เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม THE STANDARD ได้รับเชิญจากทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ให้เดินทางไปยังพัทยา เพื่อเข้าสัมภาษณ์ทีมนักกีฬาบาสเกตบอลวีลแชร์จากประเทศอัฟกานิสถาน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจนต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต แต่สามารถต่อสู้จนพบเส้นทางใหม่ในฐานะนักกีฬาตัวแทนประเทศ
จากวินาทีที่เราก้าวลงจากรถสู่โรงแรม ซึ่งเป็นที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จาก 15 ประเทศ ที่เดินทางมาเข้าร่วมแข่งขันวีลแชร์บาสเกตบอลชิงแชมป์เอเชีย-โอเชียเนีย รายการ ไอดับเบิ้ลยู เอเชีย โอเชียเนีย แชมเปี้ยนชิพ 2019 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2562 เพื่อสิทธิในการไปแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020
เราได้พบกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของนักกีฬาจากชาติต่างๆ ที่เตรียมพร้อมออกเดินทางไปที่ศูนย์กีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สนามที่ใช้เป็นสังเวียนสำหรับการแข่งขันในปีนี้
เราจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ นิโลฟา บายัต กัปตันทีมหญิงวีลแชร์บาสเกตบอล อัฟกานิสถาน ที่เดินทางมายังประเทศไทยในฐานะตัวแทนของประเทศอัฟกานิสถาน
นิโลฟาคือหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามภายในประเทศ เมื่อเธอมีอายุได้ 2 ขวบ สิ่งที่เธอพบเจอคือ จรวดพุ่งเข้าบ้านของเธอ
“ตอนที่มีอายุ 2 ขวบ ตาลีบันมาที่อัฟกานิสถาน มีการยิงจรวดเข้ามาในบ้าน และฉันได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและแขน รวมถึงทั่วทั้งร่างกาย ตอนนั้นฉันอยู่กับพี่ชาย เขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น ส่วนฉันกลายเป็นคนพิการ หลังจากปีหนึ่งที่ได้รับการรักษาก็เริ่มดีขึ้น
“10 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น ฉันก็สามารถเดินได้ด้วยตนเอง สามารถใช้ไม้พยุงช่วยได้ หลังจากนั้นก็เริ่มไปโรงเรียน เพราะตาลีบันออกจากอัฟกานิสถานไป
“จากนั้น ปีที่แล้วก็มีการผ่าตัดหลายครั้ง จนมาถึงตอนนี้ก็สามารถเดินได้ดีกว่าเดิมมาก และมีความสุขมาก”
วีลแชร์บาสเกตบอลมีความหมายอย่างไรบ้างสำหรับคุณ
“วีลแชร์บาสเกตบอลเป็นสิ่งที่ดีมาก ฉันเห็นมันครั้งแรกในปี 2012 ในอัฟกานิสถาน วีลแชร์บาสเกตบอลช่วยให้ฉันคิดถึงอนาคตได้ ตอนนี้ฉันไม่คิดถึงความพิการ ไม่คิดถึงสิ่งที่คนอื่นมองว่าฉันอ่อนแอ และไม่มีประโยชน์ต่ออัฟกานิสถาน
“การเป็นผู้หญิงพร้อมกับความพิการไม่ใช่เรื่องง่ายในอัฟกานิสถาน ฉันรู้ เพราะการเป็นผู้หญิงในอัฟกานิสถานยากแล้ว แต่การเป็นผู้หญิงพิการยากขึ้นอีกเท่าตัว ถ้าคุณอยากทำสิ่งที่ดีๆ คุณต้องทำงานหนักกว่าผู้ชายในอัฟกานิสถาน”
“ในปี 2012 ฉันเห็นทีมวีลแชร์บาสเกตบอลชายในทัวร์นาเมนต์ของ ICRC ฉันเองก็เป็นหนึ่งในทีมงานของ ICRC ซึ่งก็ทำงานมาถึงปัจจุบัน และมีความสุขมาก ตอนที่เห็นทีมชายเล่นวีลแชร์ ฉันก็สนใจมาก ดูเป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทาย เพราะดูไม่ใช่สิ่งที่ง่าย คุณต้องทำงานหนัก หากอยากเก่งในวีลแชร์บาสเกตบอล”
ความยากลำบากและเป้าหมายในการใช้ชีวิต
“การเป็นผู้หญิงพร้อมกับความพิการไม่ใช่เรื่องง่ายในอัฟกานิสถาน ฉันรู้ เพราะการเป็นผู้หญิงในอัฟกานิสถานยากแล้ว แต่การเป็นผู้หญิงพิการยากขึ้นอีกเท่าตัว ถ้าคุณอยากทำสิ่งที่ดีๆ คุณต้องทำงานหนักกว่าผู้ชายในอัฟกานิสถาน
“สิ่งที่ฉันอยากจะพูดคือ อัฟกานิสถานมีผู้หญิงที่แข็งแกร่งหลายคน เราทุกคนเบื่อหน่ายกับสงคราม เบื่อหน่ายกับสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ฉันอยากให้คนเข้าใจว่า เรารักสงบ เราไม่เคยต้องการสถานการณ์แบบนี้ เราอยากให้คนมีชีวิตที่มีความสุขมากกว่านี้
“ฉันอยากให้ทุกครั้งที่เห็นทีมหญิง พวกเขาหัวเราะเสียงดังและมีความสุขมาก เพื่อให้พวกเขาลืมความพิการของพวกเธอ และสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับพวกเธอ
“ฉันเองยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถช่วยเหลือพวกเธอได้แบบไหนบ้าง แต่ฉันอยากจะทำสิ่งนี้ เริ่มต้นจากตรงนี้ ให้เห็นว่า ความพิการไม่ใช่ขีดจำกัด หรือว่าถ้าคุณมีขาที่สั้น ไม่ได้แปลว่า คุณมีจิตใจที่แคบ คุณสามารถทำอะไรก็ได้
“อนาคตของฉัน ฉันเรียนกฎหมาย ฉันอยากทำงานให้กับผู้หญิงในอัฟกานิสถาน เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกเธอไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิของพวกเธอเอง เพราะพวกเธอไม่ได้รับการเรียนรู้ที่มากพอว่าเรามีสิทธิเทียบเท่ากับผู้ชาย นั่นคือสาเหตุที่ฉันศึกษากฎหมาย เพื่อจะทำงานให้กับพวกเขาในอนาคต”
ฝั่งของนักกีฬาชาย เรามีโอกาสได้นั่งลงพูดคุยกับ ชาพัวร์ เซอร์คาบี สมาชิกของทีมวีลแชร์บาสเกตบอลอัฟกานิสถาน มานานกว่า 10 ปี หลังจากที่สูญเสียอวัยวะท่อนล่างในอุบัติเหตุไฟไหม้เมื่อ 20 ปีก่อน
ชาพัวร์เป็นนักกีฬาที่มีความมุ่งมั่นจากการได้เห็นเขาลงเล่นในสนามให้กับทีมชาติอัฟกานิสถาน แต่สิ่งที่เขาชื่นชอบที่สุดจากการเล่นคือ การลืมประสบการณ์และความเครียดต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เวลา 40 นาที แต่มันก็ได้มอบความสุขให้กับเขาเป็นอย่างมาก
“ตอนที่เราเล่น เราโฟกัสแค่บาสเกตบอล เป็นความรู้สึกที่ดี เราลืมทุกอย่างในช่วงเวลา 40 นาทีที่เล่นบาสเกตบอล ความเจ็บปวด ความกดดัน ปัญหาส่วนตัว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของคุณ คุณลืมได้เป็นเวลา 40 นาที ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เราลืมได้บ้างในช่วงเวลาสั้นๆ”
“สิ่งที่นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทุกคนพยายามแสดงให้เห็น อีกด้านของอัฟกานิสถาน ไม่ใช่แค่สงคราม ระเบิด หรือการก่อการร้าย”
สิ่งสำคัญของการมอบโอกาสทางกีฬาให้กับผู้พิการในอัฟกานิสถาน
“การได้เล่นกีฬาเป็นสิ่งสำคัญมาก ผมสามารถเล่าเรื่องสั้นๆ จากเพื่อนบ้านของผม พวกเขามีเด็กพิการ 2 คน ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน เพราะจะเป็นเรื่องน่าอายสำหรับครอบครัว แต่หลังจากที่เราเล่นวีลแชร์บาสเกตบอล พวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้ออกมาข้างนอก พวกเขาก็เห็นเราผ่านโซเชียลมีเดีย
“เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราออกมาเห็นโลกภายนอก สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สงคราม ตลอดเวลาเราต้องคิดถึงมัน คิดถึงระเบิด การก่อการร้าย หลังการบาดเจ็บเราก็ออกไปข้างนอก ไปพบกับผู้คนที่หลากหลาย ต่างศาสนา นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับพวกเรา เพราะที่ผ่านมามันคือกรงขังที่เราไม่สามารถไปข้างนอกได้ เป็นเรื่องที่ยากมาก
“ผมเห็นว่า ตอนนี้คนที่ออกมาก็เปิดกว้างมากขึ้น เราต้องออกมาดูสิ่งที่คนอื่นทำ อย่างแรกคือกีฬา อีกอย่างคือเปลี่ยนความคิดของเรา จากสิ่งที่เราเห็นทุกคนในอัฟกานิสถาน ออกมาดูโลกว่าประเทศอื่นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น ในยุโรป เหมือนประเทศไทยและอาเซียน ใช่ เป็นสิ่งที่สำคัญกับเรามาก”
ข้อความที่เขาอยากจะฝากถึงคนที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
“ผมคิดว่า ไม่มีใครอยากได้ยิน ผมไม่อยากจะบอกให้ช่วยหยุดสงคราม เพราะพวกเขาไม่ยอมหยุด
“พวกเขาหยุดสงครามได้ แต่พวกเขาไม่อยากหยุด ผมลืมเรื่องพวกนี้ เพราะพวกเขาไม่อยากได้ยิน คนที่มีอำนาจไม่ได้ยินเสียงจากเด็กๆ ผู้หญิง หรือคนพิการอย่างผม ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่อยากส่งข้อความให้หยุดสงคราม เพราะเขาไม่ยอมหยุด
“แต่ผมอยากจะบอกว่า เราไม่ใช่คนแบบที่หลายคนในโลกมองเรา เราเปิดกว้าง เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต้องใช้เวลาเรียนรู้ เหมือนกับบาสเกตบอล ผมอยากจะโชว์อีกด้านของอัฟกานิสถาน เราไม่ใช่ฆาตกร เราไม่ใช่คนแบบนั้น
“ผมอยากจะบอกว่า อย่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอกเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน เราไม่ใช่ฆาตกร ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เราคือมนุษย์ ผมอยากแสดงให้เห็นผ่านวีลแชร์บาสเกตบอล ให้เห็นด้านอื่นๆ ว่าเราเป็นมิตร และเราไม่มีปัญหากับศาสนาอื่นๆ นั่นเป็นเพียงมุมมองของคนบางคนเท่านั้น ที่บอกว่า เราควรทำอะไร และคนที่ไม่มีการศึกษาก็มักจะตามพวกเขาไป
“นั่นคือสิ่งที่นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทุกคนพยายามที่จะแสดงให้เห็น อีกด้านของอัฟกานิสถาน ไม่ใช่แค่สงคราม ระเบิด หรือการก่อการร้าย”
ก่อนที่โอกาสสัมภาษณ์นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของเราจะหมดลง เราก็ได้โอกาสนั่งลงพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวีลแชร์บาสเกตบอลในอัฟกานิสถานมากที่สุดคนหนึ่ง เขาคนนั้นก็คือ เจส มาร์ก ที่ปรึกษาของ ICRC ด้าน Sport Disability and Inclusion และโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงอัฟกานิสถาน
ในอดีตเจสเคยเป็นนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยในออริกอน สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเขามีอายุได้ 19 ปี เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
“ตอนที่ผมอายุ 19 ปี ผมเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยออริกอน ผมเป็นนักกีฬากระโดดสูงในทีม Track & Field ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ปีที่ 2 กับทีมนี้ ผมประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างหนักระหว่างทางไปฝึกซ้อม นั่นทำให้ผมหลังหัก และกลายเป็นอัมพาต
“จากนั้นชีวิตของผมมีการตัดสินใจที่ยากลำบากเกิดขึ้น ระหว่างที่บุคลิกลักษณะของผมกำลังจะเปลี่ยน ผมต้องตัดสินใจว่า ผมจะโฟกัสกับสิ่งที่ผมกำลังจะเสียไป หรือโฟกัสในการหาทางมองโลกในแง่ดีจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องโชคดีที่ผมตัดสินใจโฟกัสด้านวิชาการและด้านอื่นๆ นอกจากกีฬา ความคิดตอนแรกของผมคือ เส้นทางด้านกีฬาของผมมันจบลงแล้ว
“แต่ไม่กี่ปีหลังจากที่ผมจบจากมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสได้เล่นวีลแชร์บาสเกตบอลเป็นครั้งแรก นั่นทำให้ผมเห็นว่า ผมคิดถึงการแข่งขันกีฬามากขนาดไหน และการเป็นส่วนหนึ่งของทีม กลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มผมนับตั้งแต่อุบัติเหตุ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ผมสามารถค้นพบตัวเองใหม่ในด้านอื่นๆ ผมยังได้รับกีฬากลับเข้ามาสู่ชีวิตของผมอีกครั้ง นับตั้งแต่วันนั้น ผมก็ทั้งเล่นและกลายเป็นโค้ชกีฬาบาสเกตบอล”
ปี 2009 กับการออกเดินทางไปยังอัฟกานิสถาน ด้วยภารกิจเป็นโค้ชให้กับกลุ่มนักกีฬาภายในเมืองทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน
“ผมไม่เคยเป็นโค้ชมาก่อน ที่ผ่านมาเป็นแต่นักกีฬามาตลอด 10 ปี และผมไม่เคยเดินทางไปประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม
“การไปอัฟกานิสถานเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผม ทั้งในด้านของประสบการณ์และมุมมอง
“แต่ผมรู้สึกว่า นี่เป็นโอกาสที่ผมจะได้เผยแพร่วีลแชร์บาสเกตบอล กีฬาที่มีความหมายต่อการฟื้นตัวของผมมาก และมอบสิ่งนี้ให้กับคนที่อาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมแบบนี้มาก่อน แม้ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับผม แต่ผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมจะทำมัน และหวังว่าจะสร้างผลกระทบที่ดีต่อชีวิตของคนได้บ้าง
“ในทริปนั้นที่ผมเดินทางไป ผมคิดว่า ด้วยเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ผมคงจะมีเรื่องให้พูดถึงปีต่อๆ มา แต่หลังจากนั้นมันได้เปลี่ยนมุมมองและหน้าที่ของผมที่มีบนโลกใบนี้ และผมรู้ว่า ผมจะต้องกลับไปอัฟกานิสถาน และทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง”
สิ่งที่เจสได้เรียนรู้จากการเดินทางไปยังอัฟกานิสถานในฐานะโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอล
“ผมเรียนรู้หลายอย่าง จากครั้งแรกที่ผมเดินทางไป ผมเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับตัวผมเอง และผมเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับอัฟกานิสถานและนักกีฬาที่ผมทำงานด้วย
“อย่างแรกผมพบว่า การโค้ชกลายเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบมาก แม้ว่าผมจะเป็นโค้ชมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ผมรู้สึกว่า ผมจะสามารถเป็นโค้ชที่ดีได้ ถ้าผมพยายามที่จะใช้เวลากับมัน
“ผมยังพบว่า แทนที่จะคิดว่าผมจะต้องทำงานกับนักกีฬาที่ภูมิหลังแตกต่างจากผม แต่สิ่งที่ผมค้นพบคือ เรามีอะไรที่คล้ายกันมากกว่าที่คิด และเรามีความผูกพันที่ดี แม้ว่าเราจะไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน
“เพราะเราแบ่งปันประสบการณ์ความพิการร่วมกัน และการบริหารจัดการชีวิตเราในสังคมต่างๆ ผมเรียนรู้พลังของความเข้มแข็งของพวกเขา เพราะแม้ว่าตลอดทั้งชีวิตของพวกเขาจะโดนบอกว่า พวกเขาเป็นคนนอกของสังคมเนื่องจากความพิการต่างๆ แต่เมื่อพวกเขาได้รับโอกาสเล่นวีลแชร์บาสเกตบอล พวกเขาทุ่มเทอย่างเต็มที่ และพวกเขาก็ไม่ได้มองตนเองเป็นคนพิการ แต่มองตนเองเป็นนักกีฬา
“10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย มีอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งสิ่งนี้โดยปกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดหวังจากคนพิการในอัฟกานิสถาน”
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการก้าวข้ามขีดจำกัดของนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลที่เดินทางข้ามทวีปมาแข่งขันที่ประเทศไทยในวันนี้
“หนึ่งในเหตุผลที่ผมอยากไปอัฟกานิสถาน ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่าผมต้องการสอนวีลแชร์บาสเกตบอลกับพวกเขาเหมือนที่พวกเขาขอมา แต่ผมอยากจะแสดงให้พวกเขาเห็นว่า คนที่เป็นแบบพวกเขา ใช้รถวีลแชร์ ก็สามารถเดินทางข้ามโลกจากสหรัฐฯ มายังหมู่บ้านเล็กๆ ของพวกเขาได้ และสอนพวกเขา และพวกเขาอาจเห็นว่า พวกเขาก็สามารถทำอะไรได้มากกว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อว่า พวกเขาสามารถทำได้
“การที่พวกเขานำพาชุดความคิดนี้ไปไกลขนาดนี้ ตอนนี้พวกเขาทำผลงานได้ดีในการแข่งขันระดับสากลในฐานะตัวแทนประเทศ ผมคิดว่า นี่เป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับใครก็ตาม ไม่ว่าพิการหรือไม่ ให้เห็นว่า คนเรามีความสามารถขนาดไหน เมื่อเราได้รับโอกาสเพียงแค่เล็กน้อย”
สิ่งที่คุณอยากจะสื่อสารไปยังผู้คนทั่วโลกต่อจากนี้
“เราคิดว่ากีฬาคือก้าวสำคัญก้าวแรกไปสู่การกลับเข้าร่วมกับสังคม
แต่มันมีขั้นตอนต่อเนื่องที่ก้าวต่อไปจากกีฬา”
“ผมคิดว่า สิ่งที่ผมพยายามจะสื่อสารออกสู่โลกคือ ผู้พิการทางร่างกายมีศักยภาพที่พร้อมจะช่วยเหลือสังคมและครอบครัว รวมถึงพวกเขาสามารถช่วยเหลือสังคมโดยรอบที่พวกเขาอยู่ได้ ถ้าหากพวกเขาได้รับโอกาส และรับรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา
“เราพยายามจะทำสิ่งนี้ที่ ICRC ผ่านกีฬาและโปรแกรมอื่นๆ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจริงก็ต่อเมื่อสังคมเปิดใจรับคนที่มีความพิการ และปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม”
ทำไมต้องเป็นกีฬา
“กีฬามีพัฒนาการที่น่าสนใจ เราเริ่มต้นจากกีฬา เพราะพวกเขาที่อยู่ในอัฟกานิสถานขอให้เรามาช่วยสอนวีลแชร์บาสเกตบอล แต่จากที่ผมได้ทำงานกับพวกเขาก็พบว่า สิ่งที่เราทำมันมากกว่ากีฬา แต่กีฬาคือบันไดขั้นแรกในการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา ว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าที่พวกเขาคิดว่า พวกเขาถูกจำกัดไว้ด้วยความคิดที่หลายคนมีต่อผู้พิการ
“ดังนั้น เราคิดว่า กีฬาคือก้าวสำคัญก้าวแรกไปสู่การกลับเข้าร่วมกับสังคม แต่มันเป็นขั้นตอนต่อเนื่องที่ก้าวต่อไปจากกีฬา เพื่อให้ผู้คนเข้าใจแพสชันของพวกเขา และพวกเขาสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้าง”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล