ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลออย่างต่อเนื่องส่งผลต่อธนาคารพาณิชย์ด้านการเติบโตสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2562 พบว่าสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตที่ 3.8% ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 4.2%
โดยสินเชื่อธุรกิจที่มีสัดส่วน 64.7% เติบโต 1.3% แบ่งเป็น
- สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) เติบโต 2.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า
- สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 1.0% จากไตรมาสก่อนที่ยังเติบโต 0.1%
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค (เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์) ที่มีสัดส่วนราว 35.3% ของสินเชื่อรวม เติบโตที่ 8.7% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 9.2% สาเหตุเพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังการเร่งปล่อยสินเชื่อช่วงก่อนการบังคับใช้มาตรการ LTV และสินเชื่อรถยนต์โตน้อยลงตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan และสินเชื่อบัตรเครดิตยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง
ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.01% เพิ่มขึ้นจาก 2.95% ทั้งนี้ยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 469,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ SME เป็นหลัก โดยยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สุดท้ายด้านกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 96,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 214,400 ล้านบาท เพราะธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมีรายได้พิเศษจากการขายเงินลงทุน
อย่างไรก็ตาม หากตัดรายการพิเศษ (การขายเงินลงทุน) กำไรสุทธิภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย รายได้จากเงินปันผล และรายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์และขายประกัน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ 2.74%
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) มาอยู่ที่ 1.98% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 1.26%
นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.73 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.2% และมีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 9.9 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 690.5 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 196.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ 185.0%
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า