Oxfam องค์กรการกุศลเพื่อผู้ยากไร้ เผยแพร่รายงานในวันนี้ (2 ธันวาคม) ชี้ให้เห็นผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ว่ากำลังส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนจำนวนกว่า 20 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 วินาที ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้วิกฤตสภาพอากาศ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ที่สุด ที่ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นภายใน (การอพยพภายในประเทศบ้านเกิด) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากรายงาน ระบุว่ากว่า 80% ของประชาชนที่พลัดถิ่นทั่วโลกช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นอยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ประเทศยากไร้ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงสุดที่จะมีประชาชนพลัดถิ่นจากวิกฤตสภาพอากาศ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะแบกรับความรับผิดชอบในการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวย โดยประเทศที่มีรายได้ในระดับกลางถึงต่ำ เช่น อินเดีย ไนจีเรีย และโบลิเวีย มีแนวโน้มที่ประชาชนจะต้องพลัดถิ่นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าประชาชนในประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า
ปัจจุบันภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น น้ำท่วม พายุไซโคลน ไฟป่า ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นมากกว่าแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดถึง 7 เท่า และมากกว่าวิกฤตความขัดแย้งถึง 3 เท่า
ประเด็นการผลัดถิ่นที่เกิดขึ้นยังเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่จะถูกหยิบยกขึ้นหารือในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 25 (COP25) ที่จะเปิดฉากขึ้นในกรุงมาดริดของสเปน ในวันนี้ (2 ธันวาคม) ซึ่ง Oxfam เรียกร้องไปยังประชาคมโลกให้สนับสนุนงบประมาณมากขึ้น สำหรับโครงการฟื้นฟูเพื่อประเทศยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ภัยพิบัติจากสภาพอากาศก็เพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ของความถี่และความรุนแรง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: