สมัยนี้พอจะหยิบยกเรื่องความสำเร็จของบุคคลที่สร้างอาณาจักรเป็นของตัวเอง หลายครั้งก็จะนิยมเขียนถึงแจ็ค หม่า, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, เจฟฟ์ เบโซส์ หรืออีลอน มัสก์ ฯลฯ
ในขณะที่คนแวดวงแฟชั่นมักถูกมองข้าม เพราะค่านิยมที่สั่งสมมานานว่าดูฟุ้งซ่านและไม่สามารถขับเคลื่อนโลกได้ แต่เราไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะเรื่องราวการต่อสู้ การสร้างเนื้อสร้างตัว และแพสชันของคนในวงการแฟชั่นก็มีพลังเทียบเท่ากับวงการอื่น โดยเฉพาะกับผู้ชายวัย 77 ปีที่ชื่อ ราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) ซึ่งเป็นผู้ชายที่เราต้องยกย่อง และในตู้เสื้อผ้าต้องมีสักไอเท็มที่มีตรา Ralph Lauren อยู่อย่างแน่นอน
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับตัวราล์ฟเองที่ต้องผ่านอุปสรรคมาหลายครั้งกว่าจะพบเจอคำว่าความสำเร็จ
ชีวิตวัยเด็กในนิวยอร์ก
ราล์ฟ ลิฟชิตซ์ (Ralph Lifshitz) เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1939 ในเดอะบรองซ์ นครนิวยอร์ก ราล์ฟเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 4 คน โดยพ่อของเขา แฟรงก์ ลิฟชิตซ์ มีอาชีพเป็นคนทาสีบ้านที่อพยพมาจากเบลารุส ในช่วงวัยเด็ก ราล์ฟหลงรักกีฬาอย่างจริงจังและวาดฝันอยากเป็นนักบาสเกตบอล เพราะบ้านอยู่ติดสนามกีฬาโรงเรียน แต่การเป็นศิลปินเหมือนพ่อก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เขาสนใจเช่นกัน
ตอนอายุ 16 ปี ราล์ฟได้เปลี่ยนนามสกุลจาก ลิฟชิตซ์ เป็น ลอเรน ตามพี่ชาย เจอร์รี ลอเรน เพราะนามสกุลพยางค์สุดท้ายเป็นคำหยาบในภาษาอังกฤษ แม้อนาคตในวงการแฟชั่นดูไกลตัวจากราล์ฟในช่วงวัยรุ่น แต่เขาก็มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์และดูโดดเด่นจากคนอื่น คาลวิน ไคลน์ ดีไซเนอร์ที่เติบโตในละแวกเดียวกัน (แม้ไม่ได้เป็นเพื่อนกันในตอนนั้น) บอกว่า “ตอนเป็นเด็กอยู่ในเดอะบรองซ์ ผมมักจะเห็นเขาและคิดว่า ‘เขาคือใคร’ ทำไมต้องแต่งตัวแบบนี้” ซึ่งราล์ฟได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวจากเหล่านักแสดงฮอลลีวูดในตำนานอย่างแครี แกรนต์ โดยราล์ฟจะชอบไปหาเสื้อผ้าอย่างชุดทหารมาใส่ และดัดแปลงตกแต่งใหม่ในเวอร์ชันของตัวเอง
ก้าวแรกในโลกแห่งแฟชั่น
ราล์ฟเริ่มลิ้มรสการทำงานในวงการแฟชั่นตั้งแต่งานแรกที่ห้าง Allied Stores ในตำแหน่ง Assistant Buyer เขาทำงานช่วงกลางวันและเรียนหนังสือช่วงกลางคืนไปพร้อมกัน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ Brooks Brothers และยังเคยทำงานเป็นเซลขายถุงมือและเซลขายเนกไทอีกด้วย บวกกับการต้องรับใช้ชาติในกรมทหารราบอีก 2 ปี
หลังจากนั้นราล์ฟเริ่มอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งการจะเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าผู้ชายเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในอเมริกาช่วงนั้น แต่ราล์ฟเริ่มเห็นว่าเนกไททรงกว้างที่รับความนิยมในยุโรปขาดแคลนในตลาดอเมริกา เขาเลยสนใจอยากลองทำ ราล์ฟยอมรับว่าเขาตัดเย็บหรือวัดขนาดไม่เป็น แต่อาศัยการเป็นเซลและรู้เรื่องคุณภาพชิ้นงานอย่างถี่ถ้วน ตอนอายุ 28 เขาจึงเริ่มแบรนด์ ‘Polo’ เพื่อทำเนกไท และได้โบ บรัมเมลล์ เป็นผู้ลงทุน ส่วนชื่อแบรนด์ก็มาจากกีฬาโปโล ซึ่งเป็นกีฬาขี่ม้าของคนสังคมชั้นสูงในอังกฤษที่มาพร้อมไลฟ์สไตล์ที่หลายคนฝัน
ในช่วงแรกที่แบรนด์เปิดตัว ราล์ฟจะขับรถไปตามร้านค้าและห้างต่างๆ ด้วยตัวเองเพื่อพรีเซนต์เหล่าเนกไททรงกว้างที่เขาดีไซน์ แต่หลายร้านก็ปิดประตูใส่และไม่เชื่อว่าจะขายได้ หรือบางห้างอย่าง Bloomingdales ก็จะยอมขายเนกไท ถ้าราล์ฟเอาชื่อแบรนด์ตัวเองออกและใส่ชื่อห้างแทน แต่ราล์ฟก็ไม่ยอม เพราะเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของตัวเองแบบเพลงโปรดของเขา My Way ของแฟรงก์ ซินาตรา สุดท้ายอีก 6 เดือนต่อมา ทางห้าง Bloomingdales ก็ติดต่อกลับมาอีกครั้ง และยอมรับเงื่อนไขของราล์ฟที่จะขายเนกไทภายใต้แบรนด์ ‘Polo’ ซึ่งเนกไทก็ขายได้อย่างถล่มทลาย ราล์ฟเองก็ต้องไปส่งสินค้าเองทุกอาทิตย์ และเช็กสต็อกกับทางห้างสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
เพราะความนิยมของเนกไท Polo สุภาพบุรุษหลายคนก็อยากให้ราล์ฟผลิตเสื้อเชิ้ตกับคอปกที่เหมาะกับเนกไทของเขา ซึ่งก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนราล์ฟเปิดคอลเล็กชันเสื้อผ้าครั้งแรกในปี 1968 และเป็นดีไซเนอร์ชาวอเมริกันคนแรกที่มีร้านเป็นของตัวเองบนถนนโรดีโอ ไดร์ฟ ที่เบเวอร์ลีย์ ฮิลส์ ในลอสแอนเจลิส
ครอบครัวคือหัวใจสำคัญ
ในช่วงเวลานั้นราล์ฟเริ่มสร้างชีวิตครอบครัวเช่นกัน เขาแต่งงานกับริกกี้ แอน โลว์เบียร์ ในปี 1964 ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นคู่ชีวิตมาตลอด 53 ปี เธอยังเป็นมิวส์ของราล์ฟ และเป็นเหตุผลที่เขาได้สร้างสรรค์ไลน์เสื้อผ้าผู้หญิงในปี 1971 เพราะอยากให้ภรรยามีเสื้อผ้าสไตล์ Ralph Lauren ใส่บ้าง ส่วนกระเป๋ารุ่น Ricky ที่ตั้งชื่อตามภรรยาของราล์ฟก็ได้กลายเป็นสินค้าไอคอนิกของแบรนด์ไปแล้ว
ราล์ฟกับริกกี้มีลูกด้วยกัน 3 คนคือ แอนดรูว์ ลอเรน เป็นโปรดิวเซอร์หนัง, เดวิด ลอเรน ทำงานในตำแหน่ง Executive Vice President, Global Advertising, Marketing and Communications ของ Ralph Lauren และดีแลน ลอเรน ที่ได้เปิดอาณาจักรขนมกับร้าน Dylan’s Candy Bar ที่กลายเป็นสถานที่ต้องไปในมหานครนิวยอร์ก
บทบาทการเป็นพ่อของราล์ฟก็ถือว่าน่าชื่นชม เพราะศูนย์กลางชีวิตเขาก็คือครอบครัวเสมอ และเขาไม่เคยขาดหายจากช่วงชีวิตสำคัญของลูกๆ แต่ละคน ราล์ฟเป็นคนที่ไม่เลือกจะจมอยู่กับงานและอาศัยการให้ทรัพย์สินเป็นสิ่งตอบแทนจนลูกหลงระเริงและไม่รู้ค่านิยมที่ถูกต้อง เราจะเห็นประเด็นนี้ถูกสะท้อนผ่านแคมเปญโฆษณาหลายตัวของ Ralph Lauren ที่ราล์ฟจะเลือกใช้ภาพถ่ายส่วนตัวของครอบครัวมาเป็นรูปประกอบ ตรงนี้จึงกลายเป็นการจุดชนวนสร้างความฝันให้หลายคนที่อยากมีชีวิตแบบราล์ฟที่ดูดี มีสไตล์ และอยากสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ในวันหนึ่ง ซึ่งคอนเซปต์นี้หลายคนเรียกว่า ‘American Dream’ แต่เพราะแบรนด์ Ralph Lauren ได้ถูกขยายไปทั่วทุกมุมโลก เราเลยคิดว่า ‘Universal Dream’ อาจเหมาะกว่า
ความเจ็บปวดที่มาพร้อมความสำเร็จ
ความสำเร็จย่อมมาพร้อมอุปสรรคเสมอ ในปี 1987 เป็นจุดที่ตกต่ำสุดของราล์ฟก็ว่าได้ หลังจากตรวจพบว่าเขาเป็นเนื้องอกในสมอง และต้องเข้าการผ่าตัดทันที โชคดีที่ผลการผ่าตัดออกมาปลอดภัย แต่หลังจากนั้นเพื่อนของราล์ฟและบรรณาธิการแฟชั่นหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่ชื่อว่า นีน่า ไฮด์ ก็ดันเป็นมะเร็งเต้านม ราล์ฟเลยตัดสินใจระดมกำลังของคนในวงการแฟชั่นเพื่อหาเงินช่วยเหลือและก่อตั้งศูนย์ Nina Hyde Center ในวอชิงตัน ไม่เพียงแค่นั้น ในปี 2000 ราล์ฟได้เริ่มโปรเจกต์ Pink Pony Campaign โดยที่ 25% ของยอดขายสินค้าที่มีโลโก้ม้าสีชมพูจะนำไปช่วยเหลือกองทุนให้คนได้มีโอกาสไปตรวจและรักษามะเร็งเต้านม และเพื่อเป็นการต่อยอด โปรเจกต์นี้ยังมีงานเดินการกุศล Pink Pony Walk ที่จัดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย
ในปี 2003 ราล์ฟได้เปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง The Ralph Lauren Center for Cancer Care and Prevention ที่ย่านฮาร์เล็ม ในมหานครนิวยอร์ก ที่นับถึงวันนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยไปแล้วนับแสนคน และล่าสุดกับการเปิดศูนย์ The Ralph Lauren Centre for Breast Cancer Research ที่โรงพยาบาล The Royal Marsden ในลอนดอน ที่ราล์ฟได้แรงบันดาลใจจากเจ้าหญิงไดอานาที่เป็นเพื่อน และเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของโรงพยาบาลนี้ ซึ่งในวันเปิดศูนย์ก็ได้เจ้าชายวิลเลียมมาเป็นประธานเปิดงานให้
ทำไมต้องราล์ฟ?
ทุกวันนี้ราล์ฟ ลอเรน มีทรัพย์สินราว 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และได้สร้างอาณาจักรแบรนด์ Ralph Lauren ที่ครอบคลุมเสื้อผ้าไฮเอนด์ เสื้อผ้ากีฬา เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสุนัข ของแต่งบ้าน น้ำหอม ชุดชั้นใน และร้านอาหาร พร้อมพนักงานมากกว่าสองหมื่นคนทั่วโลก แต่สำหรับเรา ความสำเร็จที่มากกว่าชื่อเสียงหรือเงินทองของราล์ฟคือ ‘ตัวตน’ ที่สร้างตัวเองขึ้นมายังจุดสูงสุดของคำว่า ‘ความสำเร็จ’ แต่ก็ไม่เคยลืมที่จะใช้พลังของตัวเองในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
ราล์ฟคือตัวอย่างในการเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นสามี เป็นดีไซเนอร์ เป็นหัวหน้า เป็นแกนนำ และเป็นบุคคลที่สร้างมาตรฐานไม่รู้จบในทุกบทบาทที่เขาทำ ซึ่งถ้าคนหนึ่งจากวงการแฟชั่นทำได้ขนาดนี้ เราก็กล้าพูดว่าวงการแฟชั่นก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวงการอื่น
Photo: Courtesy of Ralph Lauren
อ้างอิง:
- หนังสือ Vogue On Ralph Lauren โดย Kathleen Baird-Murray
global.ralphlauren.com/en-us/About/Philanthropy/Pages/american_heroes.aspx - abcnews.go.com/Health/inside-ralph-lauren-center-cancer-cares-mission-underserved/story?id=43057913
- www.oprah.com/omagazine/oprah-interviews-ralph-lauren/
- en.m.wikipedia.org/wiki/Ralph_Lauren
- www.statista.com/statistics/268535/number-of-employees-of-polo-ralph-lauren/