เกิดอะไรขึ้น:
วันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการฯ เป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2576 ซึ่ง คิง เพาเวอร์ ได้เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรก เป็นจำนวนเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ AOT คาดว่าจะลงนามในสัญญากับ คิง เพาเวอร์ ได้ภายในเดือน มกราคม 2563
กระทบอย่างไร:
ราคาหุ้นของ AOT ในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ปิดที่ 75.00 บาท แต่หลังจากมีการประกาศข่าวดังกล่าว ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น (24 ธันวาคม) ราคาหุ้นปรับลดลงตั้งแต่เปิดตลาด โดยอยู่ที่ 74.50 บาท และเคลื่อนไหวในทิศทางลงตลอดทั้งวัน ก่อนจะปิดที่ 73.25 บาท ลดลง -2.33%DoD ขณะที่วันที่ 25-26 ธันวาคม 2562 ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้นมา โดยปิดที่ 74.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 2.05% จากราคาปิดวันที่ 24 ธันวาคม 2562
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น AOT ปรับลง มาจากผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีแรกที่ AOT ได้รับจากสัมปทานใหม่ที่ 1.5 พันล้านบาท ไม่ได้ต่างจากผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีสุดท้ายของสัมปทานปัจจุบันที่ 1.4 พันล้านบาทมากนัก แม้ว่าส่วนแบ่งรายได้ของสัมปทานใหม่จะถูกปรับเพิ่มเป็น 20% (จาก 15% ในปัจจุบัน) แต่ก็ถูกหักล้างไปด้วยส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงของการประกอบกิจการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่จะลดลงเหลือ 3-5% เนื่องจาก AOT ต้องการให้เป็นแนวทางเดียวกันกับสัมปทานปัจจุบันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (คิดส่วนแบ่งรายได้ที่ 3%) ดังนั้นจึงประเมินว่าสัมปทานใหม่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนี้ ไม่ได้มีผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานแต่อย่างใด
มุมมองระยะยาว:
ยังต้องติดตามการประมูลกิจการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งล่าสุดได้มีการระงับเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาเพียงรายเดียวคือ บจ.คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขการประมูลที่จำนวนผู้ซื้อจะต้องมากกว่า 2 ราย โดยคณะกรรมการ AOT จะมีการประชุมเพื่อสรุปประเด็นนี้ในภายหลัง ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา 2 ราย ได้แก่ บจ.คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ซึ่งการประมูลจะดำเนินต่อไป และ AOT จะประกาศผู้ชนะในวันที่ 27 มกราคม 2563
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการแบ่งรายได้ที่จัดเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge: PSC) สนามบิน 6 แห่งของ AOT ไม่เกิน 10% เข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งยังต้องรอกฤษฎีกาตีความ คาดว่าจะใช้เวลานับจากนี้อีกกว่า 3-6 เดือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน และกดดันราคาหุ้นจนกว่าจะมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว
ข้อมูลพื้นฐานเพิ่มเติม:
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ดำเนินธุรกิจให้บริการท่าอาศยานในประเทศไทย 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดย AOT มีรายได้มาจากค่าบริการขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าบริการจอดอากาศยาน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวกในการบิน
นอกจากนี้ AOT ยังมีรายได้ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินประกอบด้วย ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร ค่าเช่าที่ดิน รายได้เกี่ยวกับการบริการ และรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์จากร้านค้าในอาคารผู้โดยสาร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า