ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงหลายแห่งในเกาหลีใต้เริ่มปรับโมเดลการให้บริการ และการทำธุรกิจของตัวเองแล้ว นำโดย ‘E-Mart’ หนึ่งในยักษ์ใหญ่แวดวงร้านสะดวกซื้อ โดยเปิดทางให้ร้านค้าแฟรนไชส์ในเครือบางแห่งสามารถขยับเวลาเปิด-ปิดร้านในช่วงกลางดึกได้ และนำโมเดลร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานมาปรับใช้ หลังประสบปัญหาแบกรับต้นทุนค่าจ้างพนักงานสูง กระทบผลประกอบการบริษัทอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ ยักษ์ใหญ่ผู้นำในอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ทั้ง 3 ราย GS Retail (GS25), BGF Retail (CU Shops) และ Lotte Group (7-Eleven) ได้เริ่มนำร่องใช้โมเดลการปิดร้านสาขาแฟรนไชส์ในช่วงกลางดึกกันไปแล้วทั้งสิ้น หากร้านค้าในเครือประสบกับปัญหาขาดทุนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน
E-Mart ซึ่งถือเป็นผู้เล่นในตลาดในลำดับที่ 4 ที่เริ่มเข้ามารุกธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงในช่วงปี 2014 หรือเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ก็เป็นผู้ประกอบการอีกรายที่นำโมเดลการปรับเวลาให้บริการรูปแบบดังกล่าวมาปรับใช้เช่นกัน และเลือกปิดให้บริการในช่วงเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้าในบางสาขา
ทั้งนี้ นิกเคอิ มองว่าการที่ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงในเกาหลีใต้หลายแห่งเริ่มปรับใช้โมเดลปิดให้บริการในช่วงกลางดึกในบางสาขาที่ผลประกอบการไม่เข้าเป้า มาจากนโยบายที่ประธานาธิบดีมุนแจอิน ได้หาเสียงและปรับขึ้นค่าแรงของแรงงานเกาหลีใต้ขั้นต่ำขึ้นอย่างน้อยราว 29% ต่อชั่วโมงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็น 8,350 วอนหรือราว 220 บาทในปี 2019
นอกจากนี้ E-Mart ยังได้ทดสอบให้บริการร้านค้าไร้พนักงาน (Cashier-Free) ที่ร้านค้าบางสาขาของพวกเขาในกรุงโซลมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 โดยได้ติดตั้งกล้องมากกว่า 30 ตัวภายในร้าน เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว และการหยิบสินค้าจากชั้นวางของลูกค้า ก่อนจะหักเงินจากบัตรเครดิตของผู้ใช้บริการในรูปแบบเดียวกันกับโมเดลที่ Amazon ใช้กับ Amazon Go
ปัจจุบัน ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงหลายแห่งในบางประเทศเริ่มปรับโมเดลธุรกิจ และระยะเวลาให้บริการกันแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีที่ 7-Eleven ในญี่ปุ่นได้เริ่มปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงในบางสาขาของพวกเขา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง