เน้นกู้ภัย ไม่เน้นหมูป่า เล่าเรื่องคล้ายสารคดีมากกว่าหนัง ภาพรวมให้พลังบวก มีความหวัง แต่เวลาจิกกัดก็แสดงความ ‘สิ้นหวัง’ ได้น่ากลัว
คือความรู้สึกโดยรวมหลังได้ชม The Cave นางนอน ‘หนัง’ เรื่องแรก ที่สร้างมาจากปฏิบัติการช่วยนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จนกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเมื่อช่วงกลางปี 2018 ของ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช เจ้าของผลงาน Mindfulness and Murder (2011) และ The Last Executioner (2014)
หนังเล่าเรื่องค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ที่ทั้ง 13 คนเข้าไปติดอยู่ในถ้ำตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนเพียงเล็กน้อย แล้วโฟกัสไปที่การทำงานระหว่างทีมงานจากประเทศไทย และต่างชาติที่เข้ามาร่วมปฏิบัติการด้วยอย่างเต็มตัว
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ ค่อนข้างยึดตามไทม์ไลน์เวลาที่เกิดขึ้นจริง เหมือนสารคดีบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่อาจจะดูธรรมดาไปบ้างสำหรับคนที่ติดตามข่าวในช่วงนั้นอย่างใกล้ชิด แต่ก็มีพาร์ตมุมมองของทีมวางแผน และนักดำน้ำจากต่างชาติ ที่หลายคนยอมกลับมารับบทเป็นนักแสดงในเรื่องด้วยตัวเอง
โดยเฉพาะ จิม วาร์นีย์ (นักดำน้ำที่พาโค้ชเอกออกมาจากถ้ำเป็นคนสุดท้าย) ที่เผยด้านหวาดกลัว เปราะบาง ไม่มั่นใจ แสดงให้เห็นว่า ‘ฮีโร่’ ก็คือมนุษย์ธรรมดาที่มีความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป แต่ยิ่งใหญ่ด้วยหัวใจอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นส่วนเสริมสำคัญเพิ่มน้ำหนักและความน่าติดตามได้เป็นอย่างดี
มีหลายจุดใน The Cave นางนอน ที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจ เช่น ช่วงนำเสนอปฏิบัติการดำน้ำช่วยทีมหมูป่าฯ ออกจากถ้ำ ที่ก่อนหน้านั้นเราทำได้แค่ติดตามข่าว แต่ไม่เคยเห็นภาพด้านใน ตัวหนังออกแบบงานสร้าง และดีไซน์ปฏิบัติการได้อย่างตื่นเต้น ทั้งการแบ่งทีมดำน้ำผ่านโถงต่างๆ, ช่วงพาสมาชิกทีมหมู่ป่าฯ ออกมา, การปฏิบัติภารกิจครั้งสุดท้ายของจ่าแซม (นาวาตรี สมาน กุนัน) ฯลฯ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ในถ้ำเป็นอย่างนั้นจริงๆ
พาร์ตความร่วมมือของคนตัวเล็กๆ การเดินทางไกลของผู้ใหญ่ตั้น (นภดล นิยมค้า มารับบทนี้ด้วยตัวเอง) บุคลิกใจดี น่ารัก ที่ขนเครื่องสูบน้ำระบบเทอร์โบเจ็ตมาไกลจากเพชรบุรี รวมทั้งชาวบ้านที่ต้องเสียสละที่นาเพื่อรองรับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำ ถึงแม้คำพูดในช่วงท้ายๆ อาจดูพยายามบิลด์อารมณ์เกินไปบ้าง แต่ก็ทำให้คนใจบางเสียน้ำตาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ช่วงท้ายเมื่อภารกิจสำเร็จ ที่ชาวบ้านและญาติๆ ของเด็กๆ เข้าไปกอดและกล่าวขอบคุณคนที่เข้าไปช่วยเหลือ ด้วยรอยยิ้มและคราบน้ำตาเปื้อนหน้า แล้วทีมงานทุกคนยิ้มรับด้วยสีหน้าปลื้มปีติ ก็เป็นฉากทรงพลังที่ทำให้เห็นว่า ความห่วงใยและพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้ดูมีความหวังและน่าอยู่ขึ้นมาได้จริงๆ
อีกจุดที่เป็นไฮไลต์ของหนัง ทุกครั้งที่พูดถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานในระบบราชการแบบไทยๆ ที่มีเส้นคั่นระหว่าง ‘ความเคร่งครัด’ และ ‘ความยุ่งยาก’ ได้อย่างเจ็บแสบ ขนาดมีผู้เชี่ยวชาญนำอุปกรณ์ช่วยเหลือมาวางอยู่ตรงหน้า ก็ทำได้แค่ยืนมองอยู่ห่างๆ เพราะไม่มีใบอนุญาต ต้องมี ‘บัตรผ่าน’ เปิดทางให้เท่านั้นถึงจะปฏิบัติภารกิจได้
นอกจากนี้ยังมีตัวละคร ‘ผู้ใหญ่’ ที่เก็บบุคลิก ลักษณะ ภาพลักษณ์ที่เป็นที่จดจำของผู้ใหญ่คนนั้นได้อย่างครบถ้วน กลายเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ออกมาฉากเดียว ไม่กี่วินาที แต่เป็นตลกร้ายที่เรียกเสียง ‘ขำขื่น’ จากคนดูได้เป็นอย่างดี
แต่ The Cave นองนอน ก็ยังมีจุดที่มีปัญหาอยู่บ้าง จากการลำดับเรื่อง การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเร็ว ตัวละครเยอะ ทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานเหตุการณ์ (หรือลืมไปแล้ว) ตามเรื่องได้ยาก โดยเฉพาะช่วงวางแผนนำสมาชิกทีมหมูป่าฯ ออกมา ที่นำเสนอแบบรวบรัด ข้ามไปข้ามมา ทำให้เราไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วขั้นตอนที่สำคัญเป็นอย่างไรกันแน่
เรื่องสุดท้าย คืออย่างที่บอกไปตอนต้นว่า The Cave นางนอน เล่าเรื่องคล้ายสารคดีบันทึกเหตุการณ์ ที่ทำให้พูดได้ว่านี่คือหนังที่ ‘ดี’ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหนังที่ ‘สนุก’ สำหรับคนที่ต้องการเข้าไปรับชมความบันเทิง ตื่นเต้น เร้าใจแบบเต็มที่ได้หรือเปล่า
และนั่นทำให้เราเป็นห่วงอยู่บ้างว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ของ The Cave นางนอน จะสามารถยืนหยัด แย่งชิงพื้นที่กับพลังแห่งความหนาวเหน็บของเจ้าหญิงเอลซ่า ใน Frozen 2 ที่เข้าฉายพร้อมกันได้มากน้อยสักแค่ไหน
The Cave นางนอน เข้าฉายในวันที่ 21 พฤศจิกายน รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่
ภาพ: De Warrenne Pictures
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์