วานนี้ (9 มกราคม) กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารนิเทศ ระบุว่าได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือในกรอบคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) โดยมี ธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เพื่อประเมินสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และบูรณาการการเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิรักและอิหร่านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งให้การสนับสนุนสถานเอกอัครราชทูตที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุดังกล่าว
โดยการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศมีดังนี้
- รัฐบาลไทยได้ติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดในอิรักและอิหร่านอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงกังวล
- ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักและอิหร่าน กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชทูตในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ประกาศแจ้งเตือนคนไทยในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ได้แก่ 1.สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ได้ออกประกาศแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปอิรักยกเว้นการเดินทางไปอิรักเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ และ 2.สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้คนไทยในอิสราเอลและอียิปต์เพิ่มความระมัดระวัง โดยสถานเอกอัครราชทูตทั้งสามแห่งได้ประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อสถานเอกอัครราชทูตในกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว
ผลการประชุมของคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) มีดังนี้
ที่ประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) เห็นว่า ในชั้นนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิหร่านและอิรักได้ตามแผนในสถานการณ์ที่จำเป็นและเหมาะสม โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่โดยตรงจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน
ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์สถานเอกอัครราชทูตทั้งสองแห่ง เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่มีความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของคนไทยในพื้นที่ โดยคนไทยยังใช้ชีวิตตามปกติ
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือคนไทยตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และเห็นพ้องกันว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องส่งพาหนะพิเศษจากส่วนกลางไปช่วยเหลือคนไทยในประเทศที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเป็นระยะๆ ตามความจำเป็นเร่งด่วน
มีการพิจารณาแผนเผชิญเหตุและแผนอพยพคนไทยในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน โดยคณะทำงาน RRC ได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่เกี่ยวข้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งบูรณาการการให้ความช่วยเหลือคนไทยของส่วนราชการด้วยแล้ว
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นจะมีการประชุม RRC เพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลืออีกครั้งในโอกาสแรก
ภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์