รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคภูมิแพ้ในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด เมื่อปี 2550 เตรียมความพร้อมในการรับมือและเดินหน้าผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบโรคภูมิแพ้เพื่อมาดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยระยะแรกได้ผลิตชุดทดสอบ ประกอบด้วย น้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ที่จำเป็น 8 ชนิด คือ 1.น้ำยาทดสอบภูมิแพ้ไรฝุ่น ชนิด Dp 2.น้ำยาทดสอบภูมิแพ้แพ้ไรฝุ่น ชนิด Df 3.น้ำยาทดสอบจากขนแมว 4.น้ำยาทดสอบจากขนสุนัข 5.น้ำยาทดสอบจากแมลงสาบ 6.น้ำยาทดสอบจากหญ้าขน (Para Grass) 7.น้ำยาทดสอบจากวัชพืชผักโขม (Careless Weed) 8.น้ำยาทดสอบจากเชื้อรา (Cladosporium spp.)
“ซึ่งผลจากการทดสอบจะเป็นแนวทางให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการกำจัดหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ได้อย่างถูกต้อง และหากมีข้อบ่งชี้ก็สามารถให้การรักษาโดยการฉีดวัคซีนต่อไปได้”
รศ.ดร.นพ.พงศกร กล่าวต่อว่าจากชุดทดสอบสารก่อภูมิแพ้ต่อยอดผลิตวัคซีนไรฝุ่น ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจที่พบได้มากที่สุด และเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีราคาแพง
ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงได้เริ่มเพาะเลี้ยงไรฝุ่นบริสุทธิ์ทั้งสองสายพันธุ์คือ Dermatophagoides pteronyssinus (Dp) และ Dermatophagoides farinae (Df) ซึ่งเป็นไรฝุ่นที่พบบ่อยในฝุ่นบ้านและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในคนไทย แทนการซื้อตัวไรฝุ่นจากต่างประเทศเพื่อการวิจัย ซึ่งมีราคาแพงมากกว่าที่ผลิตเองถึง 10 เท่า
เป็นที่น่ายินดีว่าวัคซีนไรฝุ่นซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นและนำมาใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วย จากการสำรวจทั้งในและต่างประเทศพบว่าศิริราชเป็นรายแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผลิตวัคซีนไรฝุ่นเพื่อจำหน่ายอย่างครบวงจร โดยวัคซีนที่ผลิตได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
“ในอนาคตจะมีการพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้แมลงสาบ เกสรหญ้า และวัชพืชชนิดฉีด เนื่องจากเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยรองลงมาจากไรฝุ่น นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาวัคซีนประเภทหยดเข้าไปในปาก บริเวณใต้ลิ้น (ชนิดกิน) ซึ่งมีการนำมาใช้แล้วที่ต่างประเทศ มีข้อดีคือสะดวก ไม่เจ็บ และใช้ในเด็กได้ดี” รศ.ดร.นพ.พงศกร กล่าวตอนท้าย
ถือเป็นความสำเร็จต่อการวิจัยและพัฒนาในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ให้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติโดยปราศจากโรคแทรกซ้อน เนื่องจากสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาตามมาตรฐานได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการรักษาที่เหมาะสมแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0
ภาพ: pixabay.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์