ฉนวนกาซา (Gaza Strip) เป็นชื่อดินแดนที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ล่าสุดชื่อของฉนวนกาซาก็ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ อีกครั้ง หลังจากที่อิสราเอลใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสังหาร บาฮา อาบู เอล-อัตตา ผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่มติดอาวุธ ‘อิสลามิกญิฮาด’ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เหตุการณ์นี้ตามมาด้วยการโต้กลับของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิกญิฮาดที่ยิงจรวดเข้าไปในดินแดนอิสราเอลกว่า 150 ลูก ส่งผลให้ดินแดนกาซาตกเป็นเป้าโจมตีระลอกใหญ่ อิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งแล้ว แบ่งเป็นการโจมตีทางอากาศมากกว่า 20 ครั้ง และการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ 10 ครั้งตามจุดต่างๆ1
การยิงตอบโต้ระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายปาเลสไตน์ในดินแดนฉนวนกาซาเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนมิอาจสรุปได้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มก่อกวนอีกฝ่ายก่อน
แต่ในเหตุการณ์ครั้งล่าสุด มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์และมุสลิมควรหันมาใช้ช่องทางการทูต เพื่อแสดงให้ชาวโลกประจักษ์เห็นอิสราเอลในฐานะ ‘อาชญากรแห่งความอยุติธรรม’ แทนปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ทางการทหาร2
แนวทางที่มหาเธร์ได้เสนอแนะนับว่ามีความน่าสนใจยิ่ง เพราะเท่ากับว่ามหาเธร์ไม่เห็นด้วยกับการตอบโต้อิสราเอลด้วยการใช้ความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉยต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล วิธีที่เขาเสนอแนะคือการต่อสู้ตามแนวทางการทูต อันจะทำให้อิสราเอลสูญเสียภาพลักษณ์จนกลายเป็นฝ่ายที่ฝ่ายแพ้ทางการเมือง
บทความนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับฉนวนกาซาบนเส้นทางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยเฉพาะการฉายภาพให้เห็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองของอิสราเอล หลังจากที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีดินแดนฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ฉนวนกาซาภายใต้การปิดล้อม
ฉนวนกาซา เป็นชื่อเรียกอาณาบริเวณเล็กๆ ขนาด 360 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ ทางเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล และทางตะวันตกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เหตุที่เรียกว่า ‘ฉนวนกาซา’ ก็เพราะดินแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกใน ค.ศ. 1948 อันทำให้ดินแดนกาซาเป็นคล้ายๆ เขตกันชนระหว่างคู่อริทั้ง 2 ฝ่าย
แม้จะมีพื้นที่ที่เล็กมาก แต่กาซาก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ที่นี่มีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 75 เป็นผู้หญิงและเด็ก
ประชากรในกาซาถึง 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ผู้ลี้ภัยที่สหประชาชาติได้จัดเอาไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกใน ค.ศ. 1948
หลังสงครามครั้งนั้น ฉนวนกาซาได้ถูกครอบครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงคราม 6 วันใน ค.ศ. 1967 (ซึ่งอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้มากมาย) ทำให้ฉนวนกาซากลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง
ต่อมาอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันใน ค.ศ. 1993 ส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือการอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตนเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซาและดินแดนเวสต์แบงก์ ใน ค.ศ. 2005 อิสราเอลได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิว (ที่ผิดกฎหมาย) ออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด จากนั้นเมื่อขบวนการฮามาสของปาเลสไตน์ชนะการเลือกตั้ง ค.ศ. 2006 ฉนวนกาซาจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
หากเทียบกาซากับดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือ ‘เวสต์แบงก์’ (ซึ่งทั้งสองอาณาบริเวณนี้ถูกคาดหมายให้เป็นรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต) ต้องถือว่า กาซามีขนาดเล็กกว่ามาก อีกทั้งประชากรยังมีฐานะยากจนกว่า เพราะกาซามีทรัพยากรน้อยกว่า มีผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่า เป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เสียเป็นส่วนใหญ่
โดยปกติในสภาพอย่างนี้ชาวกาซาก็มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีมานี้นับตั้งแต่ ค.ศ. 2007 อิสราเอลได้ใช้มาตรการปิดล้อมกาซา จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ใน ‘คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’
ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีคนตายจำนวนมากในกาซา อันเกิดจากมาตรการปิดล้อมดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต หรือการตายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรคเพียงพอ
ที่แย่กว่านั้นคือ เด็กปาเลสไตน์กว่าครึ่งในฉนวนกาซาเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปิดล้อมกาซาของอิสราเอลตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การปิดล้อมดังกล่าวถือเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’ ตามที่ Judge Richard Goldstone ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะไต่สวนความจริงของสหประชาชาติได้ระบุเอาไว้ และถือว่าเป็นรูปแบบ ‘การลงโทษแบบเหมารวม’ (Collective Punishment) ตามความเห็นของทั้งหัวหน้ากิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ และสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 20083
กาซามิใช่ดินแดนเดียวที่ได้รับความเดือดร้อนในปาเลสไตน์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น ทั้งดินแดนกาซาและเวสต์แบงก์ถือเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (Occupied Territories) ดินแดนเวสต์แบงก์ขณะนี้อยู่ภายใต้การนำของ ‘คณะปกครองปาเลสไตน์’ (Palestinian Authority) ซึ่งแตกต่างกับกาซาที่ปกครองโดยกลุ่มขบวนการฮามาส แม้กระนั้นก็ตาม ดินแดนเวสต์แบงก์ก็ถูกยึดครองและมีการตั้งถิ่นฐานชาวยิวอย่างผิดกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 40 ของดินแดนในเวสต์แบงก์ทั้งหมด ดินแดนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ที่เหลือถูกปิดล้อมด้วยกำแพงคอนกรีตสูงลิบที่อิสราเอลเรียกว่า ‘กำแพงความมั่นคง’ แต่โดยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว กำแพงดังกล่าวนี้ถือเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’ และเป็นการ ‘ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ’4
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ ธนาคารโลกมีรายงานออกมาว่า อิสราเอลได้บริโภคน้ำที่ได้มาจากดินแดนปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากกว่าที่ชาวปาเลสไตน์ทั้งในกาซาและเวสต์แบงก์ใช้บริโภคถึง 4 เท่าตัว5
ความจริงตามมติของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ อิสราเอลจะต้องถอนตัวออกไปจากดินแดนเวสต์แบงก์และกาซา (รวมถึงดินแดนภายใต้การยึดครองอื่นๆ ของซีเรียและเลบานอน) ที่ตนเองยึดครองอย่างผิดกฎหมายมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว หรือตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันปี 1967 แต่จวบจนปัจจุบัน อิสราเอลก็ปฏิเสธการถอนตัว อีกทั้งยังไม่ยอมรื้อถอนนิคมชาวยิวและกำแพงคอนกรีตตามคำสั่งของกฎหมายระหว่างประเทศ ในทางกลับกัน นิคมชาวยิวแห่งใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์จำนวนมาก ศาสนสถานสำคัญของชาวปาเลสไตน์ถูกลอบวางแผนทำลายหรือไม่ก็ถูกอ้างว่าเป็นของชาวยิว
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ การโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ในกาซา (ค.ศ. 2008 และ ค.ศ. 2012 รวมถึงครั้งหลังสุด ค.ศ. 2014) มักพุ่งเป้าไปที่บ้านเรือนประชาชน โรงเรียน มัสยิด โรงงานส่งจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา คลินิกรักษาโรค สำนักงานเทศบาล ยานพาหนะที่เคลื่อนไหว บ้านคนพิการ หรือแม้แต่พื้นที่ทำเกษตรขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้ ชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลในครั้งต่างๆ กว่าร้อยละ 80 จึงเป็นพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ของพลเรือนก็เป็นผู้หญิงและเด็ก6
ฉนวนกาซากับสงครามที่ไม่สมดุล
กล่าวกันว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงและสงคราม สิ่งแรกที่จะถูกทำร้ายคือความจริง
ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาก็เช่นกัน จิลเลียน ซี ยอร์ก ผู้อำนวยการสาขาเสรีภาพจากองค์กร Electronic Frontier Foundation ในซานฟรานซิสโก เขียนบทความอธิบายถึงการที่รัฐบาลอิสราเอลใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ในการสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชน โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลก็เคยใช้วิธีการเดียวกันใน ‘ปฏิบัติการแคสต์ลีด‘ (Operation Cast Lead) โดยอาศัย Twitter และ YouTube7 อันทำให้ภาพความขัดแย้งและความรุนแรงในดินแดนกาซาถูกบิดเบือนไปจากความจริง
วิกฤตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา มักถูกฉายภาพออกมาในลักษณะการห้ำหั่นกันระหว่าง 2 รัฐ คือ ปาเลสไตน์กับอิสราเอล แต่ในความเป็นจริงนั้นมันเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ‘ฝ่ายที่เป็นผู้ยึดครอง ซึ่งกระทำต่อผู้ถูกยึดครองอย่างไร้ความปรานี’ เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายไม่มีอะไรที่เท่าเทียมกันเลย อิสราเอลเป็นฝ่ายที่รุกไล่ด้วยอำนาจทางการทหาร เอาเปรียบ และกดขี่ปาเลสไตน์มาโดยตลอด
เดิมทีดินแดนที่เรียกว่า ‘อิสราเอล’ ในวันนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด ตอนนั้นอาจมีชาวยิวอยู่บ้างที่เป็นชนส่วนน้อย มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบันอิสราเอลบุกเข้าไปยึดครองจนเหลือพื้นที่ให้ ‘เจ้าของบ้านเดิม’ ไม่ถึงร้อยละ 20 แถมชาวปาเลสไตน์ยังถูกรุกล้ำพื้นที่ที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งนิคมชาวยิวที่ผิดกฎหมายมากมาย หรือการสร้างกำแพงและรั้วลวดหนาม กักบริเวณชาวปาเลสไตน์ไม่ให้ได้ลืมตาอ้าปาก และไม่ให้มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้ง่ายๆ
นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลปกครองปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้ยื่นข้อเสนอต้องการทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร หากอิสราเอลจะถอนกองกำลังออกไปจากดินแดนทั้งหมดที่อิสราเอลเข้ามายึดครองตั้งแต่สงคราม 6 วันปี 1967 ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับมติ 242 ของสหประชาชาติ
แต่แทนที่อิสราเอลจะยอมเข้ามาเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมานาน โดยอาศัยช่องทางทางการเมืองและการทูตตามระบอบประชาธิปไตย กลับไปร่วมมือกับสหรัฐฯ กดดันฮามาสในทุกวิถีทาง ทั้งทางลับและเปิดเผย เพื่อทำลายคะแนนนิยมกลุ่มฮามาส ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมกาซา การส่งอาวุธให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับกลุ่มฮามาส จนเกิดสงครามกลางเมืองภายในเมื่อปี 2007 ตลอดรวมถึงการที่อิสราเอลใช้วิธีโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน ค.ศ. 2008-2009, ค.ศ. 2012, ค.ศ. 2014 และครั้งล่าสุดก็กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ ที่สำคัญคือเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากเป็นเด็กและผู้หญิง
ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของอิสราเอล
ผลพวงจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในกาซาสามารถมองได้หลายด้านด้วยกัน8 ในด้านหนึ่ง การที่อิสราเอลสังหารพลเรือนดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็เท่ากับเป็นระเบิดเวลาที่จะย้อนมาทำลายรัฐบาลอิสราเอลเอง เพราะทำให้โลกเห็นความโหดร้ายของอิสราเอล อันจะส่งผลให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์มีความชอบธรรมมากขึ้นในการจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล และความโกรธแค้นที่อิสราเอลเติมเชื้อเพลิงเข้าไปจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ต่อต้านอิสราเอลมากขึ้น
อิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหาร ‘มากที่สุดในตะวันออกกลาง’ และเป็นอันดับ 4 ของโลก ต้องเผชิญกับการต้านทานจากกองกำลังทหารบ้านทหารประชาชนจำนวนหยิบมือเดียว แสดงให้เห็นว่ามีพลังอำนาจบางอย่างเหนือกว่าแสนยานุภาพทางการทหาร ไม่ว่าอิสราเอลจะครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงอานุภาพแค่ไหน แต่ผลงานที่ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของอิสราเอล ความพ่ายแพ้ต่อพลังประชาชน ได้กลายเป็นบ่อนทำลายความรู้สึกและจิตวิญญาณของกองทัพอิสราเอลลงไปได้อย่างเหลือเชื่อ
นอกจากนั้น อิสราเอลยังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะหลังจากมีปฏิบัติการถล่มกาซา ทูตอิสราเอลหลายคนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ถูกขับออกจากประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับอิสราเอล อันถือว่าเป็นการเสียหน้าทางการเมือง ขณะเดียวกัน ปาเลสไตน์กลับได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาคมโลก ดังจะเห็นได้จากการที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติโหวตเสียงเป็นเอกฉันท์ให้รับรองสถานะรัฐสังเกตการณ์ปาเลสไตน์เมื่อ ค.ศ. 2012 หลายประเทศในยุโรปตะวันตกทยอยออกมาให้การยอมรับรัฐปาเลสไตน์มากขึ้น
จากการที่อิสราเอลปฏิบัติการสังหารพลเรือน รวมทั้งเด็กและสตรีอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้นานาชาติรุมประณามการกระทำที่ละเมิดกฎหมายว่าเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ นี่เป็นประเด็นที่แม้แต่สหรัฐฯ ยังต้องเปลี่ยนท่าที ซึ่งทุกครั้งในเวทีสหประชาชาติต้องโหวตให้อิสราเอลหรือไม่ก็ใช้สิทธิวีโต้ยับยั้งการประณามอิสราเอล แต่ในสงครามครั้งหลังสุดเมื่อ ค.ศ. 2014 สหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีด้วยการงดออกเสียง และถูกกดดันโดยชาติสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคง ให้สหรัฐฯ ยับยั้งการโจมตีของอิสราเอลโดยทันที
นอกจากนั้น ภายหลังจากสงครามยุติลง ก็เริ่มมีกลุ่มที่ต้องการตามเล่นงานอิสราเอลในทางกฎหมายด้วยข้อกล่าวหาว่าอิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และกระทำการอันเป็นอาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติ พวกเขาต้องการฟ้องต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ และนี่คือประเด็นที่จะก่อให้เกิดกระแสคลื่นการประณามอิสราเอลในเวทีนานาชาติ
ในทางกลับกัน หลังสงครามยุติลง ฮามาสกลับกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ ก็สามารถเอาชนะผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่า และมีอำนาจมากที่สุดในภูมิภาคได้ ฉะนั้น อาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจใดๆ เลย หากในอนาคตเราจะเห็นอิสราเอลต้องได้รับความยากลำบาก และดิ้นรนเอาตัวรอดจากสงครามต่อต้านที่มาจากกลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้
หลังสงครามถล่มกาซาสิ้นสุดลง โลกจดจำชื่อของฮามาสในสถานภาพที่ฮามาสเป็นหมากตัวสำคัญทางยุทธศาสตร์ (ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง) และเมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการทางการเมือง และสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สหรัฐฯ อิสราเอล และ PLO ไม่อาจกีดกันฮามาสให้อยู่นอกวงเจรจาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตได้อีกต่อไป
ส่วนบรรดาผู้นำประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางที่สนิทสนมใกล้ชิดกับอิสราเอลนั้น ก็เกิดอาการหวั่นไหวเมื่อพบว่าฐานทางการเมืองของพวกเขา (ประชาชน) เริ่มสงสัยและไม่ไว้ใจพวกเขา ประชาชนของประเทศตะวันออกกลางที่ไม่เคยออกมาชุมนุมต่อต้านอิสราเอลก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านในความรุนแรงและสงครามกาซาครั้งที่ผ่านมา
วันนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าอิสราเอล แม้จะเป็นฝ่ายที่สามารถทำลายกลุ่มชนปาเลสไตน์ได้มากอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในเวทีการเมือง อิสราเอลกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่มหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงออกมาเสนอในวิกฤตกาซาครั้งล่าสุดว่า ชาวปาเลสไตน์และผู้สนับสนุนควรหันมาใช้ช่องทางการทูต เพื่อแสดงให้ชาวโลกประจักษ์เห็นอิสราเอลในฐานะ ‘อาชญากรแห่งความอยุติธรรม’
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- “Israel carried out 30 attacks in Gaza Strip, says army”. Middle East Monitor. November 12, 2019. สืบค้นจาก www.middleeastmonitor.com/20191112-israel-carried-out-30-attacks-in-gaza-strip-says-army/?fbclid=IwAR3sWXJvHtiN19gc-QPYxMBeFqm4Bmo9KoEmdwl1j1heMPX28Lt7ILimls0
- “Malaysia PM: Diplomacy is the best way to mobilise support for Palestine”. Middle East Monitor. November 13, 2019. สืบค้นจาก www.middleeastmonitor.com/20191113-malaysia-pm-diplomacy-is-the-best-way-to-mobilise-support-for-palestine/?fbclid=IwAR0OFA2frCEu3wdy5n4vw1tpqgb6Vr9C_VrDot5EEFYRM_qxFQv3k00quPo
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Report of the United Nations Fact-Finding Mission on the Gaza Conflict, United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights, 25 September 2009.
- “Red Cross: Gaza blockade illegal”. Aljazeera online. 14 June 2010. สืบค้นจาก www.aljazeera.com/news/middleeast/2010/06/201061452646659588.html
- World Bank (2013). West Bank and Gaza – Area C and the future of the Palestinian economy. World Bank, Washington DC.
- “Crisis in Gaza”. International Coalition for the Responsibility to Protect. สืบค้นจาก www.responsibilitytoprotect.org/index.php/crises/crisis-in-gaza
- อ้างไว้ใน “แนวรบข้อมูลโซเชียลมีเดียในฉนวนกาซ่า”. ประชาไท. สืบค้นจาก prachatai.com/journal/2012/11/43815
- ดูผลพวงของสงครามครั้งนี้ได้จากบทวิเคราะห์ของ Sami al-Habib, (Sami al-Habib “23 proofs of Israel’s defeat in the 23-day war”, Jan 22, 2009 Retrieved www.presstv.ir/detail.aspx?id=83141§ionid=3510303)