×

iSEE เครื่องมือ ‘มองหา’ เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ทุกคน ‘มองเห็น’ โอกาสมอบการศึกษาเป็นของขวัญ

โดย THE STANDARD TEAM
20.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นช่วยเหลือเด็กไทยที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ ‘จดหมายลาครู’ จากการติดตามผ่านระบบ iSEE แม้จะช่วยเด็กได้กว่า 700,000 คน แต่เงินสนับสนุนก็ยังไม่เพียงพอ 
  • กสศ. เปิดตัวโครงการ ‘ล้านพลังคนไทย มอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ’ ชวนคนไทยร่วมกันบริจาคเงินช่วยเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ ‘จำเป็น เร่งด่วน และรอไม่ได้’ 
  • การบริจาคกับ กสศ. มีระบบ iSEE เป็นเครื่องมือชี้เป้าความช่วยเหลือ มุ่งไปยังเด็กที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ ติดตามได้ว่าเงินบริจาคของเราจะถึงมือเด็กทุกคน

‘เด็กไทยกว่า 2,000,000 คน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา’ นี่คือข้อเท็จจริงที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ค้นพบ แม้ว่าจะเริ่มต้นสื่อสารไปสู่สังคมผ่านโครงการ ‘จดหมายลาครู’ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการนำระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education: iSEE) ซึ่งเป็น Big Data ขนาดใหญ่มาช่วยค้นหา 

 

ยิ่งหาก็ยิ่งพบว่า ยังมีเด็กอีกมากที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กส่วนใหญ่ประสบปัญหาความยากจนของครอบครัว และอีกไม่น้อยที่มีความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน และหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีและพอเพียง  เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องลาออกและหลุดจากการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ 

 

iSEE เครื่องมือค้นหาเด็กยากจน รายงานผล และติดตามเด็กจนสำเร็จการศึกษา ไม่ให้หลุดออกนอกระบบ

 

กสศ. ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 700,000 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ปัจจุบันจำนวนเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น โดยมีมากถึง 430,000 คน (อายุระหว่าง 6-14 ปี/ป.1-ม.3) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แม้ว่า กสศ. จะทำการช่วยเหลือผ่านโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค ที่เกิดจากความร่วมมือของครูกว่า 4 แสนคนจาก 3 สังกัด ได้แก่ สพฐ. ตชด. และ อปท. ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ค้นหา คัดกรองเด็กๆ ยากจนด้อยโอกาสเพื่อให้ได้รับทุนเสมอภาคของ กสศ. จำนวนเงินทั้งหมดที่มีก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจากการประเมินของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พบว่า กลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ กสศ. มีมากกว่า 4 ล้านคน และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านงบประมาณมากกว่าปีละ 25,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพียง 2,537 ล้านบาท หรือเพียง 10% ของงบประมาณที่ควรจะได้รับตามภารกิจเท่านั้น

รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเหล่านี้คือเด็กที่ต้องรีบให้การช่วยเหลือแบบ ‘จำเป็น เร่งด่วน และรอไม่ได้’
สิ่งที่ทำให้ กสศ. คัดกรองถูกคนและสามารถแก้ไขปัญหารายคนได้ตรงจุดหากมีเงินบริจาคเพียงพอ เพราะด้วยศักยภาพของระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนภายใต้ระบบ iSEE ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็น Big Data ของเด็กยากจนระดับประเทศ คัดกรองเด็กด้วยการวิจัย จึงช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและลงลึกไปถึงรายบุคคล ติดตามจนสำเร็จการศึกษา ไม่ให้หลุดออกนอกระบบ งบประมาณหรือเงินบริจาคที่ได้มาสามารถตามดูได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน สบายใจได้ว่า เงินที่ต้องการส่งให้ถึงมือเด็กๆ พวกเขาได้รับจริง และนำไปใช้เพื่อการศึกษา

ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บโดยครูที่ลงพื้นที่จริง ทำงานบนระบบออนไลน์หมด สำหรับโหลดข้อมูลที่จำเป็นลงบนสมาร์ทโฟนในกรณีพื้นที่ที่ไปไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ครูที่ลงพื้นที่จะต้องเก็บข้อมูลเพื่อมาคัดกรอง ได้แก่ ข้อมูลผู้ปกครอง รายได้ สถานะครัวเรือน ข้อมูลเด็กทั้งด้านสุขภาพ ไปจนถึงพฤติกรรมความเสี่ยงและผลการเรียน พร้อมทั้งถ่ายรูปบ้านของนักเรียนแล้วอัปโหลด เพื่อดึงพิกัด GPS อัตโนมัติ ด้วยระบบ GIS Coordinate นอกจากนั้นการเซ็นรับรองสถานะเด็กยากจนพิเศษจำเป็นต้องใช้หลักฐานลายเซ็นจากสามฝ่ายคือ ครูผู้กรอกข้อมูล ผู้ปกครองเด็ก และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วย เพื่อยืนยันความถูกต้อง ข้อมูลทั้งหมดที่เก็บมาจะถูกนำกลับมาอัปโหลดลงเซิร์ฟเวอร์ของ กสศ.”  

 

 

ครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กเก็บข้อมูลเพื่อมาคัดกรองเด็กยากจน 

 

iSEE เห็นอะไรบ้างที่คนไทยควรเห็น
15 บาทต่อวัน คือรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อวัน
กสศ. พบว่าครอบครัวของนักเรียนยากจนด้อยโอกาสที่เข้าไปช่วยเหลือนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 462 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 15 บาทต่อวัน หรือเพียง 5,544 บาทต่อปีเท่านั้น ส่วนรายได้เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2,093 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 69 บาทต่อวัน เฉลี่ยมีรายได้ 25,116 บาทต่อปี โดยเป็นการทำข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือน ซึ่งถูกนำมาคำนวณด้วยวิธีการทางสถิติแบบวัดรายได้ทางอ้อม (ProxyMeans-Tests: PMT)

 

19,000 คน คือจำนวนของเด็กที่มีภาวะ ‘ทุพโภชนาการ’ โดยเกือบครึ่งไม่ได้ทานอาหารเช้า
ข้อมูลจากระบบ iSEE พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษที่ผอมต่ำกว่าเกณฑ์การเจริญเติบโตกว่า 19,000 คน และยังพบนักเรียนที่มีแนวโน้มเสี่ยงผอมต่ำกว่าเกณฑ์อีกกว่า 33,000 คน มีการสัมภาษณ์ครูทั้งหมด 1,337 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2562 พบว่าเด็ก 44.5% ที่ไม่ได้ทานอาหารเช้าเพราะความยากจน

– จังหวัดนราธิวาสมีเด็กยากจนพิเศษผอมต่ำกว่าเกณฑ์การเจริญเติบโตมากที่สุด 1,313 คน
รองลงมาคือ นครราชสีมา 1,006 คน, ยะลา 781 คน, ปัตตานี 692 คน, อุบลราชธานี 681 คน, บุรีรัมย์ 657 คน, ศรีสะเกษ 633 คน, ตาก 518 คน, อุดรธานี 516 คน และสุรินทร์ 491 คน

ข้อมูลจากนักโภชนาการระบุว่า เด็กไม่ได้ทานข้าวเช้าส่งผลต่อการทำงานของร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะสมองจะได้รับผลกระทบไวที่สุด มีอาการเซื่องซึม ไม่มีแรง คิดอะไรไม่คล่อง จึงเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แก้ปัญหาไม่ได้ และหากเด็กมีภาวะโภชนาการตั้งแต่อายุน้อย ส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยง่าย

– 20 กิโลเมตร คือระยะทางเท้าไป-กลับโรงเรียนของเด็กในพื้นที่ห่างไกล
เดินไปปากซอยไม่ถึง 1 กิโลเมตร คนเมืองอย่างเราก็บ่นแล้วบ่นอีก แต่ iSEE ทำให้เราเห็นโลกอีกด้านของเด็กบ้านไกล ไม่มีค่ารถมาเรียน แต่อดทนเดินทางไปกลับโรงเรียนกว่า 20 กิโลเมตร ข้ามน้ำ ข้ามภูเขา ซึ่งความยากลำบากยังขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เหตุผลที่เด็กเหล่านี้จะหยุดเรียนไม่ใช่ขี้เกียจเดิน แต่ฤดูฝนทีไร พายุทำให้การเดินทางลำบาก เป็นอุปสรรคที่เด็กเหล่านั้นต้องขาดเรียน มีเด็กไม่น้อยยอมแพ้ โดยเฉพาะโรงเรียนตามพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร 

 

 

เด็กๆ ต้องข้ามแม่น้ำด้วยโป๊ะที่ทำจากไม้ไผ่เพื่อไปโรงเรียนทุกวัน

 

เกือบ 200,000 คนเป็นเด็กยากจนด้อยโอกาสที่กำพร้าพ่อแม่
iSEE พบว่ามีนักเรียนยากจนด้อยโอกาสอยู่กับตายายที่กำพร้าพ่อหรือแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่ราวๆ 192,789 คน นี่เป็นปัญหาที่น้อยคนจะหันมอง แต่ความกดดันและความรู้สึกขาดความอบอุ่น ไม่มีที่พึ่ง หรือรู้สึกกดดันที่เป็นภาระให้ปู่ย่าตายาย เด็กส่วนมากเลือกที่จะหยุดเรียนและใช้ชีวิตระหกระเหินเร่ร่อน 

 

– บ้านที่มี บางทีก็เหมือนไม่มี
สภาพบ้านของเด็กบางหลังใช้เพียงเพิงผ้าใบหรือป้ายไวนิลโฆษณาเก่าๆ มากันแดด กันฝน บางหลังไม่มีแม้แต่ฝาผนัง หลังคามุงด้วยหญ้าคาเก่าๆ น้ำไฟไม่มีใช้ จะทำการบ้านต้องจุดเทียน หรือใช้ไฟจากแสงถนน เมื่อเด็กเหล่านี้ต้องอยู่บ้านที่ไม่ปลอดภัย นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ก็ไม่มีสมาธิในการเรียน 

 

สภาพบ้านของเด็กยากจนพิเศษ ที่บังแดดไม่พ้น บังลมไม่ได้ 

 

iSEE ไม่ได้ช่วยค้นหาแค่เด็กยากจน แต่ค้นลึกไปถึงอนาคตของชาติ
จากข้อมูลที่ iSEE ค้นพบเมื่อมองให้ลึกกว่าแค่ปัญหาความยากจนหรือเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวเองและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Dr.Nicholas Burnett เคยประเมินว่าปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยมากกว่าปีละ 1-3% ของ GDP

หรือแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Professor Abhijit Banerjee และ Professor Esther Duflo ยังกล่าวว่า “การพัฒนาประเทศอาจมิใช่การมุ่งอัดฉีดเงินผ่านการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คือการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทุนในการศึกษาและสาธารณูปโภค ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคต”

หากมองในมิตินี้ การรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษาจึงไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสในอนาคตของเด็กๆ แต่ยังสร้างผลกระทบทางบวกในการพัฒนาประเทศในภาพรวม เพราะโอกาสที่สูญเสียไปทางการศึกษาของเด็กๆ กลุ่มนี้ก็คือโอกาสที่สูญเสียไปของประเทศเช่นกัน

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เผยว่า ลำพัง กสศ. และงบประมาณแผ่นดินที่จำกัดอาจไม่สามารถช่วยเด็กทุกคนได้ทันเวลา จึงเปิดโครงการ ‘ล้านพลังคนไทย มอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ’ เพื่อชวนคนไทยมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมี หนึ่ง จักรวาล ขึ้นมาเล่นเปียโนและร้องเพลงบนเวที พร้อมเสียงร้องเพราะๆ จากเด็กๆ ทุนเสมอภาค และสร้างความสุขด้วยมินิคอนเสิร์ตเปิดหมวก ‘มอบโอกาสเป็นของขวัญ’ จาก ลุลา, Season Five, มาเรียม B5 และรุจ เดอะสตาร์  

 

น้องๆ เด็กทุนเสมอภาคร่วมร้องเพลงกับครูหนึ่ง จักรวาล

 

คุณเองก็ร่วมเป็นหนึ่งพลังบริจาคช่วยเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ มั่นใจได้ว่าเงินบริจาคจะใช้เทคโนโลยีทางการเงินในการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนและแอปฯ ที่ติดตามป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาไปจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าเงินทุกบาทของรัฐและเงินบริจาคจากทุกคนจะไม่รั่วไหล 

 

บริจาคได้ที่ www.eef.or.th/donate หรือ โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 172-0-30021-6 ชื่อบัญชี กสศ. มาตรา 6(6) – เงินบริจาค

เพราะการศึกษาคือโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิต ร่วมให้ ‘โอกาส’ เป็น ‘ของขวัญ’ และสัญญาว่าเราจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลังอีกต่อไป 

FYI
  • แอปพลิเคชัน iSEE สามารถเรียกดูข้อมูลรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษได้ทุกสถานที่และทุกเวลา รวมทั้งข้อมูลภูมิสารสนเทศของสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่ง และผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุน ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด สถานศึกษา ไปจนถึงระดับผู้เรียนมากกว่า 500,000 คน
  • เงินบริจาคทุกบาทนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X