ถ้าจะพูดถึงข้อดีของประเทศไทย สิ่งที่เรานึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือเรื่องของอาหาร เรามีอาหารให้เลือกซื้อหามากมายหลายระดับ ทั้งอาหารราคาถูกคุณภาพดี และอาหารพรีเมียมราคาแพงที่มาพร้อมกับสตอรีที่น่าสนใจ ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารที่มีอยู่นี้ อาจเป็นสิ่งที่คนไทยรู้สึกเคยชิน และคิดว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ แต่จริงๆ แล้วการที่คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารดีๆ ได้อย่างทั่วถึงนั้น ก็เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในการวางรากฐานธุรกิจอาหารที่ทั้งปลอดภัยและมีราคาที่จับต้องได้ รวมถึงการคำนึงถึงความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมาตรฐานการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน
ธุรกิจอาหารเหล่านี้มีการทำงานกันอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงที่มาของวัตถุดิบ มีการทำงานที่เคารพสิทธิมนุษยชน มีการคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในการทำธุรกิจ หมายความว่าธุรกิจเหล่านี้ล้วนแต่มีความผูกพันกับคนไทยในหลายๆ แง่มุม แล้วก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน THE STANDARD จึงร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พาคุณมาเจาะลึก 2 ธุรกิจอาหารที่เพิ่งได้รับรางวัล SET Sustainability Awards 2019 ว่าเบื้องหลังการทำธุรกิจอาหารที่ยั่งยืนนั้น มีหัวใจสำคัญอะไร
ณฤทธิ์ เจียอาภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งอันดับต้นๆ ของไทย ได้เปิดออฟฟิศย่านสาทรต้อนรับทีมงานให้เข้าพบและสัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังแนวคิดในการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน จนได้รับรางวัลเกียรติยศ Sustainability Awards of Honor 2 ปีติดต่อกัน โดยได้มอบรางวัลไปแล้วในงาน SET Awards ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสพิเศษมากที่เราได้ถอดบทเรียนนี้ถ่ายทอดให้กับทุกคน
“ถ้าจะพูดถึงความยั่งยืน เราก็ต้องมองให้ไกล ไกลกว่าตัวเรา สมมติว่าเราไปซื้อกุ้งจากเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งแล้วปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ทำลายชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไปซื้อจากเขา ถึงแม้ว่าต้นทุนอาจจะถูกกว่า ก็เท่ากับว่าเราสนับสนุนการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นอันดับแรกเราก็ต้องคิดว่า ถ้าเราปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แล้วเกษตรกรทุกรายทำแบบนี้ ประเทศไทยอาจจะถูกเพ่งเล็ง อาจจะถูกตำหนิว่าเมืองไทยเราไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม CFRESH คิดว่าเราน่าจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้นส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน เรามีทีมที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เข้าไปช่วยส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งที่ถูกต้อง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ไปสอนเขาว่าต้องทำฟาร์มอย่างไรถึงจะได้มาตรฐาน ไม่ผิดกฎหมาย ในเรื่องนี้เราก็เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เพราะถ้าไม่เริ่มต้นทำ สักวันหนึ่งโรงงานก็ต้องปิด เพราะไม่มีใครเลี้ยงกุ้งมาขายให้เรา”
ธุรกิจอาหาร สินค้าก็คือวัตถุดิบที่ต้องมีการดูแลใส่ใจ มีการใช้แรงงานคนเพื่อดูแลสัตว์เหล่านี้ ซึ่งก็คือต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ทาง CFRESH เองก็ไม่ได้วางบทบาทที่จะเลี้ยงกุ้งเอง วัตถุดิบส่วนใหญ่จะเป็นการรับซื้อจากเกษตรกร หมายความว่าความมั่นคงของธุรกิจส่วนหนึ่งก็มาจากซัพพลายเออร์ด้วยเช่นกัน
“ความยั่งยืนของธุรกิจอาหาร เราต้องทำให้ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของเราเข้มแข็ง ไล่ตั้งแต่ลูกกุ้ง อาหารสัตว์ คนเลี้ยง โรงงาน ผู้ซื้อ แล้วก็ตลาด ถ้าห่วงโซ่ไหนที่อ่อนแอ มันก็ขาด ทำให้ธุรกิจชะงัก ถึงแม้ว่าเราจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ แต่เราก็ต้องทำให้ทั้งห่วงโซ่แข็งแรง ด้วยการทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ทั้งเรื่องของกฎหมาย สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดเราไปซื้อกุ้งจากฟาร์มที่ผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต แล้วอาศัยเขาอย่างเดียว แล้วเขาถูกสั่งปิด เราก็ไม่มีของขายเลย เราจึงต้องเข้าไปดูแล ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครสั่ง เราก็ควรต้องรู้ว่าอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้เราก็สามารถยืนยันกับลูกค้าได้ว่าเราซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสตอรีที่ลูกค้าของเราเอาไปขยายผลต่อได้”
ความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคู่ค้า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่เรารู้สึกได้เมื่อได้พูดคุยกับผู้บริหารท่านนี้ ทั้งหมดนี้คือการทำงานของทีมงานที่มีคุณภาพ ที่เกิดจากการสร้างคน เพื่อที่จะเป็นแขนขาของธุรกิจในการถักทอห่วงโซ่อุปทานนี้ให้แข็งแรงในทุกๆ ข้อ
“สุดท้ายแล้วธุรกิจก็อยู่ที่กำไรขาดทุน แต่ทุกอย่างมันก็อยู่ที่ความเชื่อและความศรัทธา อย่างผมเองเป็นซีอีโอของ CFRESH เป็นทั้งเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ ผมก็จะดูแลตั้งแต่นโยบาย ถ้าพูดแบบง่ายๆ เลยก็คือ ค้าขายต้องตรงไปตรงมา ห้ามเอาเปรียบซัพพลายเออร์ เราพยายามให้คนรู้ว่า ถ้าขายให้เรา คุณไม่เสียเปรียบ แต่บางคนเขาไม่สนใจว่าคุณจะดีแค่ไหน เขาเอาราคาเป็นหลัก บางทีราคาขึ้นเราก็ซื้อไม่ได้ บางคนตกลงราคาแล้ว พรุ่งนี้ราคาขึ้นก็บอกว่าไม่ขายแล้ว ถ้าเราเจอซัพพลายเออร์แบบนี้ก็หลีกเลี่ยง ไม่ส่งเสริมเขา เพราะมันก็เป็นความเสี่ยงของเราด้วย แล้วเรื่องอย่างนี้ผมก็ทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าลูกน้องไปโกหก ไปเอาเปรียบซัพพลายเออร์ เราก็ไม่รู้หรอก ดังนั้นเราจะต้องแน่ใจว่าลูกน้องของเราเป็นคนที่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องของคนทำงานก็เป็นห่วงโซ่หนึ่งเช่นกัน การที่จะทำห่วงโซ่อุปทานให้สำเร็จ ก็ต้องมาจากคนก่อน เมื่อคนมีความเชื่อ มีศรัทธา ในนโยบายเราที่บอกว่าต้องมีความโปร่งใส เราก็สามารถสร้างคนที่จะไปทำงานขยายผลให้เราได้เช่นกัน”
ณฤทธิ์ปิดท้ายบทสนทนาด้วยการชวนเราคุยเรื่องคน และหลักการพัฒนาคนที่เขาคิดค้นขึ้นมาใช้ภายในองค์กร หากใครคิดว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เลย ซีอีโออารมณ์ดีกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะลาจากกัน
หลังจากไปแวะย่านสาทร เราก็มีโอกาสขยับมาย่านสีลม ณ อาคาร CP Tower ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้เปิดห้องประชุมให้ทีมงานได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองถึงการทำธุรกิจของ CPF ที่นับว่าเป็นบริษัทที่มีซัพพลายเชนที่ยาวและซับซ้อนมากที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก ซึ่งสิ่งนี้ก็คือจุดแข็งของบริษัทที่ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน จนได้รับมอบรางวัล Highly Commended in Sustainability Awards เมื่อ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเช่นกัน
“คือถ้าพูดถึงซัพพลายเชน บางคนอาจจะคิดถึงแค่การส่งของ แต่จริงๆ ซัพพลายเชนมันคือภาพรวมทั้งระบบ เป็นกระดูกสันหลังของธุรกิจ อย่างซัพพลายเชนของเราก็คือยาวมหาศาลเลย แล้วข้อดีของมันก็คือ เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นหมูหรือไก่ที่ไปถึงคนทาน เรารู้ว่าสินค้านั้นมาจากไหน เพราะฉะนั้นซัพพลายเชนจริงๆ แล้วรากฐานของมันคือ Food Safety เพราะเราก็จะดูหมดว่ากระบวนการต่างๆ มันมีประสิทธิภาพไหม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไหม แล้วมาตรฐานของเราก็คือเป็น Global Standard เพราะการส่งออกได้ก็ต้องมีมาตรฐานที่สูง หรือบางหน่วยงานมาตรฐานของเขาสูงกว่า Global Standard ปกติด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของการดูแลสวัสดิภาพแรงงาน ทั้งหมดมันต้อง Integrate กัน”
ประสิทธิ์ฉายภาพให้เห็นถึงระบบซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของ CPF ที่สะท้อนถึงรากฐานในเรื่องของอาหารที่มีความปลอดภัยและมีราคาที่จับต้องได้ รวมถึงความเข้มแข็งของธุรกิจอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการเป็นครัวโลกมาอย่างยาวนาน
“ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ราคาอาหารถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เนื่องจากประเทศไทยเรามีการพัฒนาเรื่อง Food Safety มานานมาก เราก็เลยกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของโลก ซึ่งสินค้าผลิตตามมาตรฐานการส่งออก ส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาขายในประเทศ แล้วเมื่อระบบเศรษฐกิจของเรามีผู้นำ มันก็มีคนที่พัฒนาตามเรา หลายๆ บริษัทในธุรกิจอาหารเขาก็เก่งๆ กันทั้งนั้น ทั้งหมดมันเกิดจากการที่มีผู้นำที่ลงมือทำก่อน แล้วก็มีผู้ตามเกิดขึ้น ประเทศไทยก็เลยกลายเป็นประเทศที่อาหารทั้งอร่อยทั้งดี เพราะพื้นฐานมันเกิดจากการที่มีบริษัทที่ทำธุรกิจอาหารเยอะ”
เมื่อถามถึงนิยามของความยั่งยืนในแบบของ CPF คำตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนก็คือ ยึดหลัก 3 ประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง แล้วก็เป็นหลักการสำคัญที่สุดที่บริษัทยึดถือในการทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนและส่งผลต่อทุกภาคส่วนในสังคม
“CPF มองว่าความยั่งยืนก็คือการทำอะไรที่เป็น Long Term เป็นการทำงานระยะยาว ส่วนจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนก็ต้องย้อนกลับมาที่หลักการ 3 ประโยชน์ ก็คือประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อองค์กร เราอยู่ในประเทศไทย เราก็ต้องผลิตสินค้าให้คนในประเทศอยู่ดีกินดีขึ้น สินค้าก็ต้องมีราคาที่จับต้องได้ ที่บอกว่าความยั่งยืนคือการทำธุรกิจได้ในระยะยาว แปลว่าประเทศก็ต้องดี แล้วการที่เรามีโรงงานกว่า 30 โรงงานทั่วประเทศ เราก็ต้องดูแลชุมชนแถบนั้น ทั้งโรงเรียน คนแก่ ป่าไม้ หรือการส่งเสริมศักยภาพให้เกษตรกรที่ขายวัตถุดิบให้เรา เราก็ทำทั้งหมด แม้แต่การเข้าไปช่วยสร้างระบบไอทีให้กับกรมประมงเพื่อลงทะเบียนเรือประมง และลูกเรือ เพื่อให้ประเทศไทยไม่ติดใบเหลืองของ IUU เราก็ทำ แต่เราก็โชคดีตรงที่ถึงแม้ว่าเราจะเป็นบริษัทมหาชน แต่บริษัทของเราก็เป็นธุรกิจที่ดูแลโดยครอบครัว แนวทางการทำธุรกิจก็คือการทำแบบระยะยาว ไม่ใช่การดูแลโดยนักลงทุนที่เน้นการทำกำไรในระยะสั้นแน่นอน”
ทั้งหมดนี้คือความหนักแน่นของทั้งสองบริษัท ที่มีแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และรางวัลที่ได้รับมอบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้บริษัทที่มีมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว มีกำลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่กำลังก้าวมาสู่เส้นทางของการทำธุรกิจที่มีความสมดุลทั้งในเรื่องผลประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตได้ สังคมก็ต้องมีรากฐานที่เข้มแข็งมั่นคง ไม่มีใครถูกเอาเปรียบหรือทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า