการคัมแบ็กระดับประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการต่อเวลาครั้งแรกเมื่อครั้งที่ 51, แพ้พลิกล็อก ทั้งๆ ที่พวกเขาทำได้ 33 แต้ม เมื่อครั้งที่ 52 และอาศัยเกมป้องกันเล่นงานแรมส์ จนกลายเป็นซูเปอร์โบวล์สกอร์น้อยนิดเมื่อปีที่ผ่านมา
ซูเปอร์โบวล์เช้าวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นครั้งที่ 54 และถือเป็นวาระพิเศษครบรอบ 100 ปี ของลีกพอดี จัดแข่งกันที่ฮาร์ดร็อก สเตเดียม ในไมอามีการ์เดนส์ มลรัฐฟลอริดา
ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์ส ตัวแทนจากฝั่ง NFC ได้แชมป์ครั้งสุดท้ายเมื่อ 25 ปีก่อน หลายคนคงจำเรื่องราว สตีฟ ยัง ก้าวพ้นเงาของ โจ มอนทานา ออกมาอย่างเต็มตัว
แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ตัวแทนจากฝั่ง AFC ได้แชมป์ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่มีการรวมลีกระหว่าง AFL กับ NFL ด้วยซ้ำ
กีฬาอะไรหรือมหกรรมอะไรที่แข่งกันยาวนานนับศตวรรษ จะมีตำนานเรื่องเล่ากันอย่างมากมาย
เอาแค่เรื่องเล่าที่มาของคำว่า ซูเปอร์โบวล์ ก็ไม่ธรรมดาแล้ว
ชีฟส์เป็นของตระกูลฮันต์ ซึ่งเก่าแก่และยิ่งใหญ่มาก มีส่วนสำคัญกับการทำให้ลีกเป็นเช่นทุกวันนี้
เมื่อปี 2016 ผมไปนั่งอยู่ในสัปดาห์ซูเปอร์โบวล์ ซึ่งจัดในซานตาคลารา ก็ได้ยินเรื่องที่ยืนยันหลักฐานจากที่เคยอ่านบนอินเทอร์เน็ตถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมเกมชิงแชมป์ NFL จึงมีชื่อเรียกกันว่า ซูเปอร์โบวล์
ปีดังกล่าวคือ ปีที่ซูเปอร์โบวล์ครบรอบ 50 ครั้ง
มีการเชิญแขกพิเศษเพียง 16 รายในโลก ซึ่งได้ดูซูเปอร์โบวล์ครบทั้ง 50 ครั้ง มานั่งคุย
หนึ่งในนั้นก็คือ นอร์มา ฮันต์ ภรรยาของ ลามาร์ ฮันต์ ผู้ก่อตั้งทีมชีฟส์
เธอบอกว่า “ลามาร์กับฉันดูซูเปอร์โบวล์ด้วยกัน 40 ครั้ง (ก่อนจะล่วงลับ) เขายังอยากให้ฉันดูต่อไป ซึ่งฉันก็ดูมาจนครบ 50 ครั้งนี่แหละ
“ฉันได้เห็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บางทีก็ได้เห็น MVP ซึ่งแบกทีมของพวกเขาคว้าชัยชนะ”
ฮันต์ได้เห็นเกมเปลี่ยนโฉมไปจากการชิงแชมป์ธรรมดา กลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ
เธอจะต้องคอยถ่ายรูปกับโลโก้ของเกมปีนั้นๆ
“มันจะได้เป็นหลักฐานว่า ฉันอยู่ที่นั่นจริง” นอร์มาพูดพร้อมเสียงหัวเราะ ทั้งจากเธอเองและคนฟังด้วย
จากนั้น คลาร์ก ฮันต์ เจ้าของทีมชีฟส์ปัจจุบัน กับแดเนียล ลูกชายคนสุดท้อง ก็จะหอมแก้มแม่ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และลามาร์ก็นั่งดูเกมทุกปี จนเสียชีวิตไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2006
คลาร์กเล่าว่า “หนึ่งในสิ่งที่พ่อสั่งเสียผมกับน้องชายก่อนเขาเสียชีวิตไม่นานก็คือ ผมต้องพาแม่ไปดูซูเปอร์โบวล์ปีนั้น มันแสดงให้เห็นว่า เขาใส่ใจอยากให้แม่รักษาสถิติมากเพียงใด”
ทำไมตระกูลนี้ถึงเป็นผู้ให้กำเนิดซูเปอร์โบวล์
นอร์มาเล่าว่า มันเกิดขึ้นที่ร้านขายของเล่นในเมืองดัลลัส ซึ่งปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว
“ตอนฉันเข้าไปก็เห็นพวกเขาจัดดิสเพลย์หน้าเคาน์เตอร์ มีรูป มีกระดาน มีแป้น พร้อมภาพเด็กๆ กระดอนเจ้าซูเปอร์บอลกัน มันทำให้คุณคิดภาพว่า บอลพวกนั้นจะกระดอนไปทั่วในบ้านหลังเล็กๆ ฉันคิดว่าลูกของเราต้องชอบมาก
“ฉันจึงซื้อมา 3 อัน เพราะลูกชายคนเล็กสุดยังไม่คลอด เอาไว้ให้คลาร์ก, ชาร์รอน และ ลามาร์ จูเนียร์ ปรากฏว่า พวกเขาสนุกกันมาก”
ลามาร์ ฮันต์ กำลังรู้สึกเบื่อคำว่า เกมชิงแชมป์โลก AFL-NFL อย่างที่สุด เขาคิดว่า มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อที่สุดเท่าที่ได้ยินมาในชีวิต
“ดังนั้นพอถึงการประชุมลีก (ในเรื่องตั้งชื่อซูเปอร์โบวล์) ชื่อของเกมที่ลูกๆ เล่นกันก็ผุดเข้ามาในหัว ทุกวันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์อย่างที่ทราบกัน มันออกมาดีทีเดียว”
ย้อนกลับมาทำความรู้จักกับสองคู่ชิงซูเปอร์โบวล์ในคราวนี้
ชีฟส์กับโฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สไม่เคยเจอกันในซูเปอร์โบวล์ โดยสถิติพบกันตลอดฤดูกาลปกติ โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สเหนือกว่า 7-6 เกม
ชีฟส์เข้ารอบมาด้วยสถิติ ชนะ 14 เกม แพ้ 4 เกม มี แอนดี้ รีด เฮดโค้ชผู้เก่งกาจเกมบุกวัย 61 ปี
แอนดี้ รีด สะสมชัยชนะในฤดูกาลปกติมากที่สุดอันดับ 7 ตลอดกาล (207 เกม) แต่ยังไม่ได้สัมผัสแชมป์
ครั้งที่ใกล้เคียงที่สุดเกิดเมื่อเขาพาฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์เข้าไปพ่ายเพเทรียตส์ เมื่อซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 39 และจากนั้นก็ไม่เคยเข้าไปชิงอีกเลย
โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สเข้ารอบมาด้วยสถิติ ชนะ 15 เกม แพ้ 3 เกม โดยมี ไคล์ เชนาแฮน เฮดโค้ชซึ่งคนในวงการยกย่องว่า เป็นเด็กอัศจรรย์ในการสร้างสรรค์เกมบุก อายุเพิ่ง 40 ปีเท่านั้น
ไมค์ พ่อของเชนาแฮนไม่ธรรมดา เคยนำทีมเดนเวอร์ บรองโกส์คว้าแชมป์เมื่อซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 32 และ 33 มาแล้ว
พวกเขาคือ พ่อลูกคู่แรกซึ่งได้เป็นเฮดโค้ช และนำทีมลงแข่งซูเปอร์โบวล์
เกมนี้ยังมีนิกเนมกันว่า โจ มอนทานา โบวล์ เพราะ มอนทานา ควอร์เตอร์แบ็กระดับตำนานเริ่มต้นอาชีพกับโฟร์ตี้ ไนน์เนอร์ส ก่อนย้ายไปปิดเส้นทางกับชีฟส์ เขายังพูดติดตลกเมื่อทราบว่าอดีตทีมเก่าได้พบกันว่า “คุณได้ยินจากปากผมก่อนใครเพื่อนเลยนะ ผมขอการันตีว่า ทีมผมจะได้แชมป์ซูเปอร์โบวล์!”
จุดเด่นของทั้ง 2 ทีม
ชีฟส์มีจุดเด่นที่ควอร์เตอร์แบ็ก แพทริก มาโฮมส์ ซึ่งเวลาเขาลงตัวจริง ทีมสถิติ ชนะ 27 เกม แพ้ 8 เกม และ 8 เกมที่แพ้ รวมกันแค่ 36 คะแนน ไม่มีสักครั้งที่ทีมพ่ายเกิน 7 คะแนนด้วย
ระหว่างเพลย์ออฟ มาโฮมส์นอกจากขว้างบอลอย่างหลากหลาย ยังเป็นคนที่วิ่งได้ระยะมากที่สุดของทีม มีศักยภาพในการเปลี่ยนเฟิสต์ดาวน์และทัชดาวน์ เขาคือควอร์เตอร์แบ็กรายที่ 4 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งวิ่งอย่างน้อยถึง 50 หลา ในเกมเพลย์ออฟติดกัน
อย่างไรก็ตาม พวกเขาซึ่งยังมีตัวเกมบุกเด่นๆ หลายราย น่าแปลกคือ เวลาบุกเข้า Red Zone คู่แข่ง หรือเส้น 20 หลา กลับได้ทัชดาวน์กลับมาแค่ 54% ในฤดูกาลปกติ ตรงจุดนี้ถือว่าสำคัญมาก เมื่อเจอเกมเดิมพันระดับซูเปอร์โบวล์
โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สมีจุดเด่นเรื่องการเอาชนะเกมหลายรูปแบบ ทั้งถล่มขาดลอย หรือสูสี และพวกเขาไม่เคยแพ้อย่างขาดลอยด้วย ขนาดบางเกมฟอร์มไม่ค่อยดี ก็ยังหาทางยื้อได้จนวินาทีสุดท้าย
ด้วยเกมบุกดุดัน โดยเฉพาะการวิ่งทะลวงช่องของ ราฮีม มอสเติร์ต, เกมป้องกันเหนียวแน่น และทีมพิเศษแข็งแกร่ง ทำให้ทีมของเชนาแฮนสู้ได้ทุกทีมในลีก และเชื่อว่า แม้ต้องเจอเวทีใหญ่ที่สุดของซีซันก็ไม่เกรงกลัว แม้ตัวผู้เล่นหลายคนอายุยังน้อย
จุดอ่อนของพวกเขาแทบไม่มี นอกจากตัวคุมปีกฝั่งตรงข้าม คอร์เนอร์แบ็กสุดเก๋า ริชาร์ด เชอร์แมน และอาจรับมือควอร์เตอร์แบ็กคล่องแคล่วลำบากหน่อย
คำถามสำคัญสำหรับสองทีมคู่ชิง
เชื่อว่า มาโฮมส์และเกมบุกชีฟส์น่าจะยังคงโดดเด่น แม้ต้องปะทะกับทีมรับสุดแกร่งของโฟร์ตี้ ไนน์เนอร์ส แต่ฝั่งของเกมป้องกันภายใต้การดูแลของ โค้ชสตีฟ สแป็กนูโอโล จะยังคงรักษาฟอร์มเหนียวแน่น เหมือนที่ต้าน เดอร์ริก เฮนรี ยอดรันนิ่งแบ็กไททันส์ ในเกมล่าสุด เสียระยะเพียง 69 หลา ได้หรือไม่ ในเมื่อโฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สคือทีมที่มีเกมวิ่งอย่างหลากหลาย
ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์ส เพิ่งใช้การบุกทางพื้นดินทำลาย กรีน เบย์ แพ็กเกอร์ส ในเกมชิงแชมป์ NFC จนกระจุย ถ้าชีฟส์หวังทำให้ แอนดี้ รีด ได้สัมผัสแชมป์ สมัยแรก ก็ต้องหาทางยันไม่ให้คู่แข่งควบคุมเกมวิ่ง พร้อมบีบให้ควอร์เตอร์แบ็ก จิมมี การ็อปโปโล ต้องพยายามเอาชนะพวกเขาด้วยการปาลูกแทน
โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์ส เคยกำราบ ดัลวิน คุก และเกมวิ่งของมินเนโซตา ไวกิงส์ในรอบดิวิชันนอลมาอย่างเห็นผล ต่อด้วยเล่นงาน อารอน ร็อดเจอร์ส กับเกมขว้างของกรีน เบย์ แพ็กเกอร์สในรอบชิงแชมป์ NFC พวกเขามีกองหน้าที่อุดมไปด้วยตัวเก่งดีกรีดังมาตั้งแต่สมัยเล่นในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ นิก โบซา ซึ่งอาจจะเร็วพอสำหรับการวิ่งไล่โจมตีใส่มาโฮมส์
อย่างไรก็ตาม นั่นคือทฤษฎี เพราะเวลามาโฮมส์ เจ้าของตำแหน่ง MVP เมื่อปี 2018 ร่างกายสมบูรณ์ ก็จะนำทัพชีฟส์ ซึ่งมีความเร็วจัดจ้าน เล่นงานคู่แข่งได้ในเวลาพริบตา
เกร็ดน่าสนใจสำหรับซูเปอร์โบวล์
- มีอีกถึง 12 ทีม ที่ไม่เคยได้แชมป์ซูเปอร์โบวล์ ประกอบด้วย บราวน์ส, ไลออนส์, จากัวร์ส, เท็กแซนส์, ชาร์จเจอร์ส, ไททันส์, คาร์ดินัลส์, แพนเธอร์ส, ฟอลคอนส์, เบงกอลส์, บิลล์ส และไวกิงส์
- โดยในกลุ่มนี้ บราวน์ส, ไลออนส์, จากัวร์ส และเท็กแซนส์ ไม่เคยแม้แต่หลุดเข้ามาชิง
- มีควอร์เตอร์แบ็กตัวจริงเพียงคนเดียวที่ได้แชมป์ซูเปอร์โบวล์กับสองทีม เขามีชื่อว่า เพย์ตัน แมนนิง
- เคยมีผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ได้ตำแหน่ง MVP หรือผู้เล่นทรงคุณค่าของเกม ทั้งที่อยู่กับฝ่ายแพ้ เขามีชื่อว่า ชัก ฮาวลีย์ ทั้งที่ดัลลัส คาวบอยส์ของเขาพ่ายบัลติมอร์ โคลต์ส เมื่อซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 5
- แม้จะแข่งบนสนามเป็นกลาง เพราะยังไม่เคยมีเจ้าบ้านทีมไหนหลุดเข้ามาถึงซูเปอร์โบวล์ แต่ทีมจาก AFC กับ NFC จะสลับกันได้สิทธิ์เป็นเจ้าบ้าน
- ปีนี้สิทธิ์เจ้าบ้านเป็นของ AFC ชีฟส์จึงขอเลือกชุดแข่งสีแดง กางเกงขาว ปล่อยให้โฟร์ตี้ ไนน์เนอร์สเลือกชุดเยือนคือ สีขาว กางเกงสีทอง
- มันยังเป็นซูเปอร์โบวล์ครั้งแรกด้วย ที่สองคู่ชิงมีชุดแข่งหลักสีแดงมาเจอกัน
- แพทริออตส์เข้าชิงซูเปอร์โบวล์มากที่สุด 11 สมัย เหนือกว่าสตีลเลอร์ส, คาวบอยส์ กับบรองโกส์ ถึง 3 ครั้ง
- แพทริออตส์เป็นแชมป์มากที่สุด 6 ครั้ง เท่ากับสตีลเลอร์ส
- เพเทรียตส์ยังแพ้ในซูเปอร์โบวล์มากที่สุดถึง 5 ครั้ง เท่ากับบรองโกส์
- สาเหตุที่เกมซูเปอร์โบวล์ใช้เป็นตัวเลขโรมัน ก็เกิดจากไอเดียของ ลามาร์ ฮันต์ เจ้าของทีมชีฟส์เช่นเคย
- โดยมีการริเริ่มใช้เมื่อครั้งที่ 5 (V) เขามองว่า เกมชิงแชมป์จะแข่งกันในปีที่ต่อจากฤดูกาลปกติ เพื่อป้องกันความสับสน จึงควรหาอะไรที่เพิ่มความแตกต่าง จากนั้นตัวเลข I ถึง IV จึงเอาไปเพิ่มในซูเปอร์โบวล์ 4 ครั้งก่อนหน้า
- ภายหลังมีเพียงซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 50 ซึ่งใช้เลขอารบิก ไม่ได้ใช้ L เพราะฝ่ายการตลาดของลีกมองว่า มันออกแบบมาแล้วทำให้สวยได้ยาก
- รางวัลของซูเปอร์โบวล์มีชื่อเรียกกันว่า วินซ์ ลอมบาร์ดี โทรฟี เพื่อให้เกียรติกับตำนานเฮดโค้ชกรีน เบย์ แพ็กเกอร์ส เมื่อยุค 1960
- ส่วนรูปทรงถ้วยแชมป์ที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ทำจากเงินสเตอร์ลิง ทางพีท โรแซลล์ คอมมิสชันเนอร์ลีก สมัยนั้นได้ติดต่อบริษัท ทิฟฟานี่แอนด์โคให้ช่วยออกแบบ
- ออสกา รีดเนอร์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบของบริษัท เป็นชาวสวิส ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลแต่อย่างใด เขาไปยังร้านขายของเล่น FAO Schwartz ซื้อลูกฟุตบอลมาหนึ่งลูก วางลงบนโต๊ะกินข้าว เช้าวันรุ่งขึ้น รีดเนอร์หยิบกล่องคอร์นเฟล็กส์มาเทลงถ้วย ลงมือตักกินไป นั่งมองฟุตบอลลูกดังกล่าวไป กระทั่งเขาอิ่ม ก็หยิบกรรไกรมาตัดกล่องคอร์นเฟล็กส์เปล่าๆ ทันที ทำให้มันเป็นฐานรองโทรฟี มีลูกฟุตบอลวางอยู่ด้านบนได้
- ซูเปอร์โบวล์ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 1967 ในเมโมเรียล โคลิเซียม เมืองลอสแอนเจลิส เป็นการพบกันระหว่างกรีน เบย์ แพ็กเกอร์ส ตัวแทนของ NFL ปะทะแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ ตัวแทนของ AFL ซึ่งถือเป็นลีกคู่แข่ง ผลคือแพ็กเกอร์สชนะขาดลอย 35-10 คะแนน มีคนดูวันนั้น 61,946 ราย