วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี มีกระจายอยู่ 4 ภูมิภาค คือ เหนือ กลาง อีสาน และใต้ ทั่วประเทศไทยกว่า 47 แห่ง แต่ชื่อนี้กลับเลือนหายไปจากความรับรู้ของผู้คน เช่นเดียวกับจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ
“เด็กอาชีวะเกษตรคนเรียนน้อยลง เพราะทัศนคติของคนมองเขาต่ำ คิดว่าเรียนเกษตรแล้วไม่มีอนาคต เราจึงอยากจะสร้างมาตรฐานการเรียนเกษตรให้มีความรู้ความสามารถที่ตลาดต้องการ”
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าทำงานด้านการศึกษาด้วยคอนเซปต์หลักคือ ‘การเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21’ หลังเดินหน้าไปแล้วกับวิชาภาษาโค้ดดิ้ง อีกหนึ่งโครงการที่จะผลักดันคือ ‘โครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ’ ซึ่งก่อนจะสร้างชาติได้ จำเป็นต้องสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้กับเด็กอาชีวะเกษตร
คุณหญิงกัลยา เติบโตมาในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ด้วยวิถีชีวิตทำให้ผูกพันกับการเกษตร จึงเข้าใจดีว่าการทำเกษตรในยุคปัจจุบันจะใช้วิธีแบบในอดีตไม่ได้อีกต่อไป เพราะภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อก่อนฝนตกตามฤดูกาล คำว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ไม่เกินจริงสำหรับประเทศไทยในอดีต
แต่ความเจริญก้าวหน้าทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง เมื่อสมดุลของโลกหายไป ฝนไม่ตกตามฤดูกาล อุณหภูมิโลกเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลผลิตลดลง
เมื่อผลผลิตทางการเกษตรไม่ดี คนจึงหนีจากภาคเกษตรไปทำโรงงาน บุคลากรทางเกษตรก็ไม่มี
เมื่อจุดเปลี่ยนมาถึงจึงมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการให้มีน้ำใช้ตลอดปี
สิ่งที่รัฐบาลทุกชุดทำมาหลายสิบปีคือสร้างเขื่อน ซึ่งปรากฏว่าช่วยพื้นที่เกษตรได้เพียง 20% ของพื้นที่ ส่วนอีก 80% ไม่มีการบริหารจัดการเลย ประชาชนจึงต้องอยู่กับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติตามยถากรรม
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำเกษตรกรรมก็พอมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการขยายผลเท่าที่ควร การใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยบริหารจัดการในภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่มีระบบ ใครนึกอยากจะไปช่วยก็ไป ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่มีประสิทธิภาพ
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศในโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก แต่เกษตรกรของไทยซึ่งเป็นกลุ่มคน 2 ใน 3 ของประเทศกลับยากจน
ปัญหาอาชีวะเกษตร เรียนจบออกไปแต่ตามไม่ทันเทคโนโลยี
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โลกปัจจุบันเราต้องการคนที่เรียนและมีความรู้ไปทำงานเป็น ดังนั้นอาชีวศึกษาเป็นการเรียนที่ให้เด็กลงมือทำได้ นักเรียนอาชีวะที่มีความรู้จึงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอย่างมาก
ประเทศไทยเรามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อยู่ 47 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัญหาคือคนไม่อยากเรียน คนเรียนน้อยลง พอเรียนแล้วไม่ตรงกับตลาดแรงงาน หรือมีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรต้องการ
เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเกษตรใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่อาชีวะเกษตรยังมุ่งเน้นการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่า นี่คือปัญหาที่ทำให้เด็กจบมาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเท่าที่ควร
แต่ปัญหานี้แก้ได้โดยการเอาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตรเข้ามาช่วย เพื่อให้บุคลากรที่จบการศึกษาไปสามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด นักเรียนที่เรียนอาชีวะเกษตรก็จะไม่โดดเดี่ยว เช่นเดียวกับโครงการนี้ที่จะไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่จะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วย และอาจถึงขั้นเข้ามาทำหลักสูตรร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร
“เด็กอาชีวะเกษตรคนเรียนน้อยลง เพราะทัศนคติของคนมองเขาต่ำ คิดว่าเรียนเกษตรแล้วไม่มีอนาคต เราอยากจะสร้างมาตรฐานการเรียนเกษตรให้มีความรู้ความสามารถที่ตลาดต้องการ” คุณหญิงกัลยากล่าว
สำหรับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบางแห่งมีโครงการทวิภาคีร่วมกับประเทศอิสราเอล และญี่ปุ่น โดยระหว่างเรียนก็มีรายได้ กลับมาเมืองไทยมีความรู้ติดตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้กับนักเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี
ซึ่งแนวทางที่พูดมาได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อย 3-5 วิทยาลัยเกษตร โดยมีนักเรียนหลักพันคน แต่โครงการนี้กำลังจะส่งเสริมต้นกล้าแห่งแวดวงเกษตรเหล่านี้ให้เติบโตงอกงามเพิ่มมากขึ้น
โดยในปี 2563 จะคัดเลือกวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 10 แห่งที่มีความพร้อมเพื่อนำร่องพัฒนา โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมทักษะใหม่ (Upskil) เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีก็จะได้เรียน รวมทั้งพัฒนาทักษะที่มีอยู่เดิม(Reskill) การทำให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง เป็นต้นแบบการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงอาหารปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด สพฐ. กับโครงการอิ่ม สุข มื้อเที่ยง
พัฒนาเด็กอาชีวะและไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง
เมื่อวิทยาลัยมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเผยแพร่ไปที่เกษตรกรได้ เช่น โครงการสร้างชลกร คือให้เด็กและครูจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี นำความรู้ที่ได้รับมาช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ให้มีน้ำใช้ตลอดปี
รวมทั้งเปิดให้เกษตรกรที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุระหว่าง 17-70 ปีมาเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรียนจบ 3 ปีแล้วได้วุฒิการศึกษา สอนโดยมืออาชีพและปราชญ์ชาวบ้าน โดยระหว่างเรียนก็จะมีรายได้จากสิ่งที่เรียน ที่ผ่านมามีคนเรียนปลูกผักปลอดสารพิษ และเก่งขนาดที่ปัจจุบันส่งไปขายที่ห้างสรรพสินค้าได้แล้ว นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เกษตรกรยกระดับขึ้น
“ทัศนคติของสังคมไปมองภาคเกษตรในทางตกต่ำล้าสมัย ทั้งที่โลกปัจจุบันการทำเกษตรเปลี่ยนไปใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงมาก โครงการนี้มีเป้าหมายใหญ่คือยกระดับให้อาชีวะเกษตรและเทคโนโลยีเป็นสาขาอาชีพที่เด็กอยากเรียน จบมาแล้วเป็นที่ต้องการของตลาด ต่อไปเดินไปงานเลี้ยงรุ่นไม่ก้มหน้าอายใคร แถมมีรายได้มากกว่าหลายอาชีพ ที่พูดมาไม่ใช่ความฝันแต่เป็นจริงแล้ว เพียงแต่มันเกิดขึ้นในบางแห่ง เรากำลังจะทำให้เกิดขึ้นทุกแห่ง” คุณหญิงกัลยากล่าว
ที่สุดแล้วโครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติก็คงเปรียบเสมือนทุ่งนาแปลงใหญ่ที่กำลังเร่งเพาะพันธุ์ต้นกล้าเกษตรกรรุ่นเยาว์ให้เติบโตเป็นรากฐานสำคัญของเกษตรกรไทยในอนาคต ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ภาพจำเดิมๆ ของเกษตรกรไทยก็จะเปลี่ยนไป และประเทศไทยก็จะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมการทำงานด้านการศึกษาภายใต้คอนเซปต์ ‘การเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21’ ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์