×

ย้อนอดีตค่ายเพลงครีเอเทีย อาร์ทติสท์ ที่มีนักแต่งเพลงอย่าง พนเทพ สุวรรณะบุณย์ และจิระ มะลิกุล

01.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ถึงแม้ว่าค่ายครีเอเทีย อาร์ทติสท์ จะมีช่วงเวลาในการดำเนินธุรกิจเพียง 4 ปี (2528-2532) แต่ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญ บทเพลงและศิลปินเหล่านั้นยังคงความคลาสสิกมาจนถึงทุกวันนี้
  • กะท้อน ศิลปินเพื่อชีวิตที่ผสมผสานความเป็นไทยอยู่ในบทเพลงจนเป็นเอกลักษณ์ และเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มกับค่ายนี้เยอะที่สุดคือ 4 ชุด ตั้งแต่ปี 2529-2532
  • เฉลียง ศิลปินกลุ่มที่ออกอัลบั้มที่ 2 ของวง (แต่เป็นอัลบั้มแรกกับค่ายนี้) ในชื่อ อื่นๆ อีกมากมาย (2529) ภายใต้การดูแลของ ประภาส ชลศรานนท์
  • ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ออกอัลบั้ม คิดไปเป็นชาวเกาะ ในปี 2529 (อัลบั้มชุดที่ 2 ของตนเอง แต่เป็นอัลบั้มแรกที่ออกกับค่ายนี้) 

     ในช่วงวัยเด็ก หน้าที่หลักของผมอย่างหนึ่งในทุกๆ เช้าวันหยุดสุดสัปดาห์คือการตื่นไปเรียนว่ายน้ำ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอาหารหูที่ผมแทบไม่รู้ตัว เพราะสระแห่งนี้มีการเปิดเพลงคลอในขณะที่เรียนว่ายน้ำอีกด้วย!
     ผมจำได้ว่าทุกเพลงที่เปิดมาจากค่ายเพลงที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้แทบทั้งสิ้น ไม่รู้เป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวของคนดูแลสระ เจ้าของสระ หรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ สระว่ายน้ำแห่งนี้จึงเปิดแต่เพลงที่คัดสรรมาแล้วว่าผ่าน คือเปิดแล้วต้องโดนเท่านั้นน่ะว่าง่ายๆ
     สระแห่งนี้จึงมีจุดขายที่ผมคิดว่าสร้างกุศลในการฟังเพลงอย่างมากมายให้พวกผม เพราะพวกเราจะร้องกันได้แทบทุกเพลง บางทีมีเพลงใหม่มาก็ต้องกลับมารอฟังในสัปดาห์หน้าเพื่อร้องให้ได้ หรือต้องไปหามาต่อยอดกันเอง ใครร้องได้ก่อนชนะ สำหรับผมมันเป็นช่วงเวลาที่สอนอะไรหลายอย่างในยุคที่มีแค่เทปคาสเซตต์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต (และที่สำคัญ ไอศกรีมอร่อยแบบต้องร้องขอชีวิต!) และนี่แหละครับคือ ที่มาของเรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้

     ถ้าย้อนกลับไปราวปี 2528 ประเทศไทยมีค่ายเพลงเล็กๆ เกิดขึ้นชื่อว่า ค่ายครีเอเทีย อาร์ทติสท์ (Creatia Artist) โดยเกิดจากแนวความคิดของ ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ ซึ่งจุดขายหลักๆ ของค่ายในตอนนั้นมาจากนักแต่งเพลงเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะเขียนอะไรออกมาก็ดูจะโดนใจไปซะหมด หลักๆ ก็จะมี ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์, ประภาส ชลศรานนท์, อิทธิ พลางกูร, ธเนส สุขวัฒน์ และจิระ มะลิกุล
     ส่วนศิลปินในค่ายในตอนนั้น ถ้าจะเทียบกับค่ายใหญ่ก็ถือว่ามีจำนวนน้อย สาเหตุก็เพราะค่ายดำเนินธุรกิจเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วยเหตุผลว่าเมื่อหัวเรือหลักมีปัญหาด้านสุขภาพ ค่ายจึงจำเป็นต้องปิดตัวลง

 

 

     ศิลปินหลักๆ ที่ชูธงในตอนนั้นอย่างเช่น ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ศิลปินคนแรกของค่าย มีอัลบั้มทั้งหมด 3 ชุดคือ ปั่น (ฝันที่หลุดลอย) (2528) เพลงดังในอัลบั้มนี้ เช่น รักนิรันดร์, อัลบั้มที่ 2 ปั่น ปั่น (อยากรู้) (2529) เพลงดังในอัลบั้ม เช่น อยากรู้, รักล้นใจ, รักยืนยง และอัลบั้มที่ 3 ปั่น ปั่น ปั่น (เฝ้าคอย) (2530) เพลงดังในอัลบั้ม เช่น เฝ้าคอย, เก็บใจ สามอัลบั้มนี้เรียกว่าเป็นมาสเตอร์พีซก็ว่าได้ เพราะทุกเพลงมีความไพเราะไม่แพ้กันจริงๆ         

 

                                                                             

 

     ศิลปินคนต่อไปที่เรียกได้ว่าชูธงให้กับค่ายนี้และเป็นศิลปินหญิงคนแรกคือ รวิวรรณ จินดา นักร้องดีกรีชนะเลิศสยามกลการ มีอัลบั้มออกมา 2 ชุดคือ รุ้งอ้วน (2529) เพลงดังในอัลบั้ม เช่น รุ้งอ้วน, พี่ชายที่แสนดี เพลงอมตะที่ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนอัลบั้มชุดที่ 2 คือ เพราะเราเข้าใจ (2530) เพลงดังในอัลบั้ม เช่น เพราะเราเข้าใจ, บ้านแสนสุข, ไม่อยากจะสน
     ศิลปินชายเดี่ยวอีกคนที่ถ้าจะไม่พูดถึงคงจะผิดธรรมเนียมเป็นแน่แท้ เพราะเพลงของเขาได้สร้างวลีเด็ดให้วัยรุ่นสมัยนั้นนำไปพูดกันจนเป็นที่ติดปาก ‘ฉันคิดไปเป็นชาวเกาะ’ ก็คือวลีอินดี้ที่มาจากศิลปินชายคนนี้ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล เขาออกอัลบั้ม คิดไปเป็นชาวเกาะ ในปี 2529 (อัลบั้มชุดที่ 2 ของตนเอง แต่เป็นอัลบั้มแรกที่ออกกับค่ายนี้) เพลงดังในอัลบั้มก็แน่นอน ไปเป็นชาวเกาะ เพลงที่เหมือนพูดแทนใจคนกรุงหัวใจอินดี้ในยุคนั้น และอีกเพลงที่โดดเด่นคือ รักเดียวใจเดียว

 

 


     ชรัส เฟื่องอารมย์ ศิลปินที่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีผลงานออกมาให้ได้ยินกันอยู่ในนาม ดึกดำบรรพ์ บอยด์แบนด์ ร่วมกับตุ่น พนเทพ และปั่น ไพบูลย์เกียรติ ชรัสมีผลงานกับค่ายนี้เพียงชุดเดียวคืออัลบั้ม เหงาๆ ก็เอามาฝาก ในปี 2532 เพลงดังเช่น เหงาๆ ก็เอามาฝาก, ง่ายดาย, โปรดโกหกฉันสิ, แรงรัก (ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณาน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง) ในยูทูบยังมีให้ชมกันนะ

     สุรชัย จันทิมาธร หรือที่รู้จักกันดีในนาม หงา คาราวาน ออกอัลบั้มเดี่ยวชื่อ หมายเหตุจากเมืองจีน ในปี 2532 เพลงดังในอัลบั้ม เช่น ดอกไม้หายไป และเพลงบรรเลง ถั่งโถมโหมไฟ การออกอัลบั้มนี้แสดงให้เห็นถึงนโยบายของค่ายที่ไม่ต้องการจำกัดแค่บางแนวเพลง แต่คำนึงถึงคุณภาพของตัวผลงานและศิลปินควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

 

 

     ปวีณา ชารีฟสกุล นักร้องนักแสดงที่ถูกชักชวนมาทำอัลบั้มโดย อิทธิ พลางกูร ออกอัลบั้มแรกชื่อ นัดกันแล้ว (2530) และเป็นอัลบั้มเดียวก่อนที่จะย้ายไปค่ายเอสพีศุภมิตร เพลงดังในอัลบั้ม เช่น นัดกันแล้ว, นี่แหละตัวฉัน

 

 


     เฉลียง ศิลปินกลุ่มที่ออกอัลบั้มที่ 2 ของวง (แต่เป็นอัลบั้มแรกกับค่ายนี้) ในชื่อ อื่นๆ อีกมากมาย (2529) ภายใต้การดูแลของ ประภาส ชลศรานนท์ เพลงเด่นๆ ที่คนฟังส่วนใหญ่ยังจำกันได้ดี เช่น ต้นชบากับคนตาบอด, อื่นๆ อีกมากมาย, เข้าใจ, รู้สึกสบายดี, กล้วยไข่ แต่เพลงที่มีอิทธิพลสำหรับผมมากที่สุดในอัลบั้มนี้คือ เที่ยวละไม เพราะผมเริ่มที่จะเรียนรู้การเล่นกีตาร์ก็จากเพลงนี้แหละครับ เฉลียงออกอัลบั้มกับครีเอเทียฯ เพียงอัลบั้มเดียว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่บริษัทคีตาแผ่นเสียง

 

https://www.youtube.com/watch?v=CPtWyy300GA


     กะท้อน ศิลปินเพื่อชีวิตที่ผสมผสานความเป็นไทยอยู่ในบทเพลงจนเป็นเอกลักษณ์ และเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มออกกับค่ายนี้เยอะที่สุดคือ 4 ชุด ตั้งแต่ปี 2529-2532 ได้แก่ กะท้อน 1 (2529), กะท้อน 2 (ลูกสาวชาวนา) (2530), กะท้อน 3 (ญี่ปุ่น ยุ่นปี่ เจแปน แจนเป) (2531) และ กะท้อนเลือดบวก (2532) เพลงเด่นในอัลบั้มของทั้ง 4 ชุด เช่น บุญแข่งเรือ ที่มีวลีเด็ด ‘บึ้ดจ้ำบึ้ด’ ส่วนของเพลงที่มีความซับซ้อนและโซโลกีตาร์ที่ติดหูก็ต้องเพลง สาวรำวง ที่ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง, เพลง ลูกสาวชาวนา เป็นเพลงที่มีริฟฟ์กีตาร์ติดหูและมีวลีเด็ดคือ ‘ใครเนาะใครเนาะ’, อ้าย…จอห์นสัน เพลงแนวสกาสนุกๆ, ซามูไรบุก วลีเด็ดเพลงนี้คือ ‘ไฮ่…ญี่ปุ่นบุกแล้วววววววว’ และเพลง อ้ายโจ  ซึ่งกะท้อนเป็นวงโปรดวงหนึ่งของผม เพราะมีความทันสมัยในดนตรีและการเขียนเนื้อที่ร่วมสมัย

     สามหน่อ (ขาว-ทัชพงษ์ ลีลาจริยาธรรม, ไก่-ชยันต์ กระชุ่มกระชวย, กั้ม-ธันวา เสถียรปกิรณกรณ์) วงป๊อปร็อกที่ปัจจุบันมีคนนำเพลงมาคัฟเวอร์มากที่สุดวงหนึ่งในยุคนี้ ซึ่งก็คือเพลง รัก เก่า เก่า แต่จริงๆ ยังมีเพลงดังที่คุ้นหู เช่น ถามดู, บทเพลง, นึกแล้ว, ที่แล้วฉันรู้ดี แต่โดยรวมอัลบั้มนี้จะเข้าข่าย one hit wonder ซะมากกว่า

 

 


     ซิสเต็ม โฟร์ (System 4) วงดนตรี 4 หนุ่มหน้าตาดีโปรไฟล์เด่น สมาชิกในวงได้แก่ กุลพงษ์ บุนนาค, นุติ เขมะโยธิน, วิบูลพร พันธุ์กระวี และบัณฑิตพันธุ์ พันธุ์กระวี โดยเราจะคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่พอสมควรกับ น็อต-นุติ เขมะโยธิน หนึ่งในสมาชิกของวงที่ทำหน้าที่ร้องนำและเล่นกีตาร์ เพราะนอกจากเป็นนักดนตรีแล้ว เขายังมีอีกบทบาทของการเป็นนักแสดงด้วย วงนี้ออกอัลบั้มในปี 2532 ใช้ชื่อว่า Na Na Na เพลงเด่นในอัลบั้ม เช่น นา นา นา, เข้าใจไปเอง

     ส่วนศิลปินอื่นๆ ที่ได้ออกอัลบั้มกับค่ายนี้ เช่น วงดิน อัลบั้มชุด ลูกโดด, พิมพิไล ชมภู อัลบั้มชุด จักสิเป็นจังได๋, วงขนม อัลบั้มชุด ตาวิเศษตะลุยเมืองมอมแมม, นิดา โสภาพร อัลบั้มชุด แปดแสนนะ, จิ้น กรรมาชน อัลบั้มชุด เพื่อมาตุภูมิ

 


     ถึงแม้ว่าค่ายครีเอเทีย อาร์ทติสท์ จะมีช่วงเวลาในการดำเนินธุรกิจเพียง 4 ปี (2528-2532) แต่ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญ บทเพลงและศิลปินเหล่านั้นยังคงความคลาสสิกมาจนถึงทุกวันนี้

     ข้อดีของการได้เสพเพลงที่ดี หรือมีก้าวแรกที่ช่วยสร้างพื้นฐานและรสนิยมที่ดีเสมอ ไม่มากก็น้อย ผมมักจะนึกย้อนกลับไปในวันนั้นเสมอทุกครั้งที่ได้ยินเพลงเหล่านี้ และสำนึกในบุญคุณของบุพการีของผมเสมอที่ต้องมาคอยปากเปียกปากแฉะงัดผมออกจากเตียงไปเรียนว่ายน้ำ เพราะถ้าผมไม่ตื่น ผมก็คงไม่มีโอกาสที่จะได้รู้จักเพลงเหล่านี้ อาจจะไม่ได้รู้สึกลึกซึ้งกับดนตรีจนถึงทุกวันนี้ และคงไม่ได้มาเขียนบทความนี้ให้คุณได้อ่านกันเป็นแน่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X