ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบลึกลับ หรือปอดอักเสบอู่ฮั่นในจีน ได้สร้างความตื่นตระหนกและวิตกกังวลไปทั่วโลก ทางการจีนยืนยันจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อแล้วกว่า 400 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในไทย รวมถึงสหรัฐฯ ที่เพิ่งยืนยันผลการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าติดไวรัสโคโรนาหลังเดินทางกลับจากจีนเช่นกัน
แน่นอนว่าตลาดหุ้นซึ่งมีความอ่อนไหวต่อข่าวร้ายย่อมมีปฏิกิริยาต่อข่าวนี้ โดยเป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่กดดันดัชนี Dow Jones ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลง 152.06 จุด เมื่อวันที่ 21 มกราคม (อีกปัจจัยสำคัญมาจากการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของ IMF)
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) คืออะไร?
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสกลุ่มใหญ่ที่ปกติพบในสัตว์ แต่ในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic) ซึ่งแม้มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่
เมื่อคนติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแล้ว อาจทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือปอดอักเสบ (Pneumonia) โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับเป็นหวัด กล่าวคืออาจมีอาการไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ปวดศีรษะ หรือเป็นไข้
ส่วนไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้ถูกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นเหตุของ SARS หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งเคยระบาดหนักในปี 2003 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 774 คน จากจำนวนผู้ป่วย 8,098 คน
น่ากังวลแค่ไหน?
ศูนย์วิจัยในลอนดอนประเมินว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจสูงถึง 1,723 ราย โดยต้นตอน่าจะมาจากตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน แต่สาเหตุหรือสัตว์พาหะที่แท้จริงยังไม่มีการระบุแน่ชัด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเพียงว่าน่าจะมาจากสัตว์ เพราะนอกจากตลาดอู่ฮั่นจะค้าอาหารทะเลแล้ว ยังมีการซื้อขายสัตว์ เช่น ไก่ ค้างคาว กระต่าย งู ซึ่งอาจเป็นแหล่งต้นตอของการแพร่ไวรัสได้เช่นกัน
ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขจีนยืนยันว่าพบกรณีการติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คนด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางคนไม่เคยมีประวัติเดินทางไปตลาดอาหารทะเลอู่ฮั่นโดยตรงในช่วงที่ผ่านมา นั่นเท่ากับว่าการควบคุมหรือกักกันโรคอาจทำได้ยากขึ้น แต่ WHO ระบุว่า โอกาสติดเชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งสามารถป้องกันได้
พบการระบาดที่ไหนแล้วบ้าง
เบื้องต้นมีหลายประเทศแล้วที่รายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประกอบด้วยจีน (อู่ฮั่น, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, มณฑลกวางตุ้ง), ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา และไทย (2 ราย)
ผลกระทบทางเศรษฐกิจในมุมมอง KTBST
รายงานพิเศษจากบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST ระบุว่า ถึงแม้กลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาอย่าง MERS และ SARS จะมีความรุนแรงโดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 45% และ 10% ตามลำดับ แต่พบว่าโอกาสการแพร่กระจายและการติดต่อของไวรัสอยู่ในระดับ 0.5-2.5 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่แพร่กระจายได้ยาก
ส่วนผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นยังต้องรอข้อมูลการยืนยันถึงแหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัส ตลอดจนช่องทางในการแพร่กระจายเสียก่อน ซึ่ง KTBST คาดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวจะกดดันภาคการท่องเที่ยว และการโรงแรมทั่วโลกโดยตรง และจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ในทางอ้อม
โดยในภาคการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวในระยะสั้นราว 1 เดือน เช่นเดียวกับผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น หากสามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของไวรัสว่ามาจากสัตว์ชนิดใด
ผลกระทบต่อตลาดหุ้น
KTBST ประเมินว่าเซกเตอร์และหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1: กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงก่อนกลุ่มอื่นๆ โดยจะมีผลต่อราคาหุ้นทั้งในเชิงจิตวิทยาและรายได้ที่ลดลง ได้แก่หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและท่องเที่ยว คือ กลุ่มสายการบิน สนามบิน และโรงแรม สืบเนื่องจากนักท่องเที่ยวและการเดินทางที่น่าจะลดลง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างไทย-จีน เพราะมีการเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ และองค์การอนามัยโลก
แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายไวรัส อีกทั้งสถานการณ์การระบาดก็อาจไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เนื่องจากมีมาตรการยับยั้งที่รวดเร็ว ดังนั้นจึงอาจมีผลกระทบในระยะสั้น
กลุ่มที่ 2: กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หากมีการแพร่ระบาดเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งวัดจากจำนวนผู้ป่วยที่มีนัย แบ่งเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีกและเครื่องสำอาง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประชาชนอาจเกิดความตื่นกลัว จึงออกมาจับจ่ายสินค้าน้อยลง อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลดีต่อสินค้าที่มีการสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยธุรกิจที่จะถูกกระทบโดยตรงจะเป็นห้างสรรพสินค้า และระบบขนส่งมวลชน
กลุ่มที่ 3: กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ โดยมีธุรกิจเพียงไม่กี่ประเภทที่ได้ประโยชน์จากการระบาด ซึ่งหลักๆ ท่ี KTBST พบคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล รวมถึงผู้ผลิตเครื่องมือ-อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของโรค เช่น ถุงมือยาง และหน้ากากอนามัย เป็นต้น
มาตรการรับมือและป้องกันของไทย
เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่าทางการไทยมีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา โดยแบ่งเป็น
1. การคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 4 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต
2.ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น
3. การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคและมีอาการไข้ หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422
สำหรับความเสี่ยงที่มีต่อประเทศไทยนั้น เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีเที่ยวบินตรงจากอูฮั่นสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที และมีผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยวันละ 1,200 คน
ส่วนคนไทยที่เดินทางไปจีนมีประมาณปีละ 7 แสนคน และอยู่อาศัยในจีนประมาณ 12,000 คน โดยเป็นนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2 ใน 3 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นมีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนคนจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน จากประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- รายงานพิเศษ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)
- www.bbc.com/thai/thailand-51089461
- edition.cnn.com/2020/01/20/health/what-is-coronavirus-explained/index.html
- องค์การอนามัยโลก (WHO)
- www.nytimes.com/2020/01/21/health/what-is-coronavirus.html
- ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.html