×

‘หุ้นท่องเที่ยว-การบิน’ กอดคอร่วงต่อ หลังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น!

โดย SCB WEALTH
22.01.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

เช้านี้ (22 มกราคม) สำนักงานสาธารณสุขของจีนรายงานว่า มียอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อ 440 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2.04% ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยผู้ป่วยคนดังกล่าวเพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 มกราคม และล่าสุดรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษมาเก๊าได้ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวรายแรกในเขต โดยผู้ป่วยคนดังกล่าวได้เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นเช่นกัน

 

นอกจากผู้ติดเชื้อในประเทศจีนแล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศอื่น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และล่าสุดที่สหรัฐอเมริกา

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน และท่าอากาศยาน ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องจากวานนี้ ได้แก่

 

  • บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ลดลง 4.06%DoD
  • บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ลดลง 3.59%DoD
  • บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลดลง 1.39%DoD
  • บมจ. การบินไทย (THAI) ลดลง 0.78%DoD 

 

ขณะที่ราคาหุ้น บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) มีการฟื้นตัวเล็กน้อย 1.28%DoD และราคาหุ้น บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (MINT) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า

 

และหากนับตั้งแต่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฯ รายแรกในประเทศไทย (14 มกราคม) จนถึงวันนี้ พบว่า ราคาหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดคือ

 

  • บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ลดลง 11.03% 
  • บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ลดลง 10.42%
  • บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ลดลง 8.25%
  • บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลดลง 5.96%
  • บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (MINT) ลดลง 5.07%
  • บมจ. การบินไทย (THAI) ลดลง 4.51%

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS คาดว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจถูกกดดันอีกระยะหนึ่ง หากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงมากขึ้น และลุกลามไปยังหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ SCBS ได้ศึกษาผลกระทบของโรคระบาดต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย 2 เหตุการณ์ในอดีต ดังนี้

 

เหตุการณ์ที่ 1 ฮ่องกงตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) พบว่า ช่วงที่ศึกษา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 21 สิงหาคม 2546 ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับลงอย่างมาก เช่น MINT -21%, THAI -16%, CENTEL -15% และ ERW -13%

 

เหตุการณ์ที่ 2 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) รายแรกในประเทศไทย พบว่า ช่วงเวลาที่ศึกษา วันที่ 18 มิถุนายน 2558 – 8 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ International Civil Aviation Organization (ICAO) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีข้อบกพร่องต่อความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ THAI -16%, MINT -15%, AOT -14%, ERW -11%, CENTEL -11% และ AAV -10%

 

ซึ่งจากการศึกษาของ SCBS พบว่า หุ้นดังกล่าวใช้เวลา 4-5 เดือน ในการฟื้นตัวสู่ระดับก่อนพบการระบาดของโรคซาร์ส 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส โดยยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงการระบาดลุกลามสู่ชุมชน และองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้มีประกาศห้ามเดินทางแต่อย่างใด จึงเป็นประเด็นที่คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาว SCBS มองว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกหลายเรื่อง เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า การแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรง และการถูก Disruption จากคู่แข่งรายใหม่ๆ ซึ่งคงยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

สามารถอ่านบทวิเคราะห์ กลุ่มท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา เพิ่มเติมได้ที่ SCBS

 

หมายเหตุ: %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า

 

ข้อมูลควรรู้:

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา ดังนี้ 

 

  1. คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 4 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต

 

  1. ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น

 

  1. การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ตามข้อมูลจาก WHO มีผู้ติดเชื้อโรคซาร์ส 8,098 รายทั่วโลก (ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2545 – กรกฎาคม 2546) และมีผู้เสียชีวิต 774 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X